หนึ่งในข่าวดีรับปีใหม่ 2558 ของมนุษย์เงินเดือนบวกสถานะผู้ประกันตน สปส.หรือสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เตรียมนำหลายมาตรการเชิงรุกมาเพิ่มความพึงพอใจให้แก่ผู้ประกันตนในระบบกว่า 13.6 ล้านคน
ปราณิน มุตตาหารัช เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) แย้มข่าวดีด้วยสีหน้าแช่มชื่น
เธอออกตัวว่า ถึงแม้ประกันสังคมไม่ใช่ระบบรัฐสวัสดิการเหมือนระบบประกันสุขภาพอย่างอื่น เป็นแค่กองทุนไตรภาคี ภายใต้ความร่วมแรงแข็งขันของ 3 ฝ่าย คือ ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงให้แก่ลูกจ้างผู้ประกันตน แต่หากมีช่องทางใดสามารถเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนได้ เธอพร้อมจะดำเนินการให้ ไม่รีรอ
ปราณินยกตัวอย่าง สิ่งที่อาจเรียกได้ว่า เป็นของขวัญปีใหม่ที่ทางสำนักงานประกันสังคมได้จัดเตรียมไว้ให้ผู้ประกันตนทั่วประเทศ ในปี พ.ศ.2558 นี้ มีหลายเรื่อง
อาทิ ของขวัญชิ้นแรก สปส.ได้ผลักดันให้มีการออกกฎกระทรวงใหม่ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์กองทุนเงินทดแทน โดยอยู่ระหว่างดำเนินการออกกฎกระทรวงจำนวน 2 ฉบับ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ กองทุนเงินทดแทนให้แก่ ลูกจ้างที่ประสบอันตรายอันเนื่องมาจากการทำงาน
เทียบกับกฎกระทรวงปัจจุบัน ได้กำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานเอาไว้วงเงินสูงสุดแค่ไม่เกิน 300,000 บาท
แต่ตามร่างกฎกระทรวงใหม่ที่ทาง สปส.ได้เสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุง จะเพิ่มวงเงินที่ผู้ประกันตนจะได้รับสูงสุดเป็นไม่เกิน 1,000,000 บาท ต่อการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยแต่ละครั้ง
ล่าสุดคณะรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบกับร่างกฎกระทรวงฯดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ขั้นตอนต่อไปทางสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะส่งร่างฯเพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงนามในกฎกระทรวง และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
...
ของขวัญชิ้นที่สอง เลขาฯปราณิน บอกว่า สปส.ได้เตรียมร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตรา ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานให้นายจ้างจ่าย พ.ศ....
ปัจจุบันอัตราค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ที่ให้นายจ้างจ่ายตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยจากการทำงานนั้น จะได้รับวงเงิน สูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท
แต่ตามร่างกฎกระทรวงใหม่ ได้มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับภาวการณ์ในปัจจุบัน เพิ่มวงเงินสูงสุดเป็นไม่เกิน 358,000 บาท ต่อการประสบอันตราย หรือ เจ็บป่วยในแต่ละครั้ง
ความคืบหน้าล่าสุดกรณีนี้ อยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กำลังตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงดังกล่าว
เธอว่า ของขวัญชิ้นที่ 3 นอกจากมีความสำคัญ ยังเกี่ยวข้องกับผู้ประกันตนในวงกว้าง กล่าวคือ ทาง สปส.ได้เตรียมปรับปรุงแก้ไขร่าง
พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ พ.ศ....) ซึ่งได้มีการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขครั้งใหญ่ รวมทั้งสิ้นถึง 45 มาตรา
โดยความคืบหน้าล่าสุด ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ คาดว่าจะนำร่างปรับปรุงแก้ไขเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2558
ยกตัวอย่าง ตามร่างฯปรับปรุงแก้ไขใหม่สุด กรณีสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน เมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ได้มีการเพิ่มค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมทั้งค่าใช้จ่ายในรูปเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ด้วย
ซึ่งปัจจุบันผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเฉพาะค่าตรวจวินิจฉัย ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ากินอยู่ และค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่ารถพยาบาลหรือค่าพาหนะรับ-ส่งผู้ป่วยเท่านั้น
ถัดมา กรณีคลอดบุตร หาก สนช.ผ่านความเห็นชอบร่างปรับปรุงแก้ไขกฎหมายนี้แล้ว จะส่งผลให้ผู้ประกันตนหรือคู่สมรส มีสิทธิได้รับค่าคลอดบุตรไม่จำกัดจำนวนครั้ง
เทียบกับปัจจุบันมีสิทธิได้รับค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายครั้งละ 13,000 บาท บวกเงินสงเคราะห์กรณีหยุดงาน 90 วัน ไม่เกิน 2 ครั้งเท่านั้น
ถัดมา กรณีสงเคราะห์บุตร ปัจจุบันผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับสำหรับบุตรแรกเกิด จนถึงอายุ 6 ปี คราวละไม่เกิน 2 คน โดยเหมาจ่ายรายเดือน เดือนละ 400 บาทต่อคน
แต่หากกฎหมายนี้ผ่านความเห็นชอบของ สนช. ผู้ประกันตนจะได้รับการเพิ่มสิทธิเป็นสำหรับบุตรอายุ 0-6 ปี คราวละไม่เกิน 3 คน
กรณีว่างงาน ปัจจุบันผู้ประกันตน จะได้รับสิทธิประโยชน์นี้ เมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออก
แต่ตามร่างกฎหมายใหม่ จะให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประกันตนครอบคลุมไปถึง กรณีที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากเหตุสุดวิสัย และยังไม่มีการเลิกจ้าง เช่น กรณีสถานประกอบการถูกน้ำท่วม เป็นต้น
เช่นเดียวกับ กรณีเจ็บป่วยเรื้อรัง ได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทดแทน กรณีผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยเรื้อรังถึงแก่ความตาย แม้ว่าจะส่งเงินสมทบไม่ครบตามสิทธิก็ตาม ซึ่งของเดิมจะไม่ได้รับในส่วนนี้
ที่น่าสนใจอีกกรณี คือ ทุพพลภาพ ตามกฎหมายปัจจุบัน ผู้ประกันตนต้องสูญเสียสมรรถภาพของร่างกาย อย่างน้อยร้อยละ 50 จึงจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีนี้ รวมทั้งกำหนดให้ผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพอยู่ก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2558 ได้รับเงินทดแทนจากการขาดรายได้เป็นเวลา 15 ปี
แต่ตามร่างกฎหมายใหม่ ไม่จำเป็นต้องสูญเสียสมรรถภาพของร่างกายถึงร้อยละ 50 ก็สามารถได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีนี้ รวมทั้งกำหนดให้ผู้ที่ทุพพลภาพอยู่ก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2558 ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ไปตลอดชีวิต
เลขาธิการ สปส.บอกว่า นอกจากนี้ ยังมีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการตรวจสอบความโปร่งใส การทำงานของคณะกรรมการประกันสังคม กำหนดวิธีการได้มาหรือคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของกรรมการประกันสังคม รวมทั้งกำหนดให้บุคคลดังกล่าว ต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ซึ่งปัจจุบันไม่มีการกำหนดวิธีการได้มา คุณสมบัติลักษณะต้องห้าม และการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
เลขาธิการ สปส.บอกว่า ทั้งหมดนี้คือที่มาของการปฏิรูประบบประกันสังคมไทยครั้งใหญ่ แก้ไขจุดอ่อนที่มีอยู่ตามกฎหมายปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นของขวัญที่ สปส.ตั้งใจจะมอบให้ผู้ประกันตนทั้ง 13.6 ล้านคน แต่จะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีหรือไม่ ยังต้องฝากความหวังสุดท้ายไว้กับการพิจารณาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.
ล่าสุด ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนทั้งสิ้น 1.24 ล้านล้านบาทเศษ นับเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่สุดในประเทศไทย
แต่ราว 90% ของเงินก้อนมหึมานี้ เป็นเงินออมของผู้ประกันตน ที่สำนักงานประกันสังคมสะสมไว้รอจ่ายเป็นสิทธิประโยชน์บำเหน็จหรือบำนาญชราภาพหลังเกษียณในอนาคต.