ไต้ฝุ่น ฮากูปิต (ภาพ: AP Photo/NOAA)
ไต้ฝุ่น ฮากูปิต เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งทางตะวันออกตอนกลางของประเทศฟิลิปปินส์แล้วเมื่อคืนวันเสาร์ โดยทางการฟิลิปปินส์สั่งอพยพประชาชนหลายแสนคนไปก่อนหน้านี้แล้ว...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ไต้ฝุ่น 'ฮากูปิต' ความเร็วลมประมาณ 205 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เทียบเท่ากับพายุเฮอร์ริเคนระดับ 3 ได้เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งทางตะวันออกตอนกลางของประเทศฟิลิปปินส์แล้วเมื่อคืนวันเสาร์ (6 ธ.ค.) ที่เมืองโดโลเรส ในจังหวัด ซามาร์ ก่อให้เกิดฝนตกหนัก ลมกระโชกแรงจัด หลังจากเมืองโดโลเรส เคยประสบน้ำท่วมหนักจากอิทธิพลของซุปเปอร์ไต้ฝุ่น 'ไห่เยี่ยน' เมื่อ 13 เดือนก่อน
ไต้ฝุ่น ฮากูปิต อ่อนกำลังลงจากระดับซุปเปอร์ไต้ฝุ่น หรือมีความเร็วเกิน 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระหว่างเคลื่อนตัวในทะเลเข้าหาฟิลิปปินส์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คาดว่าพื้นที่ต่ำติดชายฝั่งจะต้องเผชิญกับคลื่นพายุหนุนยกซัดฝั่ง (สตอร์มเซิร์จ)
ด้านสภาจัดการและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งชาติ (เอ็นดีอาร์อาร์เอ็มซี) เปิดเผยว่า มีประชาชนหลายแสนคนต้องอพยพออกจากเส้นทางเคลื่อนตัวของพายุ หรือเข้าหลบภัยในโรงแรมในพื้นที่สูงห่างจากชายฝั่ง โดยจนถึงช่วงเช้าวันเสาร์ มีประชาชนอพยพไปแล้วมากกว่า 600,000 คน ขณะที่เที่ยวบินในประเทศถูกยกเลิกกว่า 60 เที่ยว
...
ขณะเดียวกัน สำนักงานบริหารบรรยากาศ, ธรณีฟิสิกส์ และดาราศาสตร์แห่งฟิลิปปินส์ (PAGASA: ปากาซา) เตือนว่า อิทธิพลของไต้ฝุ่นฮากูปิตอาจทำให้เกิดฝนตกปริมาณน้ำฝน 20 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ทะเลปั่นป่วนและอาจเกิดสตอร์มเซิร์จสูงถึง 4.5 เมตร
ทั้งนี้ การมาของไต้ฝุ่นฮากูปิต ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองของฟิลิปปินส์ หมายถึง 'ชน' หรือ 'เฆี่ยนตี' ทำให้ชาวฟิลิปปินส์นึกถึงฝันร้ายเมื่อเดือนพ.ย. 2013 เมื่อซุปเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนความเร็วลมกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เคลื่อนตัวเข้าถล่มภาคกลางและภาคเหนือของประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6,340 คน สาบสูญ 1,061 คน บ้านเรือนถูกทำลายหลายแสนหลัง มีผู้ต้องกลายเป็นคนไร้บ้านกว่า 1.9 ล้านคน สร้างความเสียหายเป็นเงิน 2.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อัลเฟรด โรมูอัลเดซ นายกเทศมนตรีนครตักโลบัน เมืองเองของจังหวัดเลย์เต ซึ่งได้รับความเสียหายจากพายุไห่เยี่ยนมากที่สุด ระบุว่า ปีนี้พวกเขาเตรียมตัวเพื่อรับมือพับพายุดียิ่งขึ้น โดยอาศัยบทเรียนจากการเผชิญกับไห่เยี่ยนเมื่อปีก่อน ประชาชนจริงจังกับสัญญาณเตือนภัยพายุมากขึ้น และส่วนใหญ่เดินทางออกจากเมืองไปแล้ว แม้คราวนี้ตักโลบันจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากพายุฮากูปิตก็ตาม