ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการว่า ตนอยากเห็นการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ประสบความสำเร็จ แต่ที่ผ่านมาการปฏิรูปการศึกษาค่อนข้างเงียบและเดินไปได้ช้า และการปฏิรูปครั้งนี้ ก็แตกต่างจากการปฏิรูปปี 2540 ซึ่งนำหลักการจากตะวันตกมาใช้ชัดเจน ทั้งโครงสร้าง เขตพื้นที่ การประกันคุณภาพการศึกษา การทดสอบทางการศึกษา แต่การปฏิรูปครั้งนี้เน้นให้ข้าราชการทำการ ปฏิรูป จึงมีการประนีประนอมกับระบบราชการค่อนข้างสูง ซึ่งเห็นได้จากการที่ให้ข้าราชการประจำ ปรับโครงสร้างกันเอง สภานิติบัญญัติแห่งชาติออก กฎหมายการศึกษาได้เพียง 1 ฉบับเท่านั้นคือ พ.ร.บ.วิทยาลัยชุมชน ที่สำคัญการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานนอกกระทรวงก็มีน้อยมาก
“ปีใหม่นี้สิ่งที่อยากให้ ศธ.เร่งดำเนินการคือมีนโยบายการศึกษาที่ชัดเจน มีการแก้ไขปัญหา โดยใช้อำนาจพิเศษที่เวลาปกติทำไม่ได้ เช่น การคืนครูให้นักเรียน การกำหนดทิศทางการปฏิรูปที่ชัดเจน บทบาทของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ที่ยังอึมครึม การออกกฎหมายที่สำคัญ เช่น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่, พ.ร.บ.กระจายอำนาจ เป็นต้น การสังคายนาวิทยฐานะ และต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพราะหากไม่มีการระดมพลัง จากทุกภาคส่วนแล้วการปฏิรูปจะเสียของแน่นอน” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว.