ลุง-ป้า วัยเกษียณ แห่สมัครผู้ประกันตนมาตรา 40 คึกคัก ทะลักมากันจนล้นห้อง ปู่วัยดึกยกนิ้วบอก สุดคุ้มควักกระเป๋าแค่เดือนละ 100 รัฐจัดให้อีก 100 แถมส่งเงินย้อนหลังได้ถึงปี 55 เงินออมยามชรา ยื่นสมัครกันจนล้นห้อง ทุกพื้นที่ ยอดเกินเป้ากว่า 2 ล้านคน

วันที่ 4 ธ.ค. หลังจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จัดโครงการขยายความคุ้มครองประกันสังคม มาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ให้แก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระและผู้สูงวัย เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ในการส่งเสริมการออมของแรงงานนอกระบบและผู้เกษียณอายุราชการ โดยเปิดให้คนอายุ 60 ปี ขึ้นไปสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้ทุกทางเลือก ส่วนอายุเกิน 65 ปี ให้สมัครทางเลือกที่ 3 เพื่อรับสิทธิประโยชน์การออมเงินยามชราภาพ ปรากฏว่า ในช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนปิดรับสมัครในวันที่ 8 ธ.ค. ในสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ต่างๆ มีคุณลุง คุณป้า ให้ลูกหลานพามายื่นใบสมัครอย่างหนาแน่น

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ชั้น 6 สำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่ 3 ดินแดง กรุงเทพฯ มีผู้สูงอายุซึ่งส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 60 ปีขึ้นไป แห่กันเข้ามาสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จนคนล้นออกมานอกห้อง จากการสอบถามบอกว่ามาสมัครเพราะจ่าย 100 ได้ฟรีอีก 100 แต่ส่วนใหญ่ยังไม่รู้รายละเอียดของสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ เจ้าหน้าที่จึงต้องคอยชี้แจงทำความเข้าใจ ถึงการจ่ายเงินสมทบตามมาตรา 40 มี 3 ทางเลือก

...

ทางเลือกที่ 1 เดือนละ 100 บาท ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท รัฐบาลจ่าย 30 บาท คุ้มครองกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ทางเลือกที่ 2 เดือนละ 150 บาท ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท รัฐจ่าย 50 บาท คุ้มครองเหมือนทางเลือกที่ 1 แต่เพิ่มเงินชราภาพ ส่วนทางเลือกที่ 3 จ่าย 200 บาท ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท รัฐจ่าย 100 บาท คุ้มครองกรณีชราภาพ ทางเลือกที่ 4 จ่ายสมทบ 300 บาท จ่ายเอง 170 รัฐสนับสนุน 130 คุ้มครองกรณี ประสบอันตราย/เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ ทางเลือกที่ 5 จ่าย 350 จ่ายเอง 200 รัฐจ่าย 150 คุ้มครอง กรณี ประสบอันตราย/เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ (เงินบำเหน็จ) ชราภาพ (เงินบำนาญ) โดยผู้สูงอายุ ที่อายุ 60-65 ปี สมัครได้ทุกทางเลือก ส่วนคนที่อายุ 65 ปีขึ้นไป สมัครได้เฉพาะทางเลือกที่ 3 ในกรณีเงินชราภาพเพียงอย่างเดียว

นายนิวัฒน์ เฉลิมสุขศรี อายุ 70 ปี มาจากย่านห้วยขวาง กล่าวว่า เมื่อก่อนเป็นพ่อค้าขายผัก แต่ตอนนี้เลิกขายเพราะอายุมาก เพื่อนส่งไลน์มาชวนให้ไปสมัครมาตรา 40 ตนเห็นว่า มีสิทธิประโยชน์น่าสนใจ เพราะได้เงินออมยามแก่เฒ่า ส่งเงินสมทบ 100 บาท รัฐบาลจ่ายสมทบให้อีก 100 บาท ทำให้มีเงินออมเดือนละ 200 บาท รวมกับเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 700 บาท จะมีเงินเดือนละ 900 บาท ทุกวันนี้ ลูกๆ ให้ค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง ตั้งใจจะออมเงินไว้เป็นค่าประกอบพิธีศพตัวเอง จะได้ไม่เดือดร้อนลูกหลาน

ด้านนางพุฒทรา ชื่นชอบ อายุ 68 ปี อดีตลูกจ้างประจำสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ตนยังไม่เข้าใจรายละเอียดในสิทธิประโยชน์ ในการสมัครแต่ละช่วงอายุ จึงต้องสอบถามจนเข้าใจว่า อายุเกิน 65 ปี สามารถสมัครในทางเลือกที่ 3 เพียงอย่างเดียว คือ กรณีเงินออมไว้ใช้ยามชราเท่านั้น จ่ายเดือนละ 100 บาท รัฐบาลให้อีก 100 บาท และยังสามารถจ่ายย้อนหลังไปถึงปี 2555 ได้ด้วย ทำให้มีเงินออมทันทีกว่า 6 พันบาท เพราะรัฐบาลจ่ายสมทบย้อนหลังให้เท่ากัน ถ้าอยากจะยกเลิกเมื่อใด ก็สามารถเอาเงินออกมาใช้ได้ ตนเห็นว่าดีที่ไม่ต้องออมนาน จึงชวนเพื่อนๆ มาสมัคร เพราะจะหมดเขตวันที่ 8 ธ.ค. ไม่นึกว่าคนจะมากขนาดนี้

ด้านนายโกวิท สัจจวิเศษ ผู้ตรวจราชการกรมสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในฐานะโฆษก สปส. กล่าวว่า สปส. เปิดรับสมัครผู้ประกันตนมาตรา 40 มานานแล้ว โดยกำหนดอายุที่ 15-60 ปี แต่ในปีนี้ ได้ให้โอกาสผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 65 ปีขึ้นไป สมัครเป็นผู้ประกันตนได้ ถึงวันนี้มีผู้มาสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ทั่วประเทศ จำนวน 2,041,520 คน แยกเป็น 5 ทางเลือก โดยทางเลือกที่ 2 ที่จ่ายเงินสมทบเดือนละ 150 บาท ในจำนวนนี้ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท รัฐจ่าย 50 บาท คุ้มครองกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และเงินออมชราภาพ มีคนสมัครมากที่สุด 1,476,707 คน ผู้สูงอายุที่อายุเกิน 65 ปี ที่สมัครทางเลือกที่ 3 ต้องจ่าย 200 บาท ผู้ประกันตนจ่ายเอง 100 บาท รัฐจ่ายสมทบ 100 บาท คุ้มครองกรณีชราภาพ ได้เงินออม มีคนสมัคร 156,483 คน

...

โดยสำนักงานประกันสังคมทุกแห่ง มีคนสมัครวันละกว่า 1,000 คน คาดว่าถึงวันที่ 8 ธ.ค. จะมีสมัคร 3-4 หมื่นคน ส่วนการยุบรวมกองทุนประกันสังคม มาตรา 40 เข้ากับกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ยังต้องมีการศึกษารายละเอียด