แอร์บัสวางแผนปลดระวาง เครื่องบินขนส่งรูปทรงวาฬหัวโหนก 'เบลลูก้า' ม้างานสำคัญที่ใช้ขนชิ้นส่วนเครื่องบินป้อนโรงงานที่มีอายุมากออก และจะสร้าง 'เบลลูก้า 2' ลำใหม่แบบ เอ330-200 ที่ใหญ่กว่าเดิมมาแทน คาดจะเสร็จในปี 2020…
ถ้าใครได้เดินทางไปชมโรงงานผลิตเครื่องบินของบริษัทแอร์บัส อินดัสทรี ที่เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส จะได้พบเจอกับเครื่องบินรูปร่างประหลาดคล้ายวาฬหัวโหนกสีขาว หรือ เบลลูก้า ที่มีลำตัวสีขาวใหญ่ ลำตัวอ้วน หัวเครื่องบินคล้อยลงต่ำ บินขึ้นลงตลอดทั้งวัน ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะเครื่องบินลำนี้มันชื่อ 'เบลลูก้า' จริงๆ
...
แอร์บัส เบลลูก้า (Airbus Beluga) เป็นเครื่องบินขนส่งที่ดัดแปลงจากโครงสร้างพื้นฐานของเครื่องบินโดยสารแอร์บัส เอ300-600 รุ่นแจ้งเกิดสร้างชื่อให้กับแอร์บัสเมื่อทศวรรษที่ 90 โดยแอร์บัสนำเอาเบลลูก้าเข้ามาทดแทนเครื่องบินขนส่งสินค้าลำตัวกว้างแบบซุปเปอร์กัปปี้ ที่เป็นเครื่องใบพัด 4 เครื่องยนต์รุ่นโบราณที่ผลิตโดยโบอิ้ง ที่เก่า บินช้า และเปลืองเชื้อเพลิงมาก มาใช้ขนส่งชิ้นส่วนเครื่องบินจากโรงงานแอร์บัสในประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป เพื่อลำเลียงมาประกอบที่โรงงานหลักในเมืองตูลูส สำหรับเบลลูก้า เป็นการขยายห้องโดยสารให้กว้างและสูงกว่าเดิมเพื่อบรรทุกชิ้นส่วนลำตัวของเครื่องบิน หรือแพนหาง เครื่องบินได้ เรียกว่า Super Transporter เป็นรุ่น A300-600ST ถูกสร้างมาทั้งหมด 5 ลำ และยังคงใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ยังเป็นความภูมิใจของแอร์บัสที่ใช้เครื่องบินของตัวเองบินขนส่งชิ้นส่วนด้วย
รูปทรงของเบลลูก้าส่วนหัวจะอยู่ต่ำกว่าช่วงลำตัว โดยลำตัวด้านบนจะมีประตูระวางบรรทุกอยู่ด้านหน้า เพื่อใช้เป็นช่องทางลำเลียงชิ้นส่วนต่างๆ โดยใช้งานร่วมกับรถโหลดเดอร์พร้อมเครนพิเศษ เบลลูก้าสามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ถึง 47 ตัน หรือบรรทุกชิ้นส่วนปีกของแอร์บัส เอ340 หรือ ลำตัว (ไม่รวมส่วนหัว) ของ เอ350 เข้าไปได้สบายๆ แต่สำหรับ เอ380 เบลลูก้าไม่สามารถขนชิ้นส่วนไปได้ เพราะขนาดใหญ่มาก แอร์บัสจึงใช้วิธีขนส่งทางเรือ และรถยนต์แทนการใช้เบลลูก้า
...
นอกจากนี้ ที่สนามบินใกล้โรงงานแอร์บัสที่เมืองตูลูส จะมีจุดสำหรับเหล่าคนถ่ายภาพเครื่องบิน หรือ plane-spotters ได้ยืนถ่ายรูปเครื่องบินขึ้น-ลง อยู่ที่บริเวณหัวสนามบิน และเบลลูก้าก็เป็นหนึ่งในเครื่องบินที่เหล่า plane-spotters ชื่นชอบด้วยรูปร่าง และความพิเศษของมัน
ชมคลิป
...
เมื่อสายการบินทั่วโลกเริ่มปลดระวาง เครื่องบินโดยสารแอร์บัส เอ300-600 เท่ากับว่าเวลาของเบลลูก้ารุ่นแรก เริ่มเหลือน้อยลง อายุการใช้งานที่มากขึ้นบวกกับการใช้งานที่หนักตลอดปี และคาดว่าจะยิ่งมากขึ้นในปี 2017 เมื่อยอดการสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัสมีมากมายจนทั้งฝูงบินต้องบินถึง 66,000 เที่ยวตลอด 20 ปี ทำให้แอร์บัสเร่ิมมองหา เบลลูก้าลำใหม่ หรือ เบลลูก้ารุ่นที่ 2 ที่จะมาทดแทนลำเดิม โดยมีการพิจารณา แอร์บัส เอ330-200 ที่เป็นรุ่นยอดนิยมสำหรับเครื่องบินขนส่งสินค้า โดยเบลลูก้ารุ่นใหม่จะเริ่มใช้งานในปี 2019 และจะทดแทนเบลลูก้าเก่าครบหมด 5 ลำในปี 2025
ทั้งนี้ มีปัจจัยสำคัญในการเลือกเครื่องบินที่จะมาเป็นเครื่องขนส่ง รุ่นต่อไป คือ จะต้องสามารถบินขึ้นจากรันเวย์ 04 ของสนามบินฮาวาร์เดนท์ ในเวลส์ ที่มีระยะทางเพียง 1,663 เมตรได้ เพราะแอร์บัสต้องลำเลียงชิ้นส่วนจากเวลส์มายังฝรั่งเศส
ข้อมูลจำเพาะ แอร์บัส เบลลูก้า (Airbus Beluga)
...
พัฒนาจากแบบโครงสร้างของ เครื่องบินโดยสารลำตัวกว้างแบบ แอร์บัส เอ300-600
• ลูกเรือ : 2 คน
• ความจุ : 1,410 ลูกบาศก์เมตร (50,000 คิวบิกฟุต)
• ระวางบรรทุก : 47 ตัน (103,616 ปอนด์)
• ลำตัวยาว : 56.15 เมตร (184 ฟุต 3 นิ้ว)
• ปีกยาว : 44.84 เมตร (147 ฟุต 1 นิ้ว)
• สูง : 17.24 เมตร (56 ฟุต 7 นิ้ว)
• พื้นที่ปีก: 258.80 ตารางเมตร (2,786 ตารางฟุต)
• น้ำหนักเครื่องเปล่า : 86 ตัน (189,595 ปอนด์)
• น้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุด : 155 ตัน (341,713 ปอนด์)
• เครื่องยนต์ : เทอร์โบแฟน เจเนอรัล อิเล็กทริก CF6-80C2A8 จำนวน 2 เครื่อง ให้แรงขับต่อเครื่อง 232 - 276 กิโลนิวตัน (52,200-61,960 ปอนด์)
สมรรถนะ
• ความเร็วสูงสุด : 0.82 มัค
• พิสัยการบิน : 2,779 กิโลเมตร (1,501 นอติคอลไมล์) พร้อมน้ำหนักบรรทุก 40 ตัน และ 4,632 กิโลเมตร (2,501 นอติคอลไมล์) เมื่อบรรทุกหนัก 26 ตัน.
ภาพจาก ทวิตเตอร์ @Airbus
ที่มา: สำนักข่าว CNN