และแล้ว ปี 2558 ที่หมู่เรา...ชาวประชาคมอาเซียน เฝ้านับวันรอก็มาถึง เพราะนอกจากจะเป็นปีใหม่ พ.ศ.ใหม่ ยังเป็นปีที่ 10 ชาติสมาชิกอาเซียน หมายมั่นปั้นมือกันมาหลายปีแล้วว่า เป็นปีของการก้าวเข้าสู่ ‘ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน’ ( Asean Economics Community) หรือเรียกย่อๆ ว่า AEC

10 ชาติสมาชิกอาเซียน (เรียงตามตัวอักษรนำหน้าชื่อประเทศ เป็นภาษาอังกฤษ) ประกอบด้วย 1. บรูไน ดารุสซาลาม หรือเรียกสั้นๆ ว่าบรูไน 2. กัมพูชา 3. อินโดนีเซีย 4. ลาว 5. มาเลเซีย 6. เมียนมาร์ หรือพม่า 7. ฟิลิปปินส์ 8. สิงคโปร์ 9. เวียดนาม และ 10 ประเทศไทย มีเป้าหมายในการรวมตัวกันเป็น AEC เพื่อหวังจะให้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน

เรียกว่า เรา ฝันกันว่า เมื่อรวมตัวเป็นกลุ่มแน่นหนาแล้วจะทำให้อาเซียน มีอำนาจต่อรองกับคู่ค้าได้มากขึ้น, การนำเข้าและส่งออกสินค้าของชาติในอาเซียนก็จะเสรีมากขึ้น ยกเว้นสินค้าบางชนิดเท่านั้น ที่แต่ละประเทศอาจจะขอยกเว้น ไม่ให้มีการลดภาษีนำเข้า

...

ขณะเดียวกัน เราก็ได้ยินได้ฟังกันมาเยอะว่า การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายหลายอย่าง เห็นชัดๆ ก็คือ การลงทุนจะเสรีมากขึ้นมากๆ ชนิดใครจะไปลงทุนในประเทศไหนก็ได้ ถ้ามีความพร้อมอยู่มากพอ

ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องเสริมทักษะความรู้ความสามารถ ให้พร้อมจะรับมือกับคนชาติอื่นๆ ที่จะเข้ามาในประเทศของเราเช่นกัน หนึ่งในนั้น คือการฝึกหัดพูดภาษาอังกฤษ ซึ่งจะเป็นภาษากลางสำหรับใช้ในการสื่อสารของมวลหมู่สมาชิกชาติอาเซียน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด...

ทว่า ท่ามกลางข่าวสารมากมายเกี่ยวกับ AEC ที่ผ่านหูผ่านตากันแทบทุกวัน จนทำให้เราทั้งกลัว ทั้งตื่นเต้น ด้วยความหวังว่ามันจะทำให้เราดีขึ้น หรือแย่ลง จนลง หากถูกคนชาติอื่นที่เก่งกว่า มีความได้เปรียบมากกว่า เข้ามาแย่งงาน แย่งโอกาสของเราไป!

ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ AEC … ‘ไทยรัฐออนไลน์’ จึงอยากขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลบ ‘มายาคติ’ หรือปรับจูนความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนในบางเรื่องบางอย่างเกี่ยวกับ AEC ขณะที่เรากำลังก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียน

เริ่มตั้งแต่ หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ขณะที่ปี 2558 เป็นปีที่เราเคยเข้าใจว่า เป็นปีของการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่มันไม่ใช่เริ่ม ‘สตาร์ต’ ในวันที่ 1 ม.ค. 2558 เพราะด้วยความที่ประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม จึงทำให้มีการเลื่อนกำหนดการรวมกลุ่ม AEC ออกไป เป็นวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2558

นอกจากนั้นแล้ว สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับอีกหลายหน่วยงาน อาทิ มูลนิธิชัยพัฒนา ยังได้มีการจัดสัมมนา เสนอบทความวิจัยในหัวข้อ ‘ประเทศไทยในกระแส AEC : มายาคติ ความเป็นจริง โอกาส และความท้าทาย’ ตั้งเมื่อปี 2555 เพื่อต้องการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ AEC โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอ (ในขณะนั้น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานทีดีอาร์ไอ), ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู และผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่าน วิจารณ์บทความ

ดร.สมเกียรติ ได้กล่าวไว้ว่า ในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนนั้น คนไทยให้ความสนใจกับ AEC มากที่สุด แต่กลับมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาด คลาดเคลื่อน และสร้างความสับสนมากขึ้น ซึ่งเป็น ‘มายาคติที่เป็นอันตราย’ เพราะส่งผลต่อการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจ นโยบายของภาครัฐ และการดำเนินชีวิตของประชาชน

...

