“ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประโยชน์ของประเทศชาติ การบุกรุกที่สาธารณะ ตัดไม้ทำลายป่า สัตว์ป่า สิ่งแวดล้อม มีผลกระทบต่อ ระบบนิเวศ กระทบทุกคนไม่ใช่คนใดคนหนึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนช่วยกันดูแล เป็นมรดกของคนไทย ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ป้องกันปราบปรามบังคับใช้กฎหมายดำเนินคดีผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ใช้กฎหมายฟอกเงินเข้ามาดำเนินการกับเครือข่ายผู้ที่อยู่เบื้องหลัง กระทำทุกอย่างเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่ง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจริงจัง”
“หากพบการกระทำความผิดต้องฟ้องร้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุดและขยายผลถึงผู้ร่วม ขบวนการ นายทุนผู้ที่อยู่เบื้องหลังทุกราย ทุกคดีร่วมกับ ปปง. ยึดทรัพย์นายทุน ผู้ร่วมขบวนการ ผู้อยู่เบื้องหลังทุกรายที่มีหลักฐานเชื่อมโยงถึง และดำเนินการทั้งคดีอาญาและทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐอื่นที่มีส่วนร่วมในขบวนการกระทำความผิดอย่างเฉียบขาดทุกราย เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างกับผู้อื่น เพราะถือว่าเป็นผู้ทำลายมรดกของประเทศ”
...
เป็นนโยบายที่เข้มข้นของ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร.และ ผอ.ศปก.ทส.ตร. รับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เห็นถึง ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า บุกรุกป่าและที่สาธารณะ การค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืชหวงห้าม การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว มีผลกระทบต่อประชาชน สังคมโดยตรง
พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติพร้อมกับทีมงาน พล.ต.ท.สุเทพ เดชรักษา พล.ต.ท.วัฒนา สักกวัตร และ พล.ต.ท.กวี สุภานันท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และรอง ผอ.ศปก.ทส.ตร. มีส่วนผลักดันแผน “พิทักษ์ทรัพยากรแผ่นดิน” เป้าหมายเพื่อขุดรากถอนโคนขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า บุกรุกป่าและที่สาธารณะ ค้าสัตว์ป่า และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้หมดสิ้นไป พร้อมฟื้นฟูสภาพป่า ปลูกป่า และสร้างอาสาสมัครภาคประชาชนเพื่อพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน
ยึด 3 ยุทธศาสตร์หลัก 1.ยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและแสวงหาความร่วมมือ 2.ยุทธศาสตร์ด้านการสืบสวนปราบปราม 3.ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการ
ด้านการสืบสวนปราบปราม จับกุมทั้งสิ้น 2,667 ราย ผู้ต้องหา 1,236 คน มูลค่าความเสียหาย 1,495,378,658 บาท ยึดทรัพย์ขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่ามูลค่าทรัพย์สินประมาณ 100 ล้านบาท มีเงินหมุนเวียนมากกว่า 1,500 ล้านบาท เข้าตรวจค้นยึดอายัดทรัพย์บุคคลที่เกี่ยวข้อง จำนวน 20 เป้าหมาย ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี มุกดาหาร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และกาฬสินธุ์
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้อนุมัติใช้ แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยการเสนอของ พลเอก อุดมเดช สีตบุตร เลขาฯ คสช.ด้วยแผนนี้ และจากผลงานที่เป็นรูปธรรมของ แผน “ยุทธการพิทักษ์ทรัพยากรแผ่นดิน” พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติได้ดำเนินการต่อเนื่อง โดยใช้แผน “ยุทธการพิทักษ์ทรัพยากรแผ่นดินสู่ความยั่งยืน ขั้นที่ 1”
ต่อยอดจาก “ยุทธการพิทักษ์ทรัพยากรแผ่นดิน” โดยเพิ่มความเข้มข้นขึ้นในทุกระดับ มุ่งเน้นที่ต้นตอของปัญหาคือนายทุนหรือผู้อยู่เบื้องหลัง
...
เป็นขั้นตอนการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน ครอบคลุมการตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกป่าและที่สาธารณะ การค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืชหวงห้าม
โดยเฉพาะนโยบายดำเนินการจริงจังกับผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่า พันธุ์พืชหวงห้าม สัตว์ป่าและพันธุ์พืชตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)
ติดตามพฤติกรรมของกลุ่มนายทุน นายหน้า หากพบการกระทำความผิด ให้ดำเนินการฟ้องร้อง ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด และขยายผลผู้ร่วมขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติทุกราย ทั้งนายทุนชาวไทยและชาวต่างชาติทุกราย และดำเนินการรวบรวมหมายจับ ผู้กระทำผิดที่ต่างชาติออกหมายจับไว้ ประสานองค์การตำรวจสากลประสานให้ประเทศนั้นจับกุมและส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาดำเนินคดีในประเทศไทย ประสานสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ขึ้นบัญชีเป็นบุคคลต้องห้ามเข้าประเทศ
รณรงค์ต่อต้าน 5 ไม่ อย่างต่อเนื่อง คือ ไม่ซื้อ ไม่ล่า ไม่ค้า ไม่ใช้และไม่สนับสนุน พื้นที่ที่มีการกระทำความผิดรุนแรง ขึ้นทะเบียนผู้ค้าสัตว์ในพื้นที่ (สัตว์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย) ทำประวัติและห้ามนำสัตว์ผิดกฎหมายมาลักลอบจำหน่าย
...
