เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557 ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษอาจารย์หมอ ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าคณะแพทย์ที่ถวายการรักษา พระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงเรื่องราวที่อาจารย์หมอประทับใจ และความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตเสื้อกาวน์ ที่ได้เป็นผู้ถวายการรักษาพ่อหลวงของแผ่นดินไทย...

เปิดประวัติ ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ แห่งศิริราชพยาบาล

ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ เกิดวันที่ 25 ธ.ค. 2493 ปัจจุบันอายุ 64 ปี เป็นผู้มีความชำนาญสาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ และเป็นหัวหน้าภาควิชากระดูก กระทั่งได้ขึ้นเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จนเกษียณอายุราชการ และเป็นอดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและอดีตหัวหน้าคณะแพทย์ที่ถวายการรักษา พระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยถวายการรักษาพระองค์ท่านมาเป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 9 ธ.ค. 2550 - 9 ธ.ค. 2554

นพ.ธีรวัฒน์ ได้เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชากระดูก อาจารย์หมอได้ผ่าตัดพระปฤษฎางค์ (หลัง) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ท่านทรงประชวรด้วยพระโรคกระดูก (ออร์โธปิดิกส์) ซึ่งตอนนั้นใช้หมอจากต่างประเทศมาถวายการผ่าตัด และอาจารย์หมอได้จัดทีมแพทย์เพื่อถวายการรักษา หลังจากที่ทรงมีพระอาการดีขึ้นแล้ว พระองค์ท่านทรงประชวรด้วยพระโรคปอดบวม มีไข้ จึงเสด็จเข้ารับการรักษา และได้มีการตั้งทีมแพทย์เชี่ยวชาญโรคที่เกี่ยวข้องมาถวายการดูแลการรักษาเพิ่มเติม

เปิดใจอดีตหัวหน้าแพทย์ถวายงาน เสียงพสกนิกร 'ทรงพระเจริญ' ช่วยพ่อหลวงพระพักตร์แจ่มใส

...

เกียรติสูงสุดในชีวิต...ทำหน้าที่แพทย์ถวายการรักษาพ่อหลวง

เมื่อครั้งที่อาจารย์หมอ ได้รับตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และได้เข้าถวายตัวรับใช้นั้น พระองค์ท่านได้มีรับสั่งเป็นการส่วนพระองค์ กับอาจารย์หมอว่า ‘ให้เป็นนักเรียนใหม่ ตั้งใจทำงาน’ หมายความว่า ต้องพัฒนาตนเอง อย่าอยู่กับที่ และเมื่อพัฒนาแล้วก็ต้องตั้งใจทำงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพแก่องค์กร

อาจารย์หมอ เล่าย้อนกลับไปถึงช่วงวินาทีแรกที่ทราบข่าวว่าจะได้มาถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า รู้สึกตกใจ เนื่องจากว่าพระองค์ท่านเสด็จฯ มาประทับที่ รพ.ตอนดึก ซึ่งตอนนั้นอาจารย์หมอกำลังออกโทรทัศน์ในรายการมหิดลอยู่ หลังจากเลิกจากรายการโทรทัศน์จึงต้องรีบมา โดยอาจารย์หมอได้ตั้งคณะแพทย์ดูแลถวายการรักษา โดยมีจำนวน 20 กว่าท่าน ซึ่งจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านอยู่ในคณะแพทย์นี้ด้วย

“ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติยศสูงสุดในชีวิตที่ได้ทำหน้าที่ของแพทย์ผู้ถวายการรักษาและดูแลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมได้ทำงานที่สูงสุดในชีวิตไปแล้ว” อดีตหัวหน้าคณะแพทย์ฯ กล่าว

เปิดใจอดีตหัวหน้าแพทย์ถวายงาน เสียงพสกนิกร 'ทรงพระเจริญ' ช่วยพ่อหลวงพระพักตร์แจ่มใส

ถวายการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด

นพ.ธีรวัฒน์ ได้ตามไปถวายการดูแลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ ตามโอกาสและความเหมาะสม เนื่องจากบางครั้งการเสด็จพระราชดำเนินไปแต่ละที่ มีการจำกัดคน แล้วแต่ว่าพระองค์ท่านจะเสด็จฯ ที่ใด ฉะนั้น บางครั้งมีพื้นที่จำกัด อาจารย์หมอจึงต้องจัดคนที่เกี่ยวข้อง 1-2 คน แล้วแต่ความเหมาะสมว่าแพทย์คนใดสมควรจะตามเสด็จในช่วงนั้น เช่น หมอหัวใจ

แต่กระนั้นแล้ว อาจารย์หมอยังคอยถวายการดูแลอยู่ข้างๆ เวลาพระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินไปตามสถานที่ต่างๆ เนื่องจากว่า พระองค์ท่านยังทรงไม่แข็งแรงดีนัก ต้องคอยระมัดระวังอย่างเต็มที่ การที่จะเข็นรถพระที่นั่งไป ก็ต้องไม่ให้มีการกระทบกระเทือน โดยเฉพาะช่วงที่พระองค์ท่านเสด็จลงจากชั้น 16 ครั้งแรก พระวรกายยังไม่ค่อยฟื้นเท่าใด แต่พระองค์ก็ยังเสด็จลงมาตามพระราชประสงค์ของพระองค์เอง เพื่อทรงงานหรือตามเหตุผลของพระองค์ท่าน คณะแพทย์จึงต้องมาดูว่าจะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระองค์ท่านเสด็จลงได้หรือไม่

อาจารย์หมอ กล่าวว่า “ผมได้พยายามทำให้พระองค์ท่านทรงพระเกษมสำราญ โดยการพาเสด็จบนดาดฟ้าบ้าง เสด็จลงมาข้างล่างบ้าง หรือในบางครั้งได้กราบบังคมทูลเชิญลงมาทอดพระเนตรการจัดเทศน์มหาชาติ ลอยกระทง และในวันตรุษจีน ได้จัดเชิดสิงโตของแชมป์ประเทศไทย รวมไปถึงจัดดนตรีแจ๊สถวายในหอประชุม พระองค์ท่านก็เสด็จลงมาทอดพระเนตร พร้อมกับมีรับสั่งว่า ขอบใจนะที่จัดให้ เพลงเพราะดี”

เปิดใจอดีตหัวหน้าแพทย์ถวายงาน เสียงพสกนิกร 'ทรงพระเจริญ' ช่วยพ่อหลวงพระพักตร์แจ่มใส

...

เหตุผลที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินไปที่ท่าน้ำศิริราชเป็นประจำ ?

อดีตหัวหน้าคณะแพทย์ฯ เล่าถึงการที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินไปที่ท่าน้ำศิริราชว่า พระองค์เสด็จฯ ทอดพระเนตรระดับน้ำ และจะเสด็จลงไปในช่วงบ่ายหรือเย็นที่อากาศไม่ร้อนนัก พร้อมกับให้อาจารย์หมอ ถวายรายงานเรื่องน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค. แต่น้ำท่วมจริงๆ คือช่วงเดือน ต.ค. ซึ่งอาจารย์หมอ ต้องไปทำความเข้าใจและหาข้อมูลมาถวายรายงานในทุกวัน รวมไปถึงการจัดประชุมผู้เกี่ยวข้องทั้งทหารเรือ กรมชลประทาน เพื่อมาประชุมร่วมด้วย

“ผมต้องทราบข้อมูลว่าน้ำขึ้นที่ปากน้ำโพเท่าไหร่ ประตูน้ำไหนเปิดบ้าง หรือขณะที่พระองค์ทอดพระเนตรคลองว่าทำไมน้ำถึงไหลไม่สะดวก ก็ได้ตรัสถามว่า นี่คลองอะไร ซึ่งผมต้องไปขอข้อมูลจากสำนักงานเขต พร้อมกับแผนที่มาโดยด่วน” อาจารย์หมอ กล่าว

เปิดใจอดีตหัวหน้าแพทย์ถวายงาน เสียงพสกนิกร 'ทรงพระเจริญ' ช่วยพ่อหลวงพระพักตร์แจ่มใส

พ่อหลวงทรงงานตลอด...แม้ทรงพระประชวร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงงานหนักตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ แม้กระทั่งเมื่อทรงพระประชวรก็ตาม ระหว่างประทับอยู่ที่ รพ.ศิริราช ทรงติดตามข่าวสารความทุกข์ร้อนของประชาชนจากทุกสื่อ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ทีวี หรืออินเทอร์เน็ต ในทุกเช้าหลังตื่นบรรทม และเสวยเสร็จเรียบร้อย พระองค์ท่านจะเสด็จฯ มาที่ห้องทรงงาน ซึ่งเป็นห้องที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา และพระองค์ท่านได้ทอดพระเนตรจากห้องทรงงานลงมาเห็นความเป็นไปของบ้านเมืองในแต่ละวัน และทรงพระอักษร ทรงใช้อินเทอร์เน็ต และทอดพระเนตรโทรทัศน์ รวมทั้งทรงสำราญพระราชอิริยาบถสลับกันไปในแต่ละวัน โดยเฉพาะรายการกีฬาในโทรทัศน์ โปรดมาก หรือรายการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาชิงแชมป์ต่างๆ

...

'เป็นแพทย์ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน ทุกคนมีดี อย่าไปดูถูกเขา' พระบรมราโชวาทนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้แก่คณะแพทย์กลุ่มหนึ่งที่เข้าเฝ้าฯ ถวายการรักษาพระองค์ ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ที่เป็นหมอควรมีไมตรีจิตและให้เกียรติต่อผู้คนรอบข้าง ทุกคนมีดีอยู่ในตัว แต่ไม่มีใครดีไปกว่ากัน ซึ่งอาจารย์หมอได้นำพระบรมราโชวาทมาบอกกล่าวต่อ เพราะถือว่าเป็นคุณสมบัติอันเป็นแก่นของความเป็นแพทย์ ว่าแพทย์ที่ดีต้องเป็นอย่างไร

“ไม่ใช่แค่เหตุการณ์น้ำท่วม แต่พระองค์ทรงงานหนักตลอดเพื่อบ้านเมือง เมื่อเสด็จลงหรือทอดพระเนตรไปยังผู้คนต่างๆ พระองค์ท่านมีสายพระเนตรที่ทรงพระเมตตา แม้กระทั่งยามเฝ้าลิฟต์ เมื่อเสด็จลงเป็นบางโอกาส พระองค์ท่านก็มีรับสั่งแก่ยามว่า ‘ขอบใจนะ’ ซึ่งก็ถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระเมตตา” อดีตหัวหน้าใหญ่ชาวศิริราชกล่าว

เปิดใจอดีตหัวหน้าแพทย์ถวายงาน เสียงพสกนิกร 'ทรงพระเจริญ' ช่วยพ่อหลวงพระพักตร์แจ่มใส

'จะทำอะไร อย่าให้ประชาชนเดือดร้อน' น้ำพระทัยที่ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า

อดีตแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้กล่าวอย่างปลื้มปีติว่า พระองค์ท่านทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทยทุกคน โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาจะเน้นเรื่องการจราจรเป็นหลัก ซึ่งพระองค์ท่านได้ขึ้นไปบนดาดฟ้าตึก รพ.ศิริราช และทอดพระเนตรการจราจร พร้อมรับสั่งให้คณะแพทย์จัดทําแผนที่เพื่อพระองค์ท่านจะทรงแก้ปัญหาการจราจรฝั่งธนบุรี โดยคณะแพทย์ได้รายงานเกี่ยวกับจํานวนผู้เข้า-ออกโรงพยาบาลศิริราชว่า ใน 1 วัน มีประชาชน จำนวนกว่า 1 แสนคน เข้าใช้เส้นทางดังกล่าว

...

พระองค์ท่านจึงทรงมีพระราชดํารัสสั่งให้ทําโครงการจราจร แก้ไขปัญหารถติดในช่วงฝั่งธนบุรีและจะขยายไปอีกทั่วกรุงเทพฯ โดยให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าการการรถไฟ และเจ้าหน้าที่ตํารวจ ร่วมกันหารือ โดยมีทีมแพทย์เป็นประธานการประชุมเพื่อให้ขยายสะพานอรุณอมรินทร์ เป็นสะพานลอยฟ้า โดยสร้างขึ้นเพื่อให้ข้ามแยกศิริราชไปลงฐานทัพเรือ และเลี่ยงการติดขัดสําหรับบุคคลที่ไม่ต้องการเข้ามาในโรงพยาบาล

“พระองค์ทรงเป็นห่วงประชาชนตลอดเวลา โดยเฉพาะการทํางานของหน่วยงานภาครัฐ จะต้องไม่กระทบการดําเนินชีวิตของประชาชน และไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน” อาจารย์หมอ กล่าว

เปิดใจอดีตหัวหน้าแพทย์ถวายงาน เสียงพสกนิกร 'ทรงพระเจริญ' ช่วยพ่อหลวงพระพักตร์แจ่มใส

เสียงที่เปล่ง คำว่า ‘ทรงพระเจริญ’ ดังตลอดทั้งวัน ใน รพ.ศิริราช

ในแต่ละวันที่มีประชาชนเดินทางไปถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ รพ.ศิริราช และร่วมใจกันเปล่งถ้อยคำว่า ‘ทรงพระเจริญ’ โดยอดีตหัวหน้าคณะแพทย์ฯ เผยว่า พระองค์ท่านทรงได้ยินในสิ่งที่ประชาชนร่วมกันเปล่งวาจาออกมา และทรงมีพระพักตร์ที่แจ่มใสขึ้น ถือเป็นกําลังใจที่ดีเพราะผู้ป่วยคือผู้ที่ต้องการกําลังใจ และกําลังใจเป็นสิ่งที่สําคัญที่สุด ดังนั้น พระองค์ท่านจะทรงรับรู้ตลอดเวลาว่า ประชาชนเป็นห่วงพระองค์ท่านมากเพียงใด

สำหรับแจกันดอกไม้ หรือสิ่งของที่ประชาชนพร้อมใจกันนํามา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน ทางทีมสํานักพระราชวังจะนําขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกชิ้น แม้แต่สมุดลงนามถวายพระพร ก็จะทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์ท่าน ทุกเล่มอีกด้วย

เปิดใจอดีตหัวหน้าแพทย์ถวายงาน เสียงพสกนิกร 'ทรงพระเจริญ' ช่วยพ่อหลวงพระพักตร์แจ่มใส

ที่สุดแห่งความประทับใจของนายแพทย์ ผู้ถวายการรักษาแด่พ่อหลวง

ตลอดระยะเวลาการถวายการรักษา สิ่งที่อดีตหัวหน้าคณะแพทย์ฯ ประทับใจในพระองค์ท่านมากที่สุด คือ ความอดทนในการที่จะทรงดูแลพระองค์เอง ถึงแม้ว่าจะทรงมีพระอาการหนักแค่ไหน พระองค์ทรงไม่ย่อท้อที่จะฟื้นฟูพระวรกายให้กลับคืนสู่ปกติ พระองค์ท่านได้ตั้งพระราชหฤทัยในการฟื้นฟูพระวรกาย อย่างเช่น ทรงยืน ทรงลุกขึ้นนั่ง หรือช่วงมีพระอาการดีขึ้น จะต้องทรงจักรยานฟิตพระวรกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากสำหรับพระองค์ ที่มีพระชนมพรรษามาก และทรงพระประชวรด้วยพระโรคปอดอักเสบ ก็ยากที่จะกลับมาสู่ปกติโดยเร็ว แต่ในช่วงของการรักษาพระวรกายนั้น พระองค์ท่านทรงมีความแข็งแรง และความอดทนต่อการรักษาเป็นอย่างมาก ถือว่าทีมแพทย์ที่ถวายการรักษานั้นประสบความสําเร็จ

เปิดใจอดีตหัวหน้าแพทย์ถวายงาน เสียงพสกนิกร 'ทรงพระเจริญ' ช่วยพ่อหลวงพระพักตร์แจ่มใส

ครั้งหนึ่งพระองค์ท่านตรัสถามคณะแพทย์ฯ ว่า ‘ทาง รพ.ศิริราช มีต้นศรีตรังหรือยัง’ เมื่อพระองค์ท่านทรงทราบว่ายังไม่มี จึงมีรับสั่งให้นําต้นศรีตรัง มาจาก จ.ตรัง โดยเสด็จฯ มาทรงปลูกด้วยพระองค์เอง อีกทั้งยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่พระองค์ท่านตรัสถามว่า ‘พวกศิริราชว่ายน้ำกันเป็นหรือเปล่า’ ก็ได้สร้างความปลื้มปีติให้กับคณะแพทย์ฯ ที่ถวายการรักษาเป็นอย่างมาก ในน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงเป็นห่วงประชาชน นอกจากนี้ พระองค์ได้มีรับสั่งให้ รพ.ศิริราช จัดทําสถานที่อ่านหนังสือให้แก่นักศึกษาแพทย์อีกด้วย ซึ่งถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

ในมุมความประทับใจต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะผู้ที่ได้ถวายการรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด กล่าวอย่างปลื้มปีติว่า

“พระองค์ทรงมีพระเมตตา ทรงมีความห่วงใยประชาชนของพระองค์ท่าน ทุกหมู่เหล่า และทุกเรื่อง”

เปิดใจอดีตหัวหน้าแพทย์ถวายงาน เสียงพสกนิกร 'ทรงพระเจริญ' ช่วยพ่อหลวงพระพักตร์แจ่มใส
เปิดใจอดีตหัวหน้าแพทย์ถวายงาน เสียงพสกนิกร 'ทรงพระเจริญ' ช่วยพ่อหลวงพระพักตร์แจ่มใส