ที่สำคัญ มีมายาคติสำคัญ และพบบ่อยๆ 4 ตัวอย่างที่หยิบยกมาแสดงให้เห็น คือ

มายาคติที่ 1 : ประเทศไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลต่อการเข้าสู่ AEC ซึ่งเป็นเศรษฐกิจไร้พรมแดน

มายาคติที่ 2 : ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานทุกประเภทโดยเสรี

มายาคติที่ 3 : นักลงทุนอาเซียนสามารถลงทุนในธุรกิจภาคบริการในอาเซียนได้อย่างเสรี โดยไม่มีขีดจำกัด

มายาคติที่ 4 : การรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนคล้ายกับสหภาพยุโรป (European Union: EU) จึงก่อให้เกิดความเสี่ยงในลักษณะเดียวกัน

เรียกว่า 4 มายาคติข้างบนนี้ เราเข้าใจกันมาตลอดว่ามันจะเป็นอย่างนี้ใช่หรือไม่ เมื่อเราเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน?

โดย ดร. สมเกียรติ กล่าวว่า ความเข้าใจในเรื่องการเคลื่อนย้ายสินค้า และบริการอย่างเสรี รวมทั้งการเคลื่อนย้ายการลงทุนและเงินทุนอย่างเสรี ตลอดจน เคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรีนั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน! อย่างเช่น การเปิดเสรีการค้าสินค้า ด้วยการลดภาษีศุลกากรตามกรอบการค้าเสรีอาเซียนนั้น ก็เริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 แล้ว

...

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนไทยส่วนใหญ่น่าจะให้ความสนใจมากสุด เพราะกังวลในเรื่องผลกระทบ หากถูกคนชาติอื่นเข้ามาแย่งงาน หรือโอกาสที่เราจะเข้าไปแย่งงานในชาติอื่น นั่นก็คือ เรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยเสรี

เราคงต้องเข้าใจกันใหม่ว่าปัจจุบันมีเพียง 8 วิชาชีพเท่านั้น ที่อยู่ภายใต้ข้อตกลง อีกทั้งต้องขึ้นทะเบียนนักวิชาชีพภายใต้ข้อตกลงยอมรับร่วมในสาขาบริการวิชาชีพ 8 สาขา (MRAs) ที่ต้องพิจารณาคุณวุฒิ โดยนักวิชาชีพ 8 สาขา ได้แก่ วิศวกร, พยาบาล, สถาปนิก, นักสำรวจ, นักบัญชี, แพทย์, ทันตแพทย์ และบุคลากรด้านวิชาชีพท่องเที่ยว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแรงงานไร้ทักษะเลย

แนวทางหลักในการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะโดยเสรี จะดำเนินการผ่านกลไกที่เรียกกันว่า ‘การจัดทำข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วม’ (Mutual Recognition Arrangements:MRAs) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิกที่ระบุถึงคุณสมบัติของนักวิชาชีพที่สำคัญ ได้แก่ คุณสมบัติด้านการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน การผ่านการทดสอบความรู้เพื่อขึ้นวิชาชีพ หรือได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ฯลฯ

...

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงการยอมรับร่วมที่มีผลบังคับใช้แล้วนี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบวิชาชีพที่ขึ้นทะเบียน แต่ก็ไม่ได้หมายถึงเป็นการยอมรับโดยอัตโนมัติ ตามความหมายของ MRA ที่ใช้กันทั่วไปในกรอบความตกลงการค้าระหว่างประเทศอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป และออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ เนื่องจากจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในของประเทศอาเซียนที่เป็นเจ้าบ้านด้วย

ด้วยเหตุนี้ การที่เราเรียกว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานโดยเสรี ที่เราเข้าใจกันมาตลอดว่า จะเปิดประตูโล่งโจ้งให้เราและคนในชาติสมาชิกอาเซียนอื่นๆ จะสามารถเดินทางเข้าไปทำงานได้อย่างสบายๆ แสนจะสะดวกโยธินเพียงแค่พูดอ่านเขียนภาษาอังกฤษได้นั้น มันไม่ใช่อย่างที่เราเคยเข้าใจกันมา

เพราะฉะนั้น เราจึงควรศึกษาหาความรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ AEC อย่างถูกต้อง เป็นอันดับแรก ก่อนที่เราจะไปแข่งขันในด้านอื่นๆ กับเพื่อนบ้านอาเซียน...(ใช่หรือไม่?)