“ถ้าครูไม่เป็นห่วงประโยชน์ที่ควรห่วง หันไปห่วงอำนาจ ห่วงตำแหน่ง ห่วงสิทธิและห่วงรายได้กันมากเข้า แล้วจะเอาจิตใจที่ไหนมาห่วงความรู้ ความดี ความเจริญงอกงามของเด็ก ความห่วงใยในสิ่งเหล่านี้ ก็จะค่อยๆบันทอนทำลายความเป็นครูไปจนหมดสิ้น จะไม่มีอะไรเหลือไว้พอที่ตัวเองจะภาคภูมิใจ หรือผูกใจใครไว้ได้ ความเป็นครูก็จะไม่มีค่าเหลืออยู่ให้เป็นที่เคารพบูชาต่อไป”

พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่ครูอาวุโส ประจำปี 2521 ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ วันที่ 21 ตุลาคม 2521 ซึ่ง “ทีมการศึกษา” ขอนำมาสะกิดเตือนใจแม่พิมพ์ของชาติ เพื่อความเป็นมงคลชีวิต และเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน ในโอกาส “วันครู” 16 มกราคม 2558 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

แต่หากมองย้อนหลังกลับไปในช่วงเวลา3-5 ปีที่ผ่านมา กลับพบข้อมูลการจัดอันดับการศึกษาของไทยไม่ว่าจะเป็นจากสถาบันจัดอันดับของไทยเอง หรือแม้แต่ของนานาชาติ มีสถิติที่น่าตกใจ และน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

โดยในปี 2556 จากการสำรวจของ WEF: World Economic Form พบว่า คุณภาพการศึกษาของไทยอยู่ในอันดับ 78 ของโลก และอันดับ 8 ของอาเซียน รวมทั้งคุณภาพประถมศึกษาอยู่ในอันดับ 86 ของโลก อันดับ 7 ของอาเซียนแทบจะรั้งท้ายในกลุ่มอาเซียน

ขณะเดียวกัน สถาบันวิจัยและจัดอันดับอีกหลายต่อหลายแห่งยังสะท้อนภาพการศึกษาไทยไปในทิศทางเดียวกัน โดยระบุชัดว่าการศึกษาไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะวิกฤติ

แน่นอนสาเหตุที่ทำให้คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำจะโทษว่าเพราะ “แม่พิมพ์” ของชาติเสียทั้งหมด 100% คงไม่ได้ แต่ “แม่พิมพ์” ก็คงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้เช่นกัน

...

เพราะ “ครู” คือ หัวใจสำคัญที่สุดในงานด้านการศึกษาของชาติ

ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานคณะกรรมการคุรุสภา ได้สะท้อนถึงเหตุอันเป็นที่มาของคุณภาพการศึกษาชาติตกต่ำว่า วิกฤติคุณภาพการศึกษาไทยที่เกิดขึ้นขณะนี้ แม้จะไม่ใช่ความผิดของครูทั้งหมด เพราะหลายเรื่องผิดมาตั้งแต่ระดับนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายให้นักเรียนสอบตกแต่ไม่ต้องซ้ำชั้น ซึ่งถือเป็นการทำร้ายตัวเด็กเอง และระบบการศึกษา แต่กระนั้นครูเองก็คงจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะหากครูใส่ใจศิษย์ของตัวเอง ไม่ปล่อยปละละเลยเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่หน้าที่ หรือไม่เกิดประโยชน์กับเด็ก ก็จะพบและเห็นว่าเด็กแต่ละคนมีจุดอ่อนที่ต้องเสริมเติมเต็มในเรื่องใดบ้าง เช่น หากเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ครูก็ต้องคิดหาวิธีว่าจะสอนอย่างไรเพื่อให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่เลือกที่จะปล่อยเด็กไปแบบนั้น ซึ่งถือว่าเป็นการทำร้ายเด็ก

ประธานบอร์ดคุรุสภา ยังระบุด้วยว่า ปัญหาวิกฤติการศึกษาไทยตกต่ำ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องตระหนัก และช่วยกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน อันดับแรก ต้องมีการคิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ถึงปัญหาให้ชัดเจนว่าเราต้องการเด็กที่จบออกมาแล้วมีคุณภาพและมีคุณลักษณะอย่างใดก่อน จากนั้นจึงมากำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนให้ครูได้นำไปปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน เพราะทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าครูยังงงๆกับนโยบายที่ไม่แน่นอน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จนไม่รู้ว่าจะสอนเด็กกันอย่างไร และหากมองโดยพื้นฐาน ผมคิดว่า สังคมคาดหวังอยากเห็น

เด็กจบออกมาแล้วสามารถทำงานได้ มีคุณธรรม จริยธรรม มีสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม และมีค่านิยมของความเป็น ไทย โดยนับตั้งแต่วันครู 16 มกราคม 2558 เป็นต้นไปคุรุสภาจะผลักดันเรื่องนี้จริงจัง โดยการเปิดเวทีให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกๆฝ่ายเข้ามาพูดคุยและระดมความคิดเห็น เพื่อเสนอให้ระดับนโยบายได้นำไปกำหนดเป็นนโยบายในการจัดการศึกษาต่อไป

“ไม่เพียงนโยบายการศึกษาชาติที่ต้องมีความชัดเจนเท่านั้น แต่ ครูและสถานศึกษาต่างๆทั่วประเทศจะต้องปรับกระบวนการสอนใหม่ทั้งหมด ที่ผ่านมาครูจะสอนโดยเน้นการบรรยายมากถึง 70% ซึ่งการสอนแบบบรรยายอาจจะทำได้ดีกับการเรียนในอดีตที่ผ่านมา แต่ผลวิจัยของคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์หลายมหาวิทยาลัย พบว่าการสอนแบบดังกล่าวไม่เหมาะสมกับการเรียนในยุคปัจจุบันที่องค์ความรู้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงต้องเน้นให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเองจากสิ่งรอบตัวมากขึ้นเป็น 70% ในขณะที่ครูทำหน้าที่คอยชี้แนะอีกเพียง 30% เท่านั้น แต่การที่ครูจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนี้ได้ แน่นอนว่าครูเองต้องมีความมุ่งมั่น ทุ่มเท ตื่นตัวที่จะทำกันจริงจัง ในขณะที่ผู้บริหาร และต้นสังกัดก็ต้องให้ การสนับสนุนทุกๆ อย่างเพื่อให้ครูเกิดการเปลี่ยน แปลง มีกำลังใจที่จะทำเพื่อเด็ก ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ กระทรวงศึกษาธิการจะต้องปรับระบบการบริหารงานบุคคลใหม่ ให้เป็นงานบริหารงานเชิงรุกเพื่อให้ครูที่มีอยู่ในระบบหลายแสนคนเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยอาจจะมีระบบที่ส่งเสริมให้ครูได้รับการดูแลที่ดี และเต็มใจที่จะพลิกฟื้นการศึกษาชาติในครั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้เวลานาน 5 ปี หรือ 10 ปี กว่าจะเห็นผล แต่ถ้าเราไม่ช่วยกันเริ่มตั้งแต่วันนี้ อนาคตชาติก็คงน่าห่วง” ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวทิ้งท้าย

...

“ทีมการศึกษา” เห็นด้วยเต็มร้อยว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันปฏิรูปการศึกษา และเดินหน้ายกระดับคุณภาพการศึกษาชาติอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดา “แม่พิมพ์” ของชาติ

เราอยากตั้งความหวังและขอให้วันครู 16 มกราคม ที่จะถึงนี้ เป็นวันแห่งการเริ่มต้น ตระหนัก ตื่นตัว และเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้

โดยเฉพาะในปีนี้ถือเป็นปีที่ 59 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กำหนดจัดงานวันครูภายใต้ชื่อ “ครูดีศรีแผ่นดิน” เพื่อ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ “พระผู้ทรงเป็นครูและแม่แห่งแผ่นดิน” และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ตลอดจนน้อมระลึกถึงพระคุณครู โดยในปีนี้มีคำขวัญวันครูคือ “เกียรติครูยิ่งใหญ่ น้อมใจบูชา เลิศล้ำคุณค่า ศรัทธาพระคุณ”

เพราะไม่ว่าจะมีนโยบายที่สวยหรูเพียงใด แต่หาก “ครู” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ และเป็นเสมือน “แม่พิมพ์” ของเยาวชนที่จะเติบโตไปเป็นอนาคตของชาติ ยังนิ่งเฉยไม่ใส่ใจที่จะปรับปรุง เปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อฉุดการศึกษาชาติครั้งใหญ่ให้พ้นปากเหวอย่างจริงใจและจริงจังเสียแล้ว

ในที่สุดความพยายามที่จะปฏิรูปการศึกษาชาติก็คง “ไร้ค่า” และ “สูญเปล่า” อย่างน่าเสียดาย

แล้ว “ครู” จะเหลืออะไรให้ “ภาคภูมิใจ”...!!!

ทีมการศึกษา