จัดตั้งอาสาสมัครทางลับในจุดที่มีการลักลอบค้าขายสัตว์ป่า จุดพักเก็บ เส้นทางลำเลียง จุดนำเข้า-ส่งออกแนวชายแดนและสนามบินนานาชาติเพื่อคอยแจ้งเหตุที่พบการกระทำผิด
ตรวจสอบเครือข่าย ขบวนการ การค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ และกำหนดเป็นบุคคลเฝ้าระวัง ติดตามความเคลื่อนไหวในพื้นที่
นอกจากนั้น ตร.ได้ออก “แผนปฏิบัติการเฉพาะกิจปราบปรามการค้างาช้าง” ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อขับเคลื่อนตามแผนงาช้างแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ให้ 20 หน่วยงานร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหา ตามที่มติของคณะกรรมการบริหารอนุสัญญาไซเตสกำหนดให้ประเทศไทยดำเนินการภายในเดือนมีนาคม 2558
เพื่อประเมินว่าประเทศไทยสามารถควบคุมการค้างาช้างที่ผิดกฎหมายให้ลดลงได้หรือไม่
เป็นมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาลซึ่งตำรวจมีภารกิจ 7 ด้าน คือ 1.จัดทำฐานข้อมูลท้องถิ่น ร้านค้า ผู้จำหน่าย ผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้าง 2.ปราบปราม/ยึดทรัพย์/จับกุมขยายผลรายใหญ่/ ผู้ร้ายข้ามแดน 3.จัดชุดปฏิบัติการงาช้าง (Task Force) 4.ดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด 5.เพิ่มความร่วมมือ/ช่องทางประชาสัมพันธ์ 6.อบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้เท่าทัน และ 7.ช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านตำรวจท่องเที่ยว ตรวจคนเข้าเมือง
...
ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเฉพาะกิจปราบปรามการค้างาช้าง สำรวจผู้ค้างาช้างทั้งที่ตั้งร้านถาวรและที่เป็นร้านบุคคลเร่ขายแก่นักท่องเที่ยว เก็บประวัติและควบคุมมิให้มีการนำงาช้างที่ผิดกฎหมายมาจำหน่าย ขึ้นบัญชีบุคคลต่างชาติที่มีประวัติ และห้ามเข้าประเทศแล้ว 139 ราย ใน 36 ประเทศ
กำหนดเป้าหมายที่เป็นแหล่งผลิต แหล่งค้าหรือแหล่งที่เป็นศูนย์กลางทางผ่าน 12 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา บุรีรัมย์ สุรินทร์ เชียงใหม่ อุทัยธานี นครสวรรค์ กาญจนบุรี และภูเก็ต
ผลการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค.57 จนถึงปัจจุบัน ด้านการตัดไม้ทำลายป่า จับกุมผู้กระทำผิด 1,740 ราย ผู้ต้องหา 1,009 คน ได้ของกลางไม้พะยูงมากกว่า 3 หมื่นท่อน มูลค่ากว่า 80 ล้านบาท ได้เลื่อยโซ่ยนต์ 169 เครื่อง ด้านการบุกรุกป่าและที่สาธารณะ จับกุมผู้กระทำผิด 1,153 ราย ผู้ต้องหา 395 คน ยึดพื้นที่ได้กว่า 3 หมื่นไร่ มูลค่าความเสียหายกว่า 2 พันล้านบาท ด้านการค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืชหวงห้าม จับกุมผู้กระทำผิด 99 ราย ผู้ต้องหา 101 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 9 ล้านบาท ด้านการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จับกุมผู้กระทำผิด 51 ราย ผู้ต้องหา 60 คน มูลค่าเสียหายกว่า 300 ล้านบาท
จนเลขาธิการไซเตสชื่นชมเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการค้างาช้างและผลการปฏิบัติการของประเทศไทยได้ออกกฎหมายควบคุมและลงโทษผู้ค้างาช้างผิดกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว เป็นขั้นตอนเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน
ขจัดปัญหาที่ต้นเหตุหรือต้นตอแบบขุดรากถอนโคน เน้นการป้องกันแบบมีส่วนร่วมมีจิตสำนึกร่วมกันของทุกฝ่าย เพื่อเตรียมส่งมอบความยั่งยืนสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
มีการยับยั้งการฆ่าช้างเพื่อเอางาให้เกิดผลอย่างจริงจัง และป้องกันการนำงาช้างแอฟริกาเข้ามาในประเทศ ในส่วนที่มีการลักลอบเข้ามาแล้วก็ต้องป้องกันมิให้นำออก และปราบปรามจับกุมให้หมดสิ้นไป เพื่อมิให้นานาชาติมองว่าประเทศไทยเป็นแหล่งที่มีการค้าสัตว์ป่า งาช้าง ที่ผิดกฎหมายหรือเป็นประเทศทางผ่านของขบวนการดังกล่าว
มุ่งมั่นดำเนินการตามยุทธการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม มุ่งเน้นร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายเดียวกัน คือ เพื่อรักษาป่าและทรัพยากรธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์คงคู่ประเทศไทยดังเช่นอดีตที่ผ่านมา
เป็นงานใหญ่ในความรับผิดชอบของ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน.
ทีมข่าวอาชญากรรม