นายกฯ ถาม ผู้ช่วย รมว.กต.สหรัฐฯ หากไม่ใช้อัยการศึก ควรทำอย่างไรให้ประเทศสงบ สุดท้ายก็ไร้คำตอบ ยันส่วนใหญ่พอใจไม่มีใครมาบีบคั้น สั่งเร่งคลี่คลายคดีคนร้ายยิงมารดาอ้อนวอนชีวิตลูกชายที่นครชัยศรี
วันที่ 27 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณี นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เข้าพบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ วานนี้ ว่า พล.อ.ธนะศักดิ์ ได้เล่ารายละเอียดให้ฟังทั้งหมดแล้ว และฝ่ายรัฐบาลได้ชี้แจงสถานการณ์ให้รับทราบทั้งหมดว่าอะไรเป็นอะไร รวมทั้งได้ถามกลับไปว่า ถ้าจำเป็นต้องลดการใช้กฎอัยการศึกแล้วเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ในพื้นที่ต่างๆ หรือในประเทศสหรัฐฯ แล้วจะทำอย่างไร ซึ่งนายแดเนียลก็ตอบไม่ได้ โดยบอกว่าเดี๋ยวไปหาคำตอบมาก่อน ถือว่าก็ยังติดคำตอบไว้ว่า จะมีวิธีการอะไรหรือไม่ หากเกิดกรณีเช่นนี้ หรือหากเราไม่มีกฎอัยการศึก ทุกอย่างจะเกิดความวุ่นวาย หรือไม่ และเราใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อประโยชน์อะไรบ้าง
ทั้งนี้ ตนก็ไม่ได้ใช้กฎอัยการศึกไปรบกวนใครไม่ใช่หรือ ทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ทุกคนก็ทราบดีว่าถ้าไม่มีกฎหมายดังกล่าว ทุกคนก็จะออกมาพูดเสนอความคิดเห็นจนเกิดความวุ่นวายไปหมด แล้วจะทำงานอะไรได้ ก็ขอเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น ยังให้ตนไม่ได้ เพราะถือว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่เหมือนกับที่อื่น และไม่มีที่ไหนที่ปฏิวัติมาแล้วทำแบบตน ส่วนใหญ่เมื่อปฏิวัติมาแล้วก็ดำเนินการอย่างเต็มที่ ไม่มีมานั่งแถลงชี้แจงเหตุผลจะใช้อำนาจกันเต็มที่ ก็ต้องย้อนกลับมาดูว่า วันนี้ประเทศไทยมีอำนาจเสรีแค่ไหน บางอย่างก็ต้องอยู่ในกรอบบ้าง บางอย่างต้องให้เกียรติกัน ซึ่งตนรับได้ทั้งหมด ซึ่งก็ไม่มีความกังวลอะไร
...
"ผมอยากเรียนว่า นอกจากที่นายแดเนียลมาพบกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ แล้ว ยังมีอีก 21 ประเทศ ที่เป็นเอกอัครราชทูตถาวรประจำสหประชาชาติได้มาพบ ซึ่งตนถือโอกาสชี้แจงเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เกี่ยวกับโรดแม็ปต่างๆ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ ปัญหาซึ่งผมก็ได้เรียนตรงๆ ว่า ไม่สามารถเล่าในรายละเอียดได้ว่าบ้านเรามีปัญหาอะไรบ้าง เพราะผมอายตัวเอง ไม่อยากพูดสิ่งที่ไม่ดีของประเทศไทยมากนัก ขอให้เป็นเรื่องของเรา ซึ่งเขาก็เข้าใจ แต่ผมก็บอกว่า ผมรับผิดชอบจากการที่เข้ามาทำงานในจุดนี้ โดยได้เล่าให้ฟังทั้งหมดว่าจะทำอะไรบ้าง ซึ่งก็มีการตอบสรุปกลับมาว่า พอใจในคำชี้แจงของผม และคิดว่าสิ่งที่ผมทำเป็นแบบอย่างและตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการทำหน้าที่ เพื่อประชาชนและประชาคมโลก
นอกจากนี้ ยังได้มีการเชิญผมไปพูดและชี้แจงสิ่งต่างๆ เหมือนกับที่ได้ชี้แจงต่อเอกอัครราชทูตทั้ง 21 ประเทศ ให้กับเวทีประชุมใหญ่ของสหประชาชาติในเดือนกันยายน ที่จะถึงนี้ ซึ่งผมก็พร้อมที่จะเดินทางไป ถ้าผมอยู่ ผมก็ไปอยู่แล้ว และผมได้อธิบายว่า การที่ประเทศไทยจะเข้มแข็งได้ในวันข้างหน้าจะต้องเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ คือ มีการเลือกตั้งและผู้ที่จะเข้ามาจะต้องมีคุณภาพ มีจริยธรรม คุณธรรม และธรรมาภิบาล ซึ่งก็ต้องดูทั้งเสียงส่วนใหญ่และเสียงส่วนน้อย ทำอย่างไรจะยกระดับประเทศให้เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้า" นายกรัฐมนตรี กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในฐานะนายกรัฐมนตรีไม่ได้มองแค่ประเทศไทย แต่เราต้องมองถึงประชาคมโลก และไม่ได้มองแค่การค้า การลงทุน และเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ต้องมองถึงประชาคมโลก และความเป็นมนุษยชาติว่าจะอยู่อย่างไรไม่ให้มีความขัดแย้ง ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ว่าไม่มีเรื่องแล้วจะต้องไปตรวจค้นหาความผิด ไปตรวจดูบัญชี หรือดักฟังโทรศัพท์ ถือเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ถ้ามีการทุจริต โกง หรือทำผิดกฎหมาย ก็ต้องมีการดำเนินการไปตามขั้นตอน เหมือนความผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) ถ้าไม่ไปทำหรือไปก้าวล่วงสถาบัน ก็ไม่มีใครไปตรวจสอบ แต่ที่มีการไปตรวจเช็ก เพราะมีผลว่ามีการกระทำผิดจริง และหากเราไม่มีอะไรควบคุมเลย ปล่อยให้เสรีก็จะเกิดปัญหา ในความเป็นจริงเราก็ปล่อยให้มีการดำเนินการอย่างเสรี ใครจะซื้อโทรศัพท์หมายเลขอะไร คุยกับใครก็ได้ แต่ถ้าเมื่อไรที่มีปัญหาความมั่นคง มีการกกระทำทุจริต โกง ละเมิด หรือทำผิดอาญา เจ้าหน้าที่รัฐก็มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ เพราะอย่าลืมว่า ที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้การทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ จะต้องมีการปรับปรุงหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มีการปรับกันมาทั้งหมดแล้ว ทำงานเชิงรุกมาตั้งแต่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ธนะศักดิ์ เข้าไปดำรงตำแหน่ง มีการปรับปรุงการทำงานทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่ว่าที่ทำมามันไม่ดี เพียงแต่เป็นงานของพลเรือน ซึ่งด้านความมั่นคงอาจจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องเท่าที่ควร จึงปรับให้มีการเดินทั้งเรื่องการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการเชื่อมต่อด้านต่างๆ กระทรวงการต่างประเทศได้รับไปทั้งหมด รวมถึงงานด้านความมั่นคงก็ต้องไปพูดคุยกับประเทศต่างๆ ให้เกิดความเข้าใจในการดำเนินคดีอาญา หรือคดีตามมาตรา 112 และคดีถอดถอน กระทรวงการต่างประเทศทำทั้งหมด อย่าไปมองว่า เขาไม่ทำงานเชิงรุก และได้มีการเช็กปฏิกิริยาและเสียงสะท้อนกลับจากประเทศต่างๆ ตลอดมีการสรุปผลทุกวัน ซึ่งส่วนใหญ่ต่างประเทศก็เข้าใจสถานการณ์ของประเทศไทยมากขึ้น ยังมีเพียงอีกไม่กี่ประเทศที่ยังติดคำว่าประชาธิปไตยเท่านั้น ซึ่งมีไม่กี่ประเทศ แต่ทั้งหมดก็ยังมีการค้าขายกับไทยอยู่ตามปกติ เรื่องของประชาธิปไตยก็ต้องแยกออก เรื่องของการค้าขายก็ทำไป ยืนยันว่าทุกประเทศเข้าใจดี แต่ไม่สามารถพูดคำอื่นได้ และต้องแสดงบทบาทของตัวเองออกมา เพราะเขาเป็นประเทศมหาอำนาจ
เมื่อถามว่า แสดงว่าสถานการณ์ที่ต่างประเทศเคยบีบคั้นประเทศไทยลดลงแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เขาบีบเราตรงไหน ไม่มีใครเคยมาบีบผม หรือมายุ่งอะไรกับผมเลย ทั้งสมาคมพ่อค้า ประชาชน ส่วนใหญ่ที่มาคุยก็ขอให้เราดูแลและพอใจมาตรการที่ออกมาในปัจจุบัน ซึ่งบางอย่างก็ดีกว่าในภาวะปกติด้วย เพียงแต่เขาพูดไม่ได้ว่า เห็นชอบกับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจแบบนี้
ส่วนการที่นายแดเนียลได้พบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พบกันก็อย่าไปสนใจ เป็นเรื่องของเขา สื่อจะไปสนใจอะไรนักหนา ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ถ้าหากไม่มีการกระทำความผิดจะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นหรือไม่ อย่าลืมว่า การฟ้องร้องเกิดขึ้นก่อนที่ตนจะเข้ามายึดอำนาจ แล้วจะให้ยกเลิกคดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นก่อนการยึดอำนาจทั้งหมด เอาไหมล่ะ ก็ทำไม่ได้ ดังนั้น เรื่องที่เข้าสู่กระบวนการของกฎหมายก็ต้องทำไปตามขั้นตอน ส่วนอะไรจะเกิดก่อน หรือหลัง ก็อยู่ที่ว่าความเสียหายมีมากหรือน้อย เรื่องไหนที่มีผลกระทบต่อสังคมหรือประเทศ หรืองบประมาณ ก็ต้องสอบสวนก่อน ถือเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งตนเป็นคนสั่งเองว่า คดีไหนที่เป็นคดีอาชญากรรมที่มีความร้ายแรงต้องดำเนินการให้ได้โดยเร็ว เช่น คดีคนร้ายยิงมารดาอ้อนวอนชีวิตลูกชาย ที่ สภ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เมื่อเช้าวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ไม่รู้ว่าคนร้ายทำได้อย่างไร เรื่องนี้ตำรวจต้องจับและเร่งรัดทำคดีให้ได้โดยเร็วที่สุด หากต่อสู้ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย