หลายปีที่ผมเฝ้าดูงานที่เป็นรูปธรรมของประชาคมอาเซียน ในเสาหลักที่ 3 ‘ประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน’ หาที่เจ๋งๆ เป็นเรื่องเป็นราวไม่ค่อยพบครับ เพิ่งมาเจอก็นี่แหละครับ เวทีเสวนาเยาวชนอาเซียนครั้งที่ 1 หรือ The 1st ASEAN Youth InterDialogue 2015 (AYD 2015) ที่ใช้เวลา 9 วัน ระหว่าง 5-13 มกราคม 2558 โดยมีเจ้าภาพ 3 หน่วยงาน คือ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี + สำนักงานศึกษาธิการภาค 12 + ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
โครงการเวทีเสวนาเยาวชนอาเซียนเอาครู 15 คน + นักเรียน 31 คนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจากบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย ให้ผู้คนสัญชาติอาเซียนเกือบครึ่งร้อยเหล่านี้มาพักด้วยกัน เจอกันตอนแรกๆ ก็ยังเขิน ทางโครงการก็มีกิจกรรมละลายพฤติกรรม+การแสดงวัฒนธรรม จนสนิทกัน
การมาชุมนุมสุมกันของครูและนักเรียนอาเซียนครั้งนี้ สื่อกันโดยใช้ภาษาอังกฤษ และนี่คือต้นแบบของการทำงานร่วมของผู้คนในประชาคมอาเซียนในอนาคต
โครงการมีกิจกรรมอะไรเยอะแยะ แต่ที่ผมชอบมากที่สุดก็คือ กิจกรรมฝึกปฏิบัติสำหรับครูและนักเรียน มีครูอาเซียน 2 กลุ่ม นักเรียนอาเซียน 2 กลุ่ม มาฝึกทำงานร่วมกัน ในฐานะผู้คนทางการศึกษาของประชาคมอาเซียน
อนาคต การถ่ายเทเคลื่อนไหวไปมาของบุคลากรทางการศึกษาของอาเซียนจะต้องมีมากขึ้นเรื่อยๆ และมีตลอดไป ชาติไหนที่กระดิกพลิกตัวไว ก็จะได้ประโยชน์ก่อน ส่วนผู้คนจากชาติเชื่องช้า ก็จะได้ประโยชน์น้อย และมีโอกาสเสียเปรียบผู้คนจากประเทศที่พร้อมและมีศักยภาพในการแข่งขันสูงกว่า การมีกิจกรรมฝึกปฏิบัติชุดนี้ จึงเป็นเหมือนกับกิจกรรมทดลองที่จะให้คนอาเซียนจัดการศึกษาร่วมกันได้ในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ
...
เพื่อให้ครูและนักเรียนอาเซียนเข้าใจการศึกษาไทยจากประสบการณ์จริง โครงการก็นำบุคลากรทางการศึกษาทั้ง 46 คน ไปเยือนโรงเรียนต่างๆ ในโรงเรียนเอกชนอย่างโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาคาร โรงเรียนศาสนูปถัมภ์ และโรงเรียนธรรมาวิทยามูลนิธิ รวมทั้งโรงเรียนรัฐบาล อย่างโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูลและโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง
ในอนาคตอันใกล้ ผู้คนในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียนจะมาศึกษาในเมืองไทยมากขึ้น โครงการก็พาไปดูมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ไปดูสถานที่ต่างๆ ในหาดใหญ่ จากนั้น ให้กลับมาเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันถึงการจัดการศึกษา
จันทร์วันนี้นะครับ คณะทั้งหมดจะบินจากหาดใหญ่มากรุงเทพฯ พอถึงบ่ายโมงก็ไปที่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อมีกิจกรรมนำเสนอในหัวข้อ ‘ทัศนคติต่อการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ความจริง และความคาดหวังในอนาคต’
ตอนเย็นก็มางานเลี้ยงแถวถนนรามคำแหง พอเช้าวันรุ่งขึ้น ผู้ร่วมโครงการก็จะบินกลับไปยังประเทศของตน
ผมมีความเชื่อในเรื่อง focus group หรือการจัดกลุ่มสนทนา การอภิปรายกลุ่มสนทนาแบบเจาะจง และการสัมภาษณ์แบบกลุ่มสนทนา งบประมาณที่ทางรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันโยนลงไปเพื่อกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แบบนี้ ผมมั่นใจว่าจะไม่สูญเปล่า เพราะการเอาทั้งครูและนักเรียนสัญชาติอาเซียนมาอยู่ร่วมกัน + เก็บรวบรวมข้อมูลโดยจัดกลุ่มผู้ที่ให้ข้อมูลที่มีประสบการณ์ในเรื่องการศึกษาร่วมกัน + พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นในเรื่องการศึกษา จะทำให้ผู้ร่วมสนทนาในโครงการแสดงความคิดเห็นและเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดเชิงลึก เมื่อได้ข้อมูลแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือ เอาข้อมูลของแท้เหล่านี้มาปรับเพื่อใช้เป็นเครื่องมือให้การศึกษาไทยมีความเป็น ‘ภูมิภาคอาเซียน’ และ ‘สากล’
ผมไม่ได้บินลงไปดูเวทีเสวนาเยาวชนอาเซียนครั้งที่ 1 ด้วยตนเอง แต่ได้ส่งผู้ช่วย 2 คน ลงไปสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลโดยละเอียด จากนั้น ให้ส่งกลับมาให้ผมทุกวัน
ส่วนที่กรุงเทพฯ 18.00 น. ของจันทร์วันนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการเวทีเสวนาเยาวชนอาเซียน ครั้งที่ 1 จะทานอาหารและเลี้ยงอำลาอาลัยกันที่สินธรสเต็กเฮ้าส์ ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กทม.
ผมจะตามไปร่วมทานเลี้ยงเพื่อพบปะและอำลาอาลัยด้วย
คงมีโอกาสได้พูดคุยกับครูและนักเรียนอาเซียนทั้ง 46 คนครับ.
คุณนิติ นวรัตน์