ศาลฎีกาสั่งปรับ "พระเกษม อาจิณณสีโล" 2,000 บาท ในคดีความผิดดูหมิ่นเหยียดหยามต่อศาสนวัตถุ เจ้าตัวโอด ใช้มือตบพระพักตร์องค์พระพุทธชินราชจำลองไม่ผิดวินัย พวกผิดวินัยเต็มบ้านเต็มเมืองไม่ไปจับ

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 25 พ.ย.57 ที่ศาลจังหวัดหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้พิพากษาได้นั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่ นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผอ.สำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นผู้เสียหายแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.น้ำหนาว ให้ดำเนินคดีกับ พระเกษม อาจิณณสีโล แห่งที่พักสงฆ์สามแยก บ้านห้วยยางทอง ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ในข้อหาดูหมิ่นเหยียดหยามศาสนวัตถุ จนเป็นข่าวครึกโครมลงหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2551 และศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 ให้ยกฟ้อง ต่อมาอัยการจังหวัดหล่มสักอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาวันที่ 13 มีนาคม 2555 ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี และปรับกระทงละ 10,000 บาท รวม 2 กระทง จำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี จำเลยยื่นฎีกา

ผู้พิพากษาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ว่า ที่จำเลยยื่นฎีกาต่อสู้ว่า ผอ.สำนักพุทธ ไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องเข้าเป็นโจทก์นั้น และศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยโดยไม่ต้องส่งกลับไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการกระทำความผิดของจำเลยนั้นเป็นคดีอาญาแผ่นดิน เมื่อมีผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้วก็สามารถดำเนินคดีกับจำเลยได้ ประเด็นที่จำเลยนำป้ายข้อความ “ทองเหลืองหล่อนี้ ไม่ใช่พุทธเจ้าแน่ ไม่ต้องกราบมัน” และการใช้มือตบพระพักตร์องค์พระพุทธชินราชจำลองนั้น ถือเป็นความผิดที่กระทำการดูหมิ่นเหยียดหยามต่อศาสนวัตถุ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ใครก็ยอมรับว่าพุทธรูปเป็นตัวแทนของพุทธเจ้าที่พุทธศาสนิกชนใช้กราบไหว้ แม้จำเลยต่อสู้ว่าเป็นการเผยแพร่พุทธศาสนานั้น จำเลยสามารถทำได้แต่ต้องไม่กระทำละเมิดต่อกฎหมาย ส่วนการลงโทษจำคุกและรอลงอาญาของศาลอุทธรณ์นั้นรุนแรงเกินไป

...

ทั้งนี้ จำเลยมีความมุ่งมั่นศึกษาในพระธรรมวินัยในพุทธศาสนา จึงพิพากษาให้ไม่ลงโทษจำคุกและรอลงอาญาจำเลย และให้ลงโทษปรับกระทงละ 2,000 บาท จำนวนสองกระทง รวม 4,000 บาท การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดค่าปรับให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือให้จำเลยจ่ายค่าปรับ 2,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ภายหลังฟังคำพิพากษา พระเกษม กล่าวว่า ได้ชำระค่าปรับไว้ที่ศาลอุทธรณ์ จำนวน 20,000 บาทไปแล้วนั้น เมื่อหักค่าปรับตามคำพิพากษาศาลฎีกา จำนวน 2,000 บาท ทำให้ต้องรับเงินคืนจำนวน 18,000 บาทนั้น ไม่สามารถเซ็นชื่อรับเงินคืนได้เพราะเป็นพระ คงจะต้องปล่อยให้ครบ 5 ปี และตกเป็นของหลวงไป ในวันนี้ถือเป็นที่สุดแล้ว โทษจำคุกไม่มี แต่มีความผิดเพราะไปกวนรูปปั้นเขาจึงต้องโดนปรับตามเรื่องของโลก แต่ทางธรรมไม่ผิด

"กระแสโลกให้เราผิดก็จริง แต่ตนเองไม่เคยผิดวินัยและไม่ควรผิด พวกผิดวินัยเต็มบ้านเต็มเมืองก็คือพวกเถรสมาคม มีเงินเยอะก็ผิดเยอะ และเห็นด้วยว่าควรให้ตรวจสอบทรัพย์สินพระ บรรดาผู้ไปคัดค้านก็ถือว่าผิดวินัย ส่วนตัวแล้วพร้อมให้ตรวจสอบ พวกพระที่ก่อนบวชยากจนบวชเสร็จแล้วร่ำรวยเยอะแยะ ใครกล้าไหมพวกที่ไปตรวจสอบพระเหล่านี้ พอไปตรวจสอบพระเอาเงินยัดให้ก็รับเงินแล้วเดินออกจากวัดจบกันไป ขอให้คอยดูช็อตต่อไป จะมีอะไรเด็ดกว่านี้อีกเยอะ และขอเรียกร้องให้มีการจัดตั้งศาลสงฆ์ พระผู้ใหญ่กล้ากันหรือไม่ ตนพร้อมเป็นจำเลยในศาลสงฆ์" พระเกษม กล่าว