สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ที่รัก ไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้ขอให้ชื่อตอนว่า เก็บตกวันครู ค่ะ สาเหตุที่ขอใช้ชื่อเรื่องแบบนี้ก็เพราะว่าเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมาในวันศุกร์ที่ 16 มกราคม 2558 วันนั้นถือว่าเป็นวันสำคัญอย่างยิ่งของวงการการศึกษาของไทย เพราะเรารู้ดีว่านั่นคือ วันครู ครูลิลลี่เองก็ปลาบปลื้มใจเสียเหลือเกินที่ในวันนั้นมีลูกศิษย์ลูกหามากมายส่งข้อความเข้ามาอวยพรเนื่องในวันครู ขอให้สุขภาพแข็งแรงบ้าง ขอขอบพระคุณที่มอบความรู้ดีๆให้บ้าง บางคนเขียนข้อความมาในอินสตาแกรม แต่ที่เด็ดสุดเห็นจะเป็นนักเรียนบางคนที่ลงทุนมากราบอวยพรพร้อมมอบพวงมาลัยให้ถึงที่โรงเรียนเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นวันนี้แม้จะล่วงเลยวันครูมานานถึง 2 สัปดาห์แล้ว แต่คุณครูลิลลี่คิดว่าคงยังไม่สายเกินไปที่จะเอาเรื่องราวของคำว่า ครู มาหยิบยกเป็นความรู้ให้ได้อ่านกันในไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้

คำว่าครูนั้น ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายคำว่า ครู หมายถึง ผู้สั่งสอนศิษย์, ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ส่วนอีกคำที่หลาย ๆ คนสงสัยว่าต่างกันอย่างไรกับคำว่าครูก็คือคำว่า อาจารย์ หมายถึง ผู้สั่งสอนวิชาความรู้ คำที่ใช้เรียกนำหน้าชื่อบุคคลเพื่อแสดงความยกย่องว่ามีความรู้ในทางใดทางหนึ่ง ถ้ายังไม่ชัดเจนลองดูข้อมูลนี้อีกทาง

ในหนังสือจริยศาสตร์และจริยธรรมเพื่อพัฒนาชีวิตและสังคม ของศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ได้ให้ความหมายที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของคำว่า ครู กับอาจารย์ ไว้โดยสรุปว่า คำว่า ครู ตามศัพท์แปลว่า ผู้หนัก หมายถึง ผู้ที่ต้องมีภาระหนักในการที่จะอบรมสั่งสอนศิษย์และในการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ ส่วนคำว่า อาจารย์ แปลว่า ผู้ที่ศิษย์จะต้องประพฤติตอบด้วยความเอื้อเฟื้อ คือความเคารพนบนอบ ในทางพระพุทธศาสนาถือกันว่า ครูเป็นทิศเบื้องขวา เพราะเป็นบุคคลที่สำคัญยิ่งในอันที่จะสร้างบุคคลในสังคมให้เป็นผู้มีความรู้ มีคุณธรรม อันจะเป็นกำลังทางสังคมของประเทศชาติต่อไป ดังนั้นเมื่ออ่านข้อมูลดังนี้จะเห็นว่า คำว่า “ครู” จึงมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่าคำว่า “อาจารย์” มาก เพราะแสดงถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นที่ครูมีต่อ “ศิษย์” ด้วยครูจะต้องเอาใจใส่ในการให้ความรู้และอบรมสั่งสอนศิษย์ทั้งในห้องเรียน ในโรงเรียน และแม้แต่ศิษย์ซึ่งได้ร่ำเรียนจบไปแล้ว ครูก็ยังมีความผูกพันทางด้านจิตใจกับศิษย์ ยังมีความเป็นห่วงความกังวลในอนาคตของศิษย์ เป็นผู้ที่คอยปลุกปลอบและให้กำลังใจแก่ศิษย์เสมอ

...

พูดถึงคำว่า ครู อีกหนึ่งสำนวนที่ได้ยินบ่อย ๆ ก็คือ ครูบาอาจารย์ หลายคนสงสัย บา มาจากไหนแล้วมีความหมายอย่างไร คุณครูลิลลี่มีอีกหนึ่งข้อมูลมาฝากค่ะว่ากันว่าครูใช้เรียกผู้สอนในสถานศึกษาตั้งแต่ระดับแรกเริ่มถึงระดับก่อนอนุปริญญา (เด็กเล็ก-ประถม-มัธยม) และใช้เรียกผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านในสมัยโบราณหรือยุคเก่า ๆ  เช่น ครูเพลง, ครูมวย, ครูดาบ ส่วนคำว่า บา นิยมใช้คู่กับคำว่า ครู เป็น ครูบา คำว่า บา เป็นคำถิ่นเหนือ ใช้เรียกพระภิกษุผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีคุณงามความดี ได้สร้างความเจริญหรือ ประโยชน์ให้ชุมชนบ้านเมือง เช่น ครูบาศรีวิชัยของเชียงใหม่ ครูบาคำหล้าของเชียงราย ครูบาคำอ้ายของจังหวัดพะเยา ทีนี้ก็มาถึงคำว่า อาจารย์ คำนี้ใช้เรียกผู้สอนในสถานศึกษาตั้งแต่ระดับอนุปริญญาขึ้นไป เช่น ในวิทยาลัย, มหาวิทยาลัย  นอกจากนี้คำว่า อาจารย์ ยังใช้ในความหมายที่ขยายวงกว้างออกไป สำหรับเรียกผู้สอน หรือ ผู้มีความรู้เฉพาะทางสมัยปัจจุบัน เช่น อาจารย์สอนตัดเสื้อผ้า อาจารย์สอนทำอาหาร, อาจารย์สอนแต่งหน้าทำผม เป็นต้น

และทั้งหมดคือความเหมือน ความต่าง และความหมายของคำว่า ครู อาจารย์ หรือครูบาอาจารย์ที่คุณครูลิลลี่รวบรวมมาให้ไว้เป็นความรู้ จำได้บ้าง ไม่ได้บ้างไม่เป็นไร แค่จำไว้ในใจก็พอว่า “ศิษย์มีครู อย่าลืมนึกถึงคุณครู และคุณของครูนะคะ”

instagram : krulilly , facebook : ครูลิลลี่

คุณครูลิลลี่