รัฐบาลเดินหน้า ก.ม.ไซเบอร์ เปิดประชาชนท้วงได้ชั้น สนช. เลขาฯกฤษฎีกาขอประชาชนมั่นใจไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพแน่ หลังหลายฝ่ายกังวล ด้าน“ไก่อู”เผยนายกฯ ห่วงย้ำเขียนให้รอบคอบ เล็งชง ก.ม.ชุมนุมฯ เข้า ครม. 

วันที่ 26 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพรชัย รุจิประภา รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวรัฐบาลยุติเดินหน้าออกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นการละเมิดสิทธิประชาชนว่า ไม่จริง รัฐบาลยังคงเดินหน้ากฎหมายดังกล่าว เพราะมีความจำเป็น ทุกประเทศห่วงภัยทางไซเบอร์กันหมดและมีกฎหมายนี้หมดแล้วจริงๆ เนื้อหาสาระไม่ได้ก้าวล่วงสิทธิส่วนบุคคล

นายพรชัย กล่าวต่อว่า อย่างมาตรา 35(3) ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารทุกช่องทางจริง แต่จะระบุไว้ด้วยว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ทำอะไรได้บ้าง ขั้นตอนเข้าตรวจสอบทำอย่างไร และมาตรา 36 กำหนดบทลงโทษพนักงานเจ้าหน้าที่เอาข้อมูลที่ได้มาไปเปิดเผย ติดคุก 3 ปีและมีโทษปรับ ทุกอย่างยังแก้ไขได้ในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา และ สนช.

ด้านนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ข้อกังวลที่ว่าอาจจะละเมิดสิทธิประชาชนได้นั้นกฎหมายดิจิตอล 8 ฉบับ มี 3 ฉบับที่ประชาชนห่วงคือ ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ทั้งหมดอยู่ในชั้นการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ขอยืนยันกับประชาชนว่าจะดูแลอย่างเต็มที่ จะตรวจพิจารณาโดยคำนึงถึงข้อทักท้วง หากอะไรเป็นการใช้อำนาจที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะหามาตรการต่างๆ มากำกับดูแลให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก

...

"ดังนั้นไม่ต้องเป็นห่วง ในชั้นนี้ยังสามารถปรับแก้เนื้อหาได้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะรับฟังความเห็นต่างๆ อย่างรอบด้าน รวมถึงข้อคิดเห็นจากวงเสวนาที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพทอ.) หรือ ETDA จัดขึ้นทุกสัปดาห์ ขอให้มั่นใจได้ ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาการตรวจพิจารณาสักระยะหนึ่งเพราะต้องดูให้ละเอียด และเพื่อให้มีกลไกป้องกันที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน" นายดิสทัต กล่าว

ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้นายกฯ ห่วงใยได้ให้แนวทางว่าต้องทำให้ประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นว่า โลกปัจจุบันมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี หลายประเทศมีกฎหมายนี้แล้ว เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจการค้า แต่เมื่อกฎหมายดังกล่าวมีคุณอนันต์ นายกฯ ย้ำว่าต้องรอบคอบเพื่อไม่ให้มีโทษมหันต์ หลัง ครม.เห็นชอบหลักการส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทำให้สมบูรณ์และรอบคอบ ทำให้ประชาชนเห็นใจว่าไม่ได้เป็นการให้เจ้าหน้าที่รัฐไปทำได้ทุกอย่าง ทำเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงเท่านั้น จะทำโดยพลการไม่ได้ มีกฎหมายลงโทษ และขั้นตอนยังไม่จบ หากมีข้อทักท้วงประชาชนสามารถเสนอความคิดเห็นเข้าไปได้ในชั้น สนช.

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่านายดิสทัต เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะเสร็จสิ้น และส่งกลับไปยังหน่วยงานเจ้าของเรื่องแล้ว คาดว่าน่าจะมีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 27 ม.ค.นี้ได้ เพื่อส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป.