“โรคหัวใจ”ยุคปัจจุบันมีความเสี่ยง ที่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต โดยเฉพาะพบผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจมากขึ้น โดยมีสาเหตุ หลักมาจากสิ่งแวดล้อม...แนวทางการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป
พญ.ปิยนาฎ ปรียานนท์ สถาบันหัวใจเพอร์เฟคฮาร์ท โรงพยาบาลปิยะเวท บอกว่า ทั้งอาหารการกิน รูปแบบการดำเนินชีวิต ทำให้คนไข้โรคหัวใจบางชนิด มีอัตราการเกิดที่สูงขึ้นและพบบ่อยขึ้นอย่างมาก ประเด็นสำคัญคนเป็นโรคหัวใจมีอายุน้อยลง โดยเฉพาะในโรคหัวใจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหลอดเลือดหัวใจตีบ
“คนเริ่มเป็นที่อายุน้อยมาก เคสที่เจอในช่วงหลังๆ ผู้ป่วยอายุแค่ 20 กว่าปี มาด้วยอาการหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน”...
สำหรับอันดับปัจจัยเสี่ยง คุณหมอปิยนาฎ บอกว่า อันดับหนึ่งยังคงเป็นเรื่องของอายุ เพราะว่าปัจจัยส่งเสริมการเกิดโรคหัวใจความเสื่อมเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดโรคหัวใจที่สำคัญ หมายถึงว่า...อายุยิ่งมากยิ่งมีอิทธิพลต่อการเกิดโรคหัวใจ “อวัยวะต่างๆในร่างกายรวมทั้งหัวใจก็เสื่อมลง ทำหน้าที่ได้ไม่เหมือนเดิม”
อันดับที่สอง...สาม...สี่ ปัจจัยเสี่ยงมาจากโรคประจำตัวอื่นๆ โดยเฉพาะเบาหวาน ซึ่งส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจสูงมาก มีสัดส่วนน่าจะเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ ที่คนไข้เบาหวานจะมีโอกาสเกิดโรคหัวใจได้ในอนาคต
ถัดมาก็ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เรียงลำดับกันลงมา นับรวมไปถึงการสูบบุหรี่ แล้วก็พบด้วยว่าผู้ที่มีประวัติโรคหัวใจในครอบครัวอยู่เดิม โดยเฉพาะคนที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มมีโรคหัวใจที่ตอนอายุน้อย บุคคลเหล่านี้ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคหัวใจตอนที่อายุน้อยเหมือนกัน
นอกนั้นปัจจัยรองๆลงมา ก็จะเป็นเรื่องของความเครียด การไม่ออกกำลังกาย การพักผ่อนน้อย ก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มท้ายๆ...ที่พบในปัจจุบัน คนไข้ที่เป็นโรคหัวใจจะมีปัจจัยเหล่านี้รวมๆกันในหลายๆปัจจัย
...
“การป้องกัน ดีกว่าการรักษาแน่นอน” ...สำหรับผู้ที่ยังไม่มีความเสี่ยงเลย อายุยังน้อยมาก แล้วก็ยังตรวจไม่พบโรคประจำตัวใดๆ ยังไม่มีเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง แล้วไม่สูบบุหรี่ ถือว่ายังไม่มีความเสี่ยง บุคคลเหล่านี้ให้ดูแลสุขภาพตัวเองโดยรวมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย... “รับประทานอาหารในปริมาณไม่มาก ไม่ทานเค็ม ไม่ทานมัน หาเวลาออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักตัว”
“การสูบบุหรี่” แม้ว่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่ง แต่ในสภาวะสิ่งแวดล้อมในเมืองใหญ่ ควันพิษที่ฟุ้งกระจายไปทั่ว ผู้คนสูดรับเอาฝุ่นควันเข้าปอดแบบไม่ตั้งใจ กรณีอย่างนี้มีความเสี่ยงมากน้อย...
“อากาศพิษจะเป็นตัวที่ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมมากกว่า” คุณหมอปิยนาฎ ว่า “แล้ว...ถ้าจะมีผลต่ออวัยวะใดๆก็จะเป็นเรื่องของปอด ส่งผลต่อระดับออกซิเจนในเลือด ถ้าจะส่งผลต่อหัวใจโดยตรง...คงไม่”
ในวันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2557 นี้ เวลา 08.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมรสสุคนธ์ ชั้น 16 สถาบันหัวใจเพอร์เฟคฮาร์ท จะจัดงานสัมมนาสุขภาพ “ไม่ต้องผ่า ไม่ต้องตัด ก็ขจัดโรคหัวใจได้” ให้ความสำคัญกับผู้ป่วย เริ่มตั้งแต่ดูแลตนเองอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคหัวใจ ตลอดจนถ้าเป็นแล้วจะรักษาอย่างไร
ดูรายละเอียดได้ที่ www.piyavate.com กิจกรรมสุขภาพที่น่าสนใจ อาทิ เสวนาการบำบัดโรคหัวใจแบบองค์รวม การออกกำลังกาย การดูแลป้องกันโรคหัวใจ การรักษาและฟื้นฟูให้ตรงจุดแบบไม่ต้องผ่าตัด การบรรยายเรื่องโรคหัวใจทำไมต้องแข่งกับเวลา พร้อมบริการตรวจอายุหลอดเลือดหัวใจ การทดสอบการทรงตัว
คุณหมอปิยนาฎ ย้ำว่า “โรคหัวใจ” กรณีเป็นแล้วก็ต้องประคับประคองตัวระวังให้ดี โรคหัวใจมีหลายชนิด...หลายรูปแบบ แล้วก็มีอาการแสดงของคนไข้ที่กว่าจะเข้ามารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลก็มีหลายระดับ หากเข้ามารับการรักษาในระยะแรกๆก็จะรักษาง่ายกว่า แล้วความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตก็จะต่ำกว่า
ถ้าถามถึงคนไข้ที่มีความเสี่ยงสูง มีโอกาสเสียชีวิตมาก ก็มักจะเป็นคนไข้โรคหัวใจที่เจอในกลุ่มปัจจุบัน “กลุ่มที่มาด้วยอาการของหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน”
“พวกนี้เป็นคนไข้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมาก ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ลักษณะอาการแสดงของผู้ป่วยที่มีอาการนี้ เบื้องต้นก็จะต้องทราบว่าคนไข้มาด้วยอาการแน่นหน้าอก แล้วก็เหนื่อย หายใจไม่ทัน...”
ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะมาโรงพยาบาลหลังจากที่มีอาการไม่นาน เพราะฉะนั้นมาถึงโรงพยาบาลเร็วก็จะมีความเสี่ยงไม่สูงมาก รักษาได้ทัน ความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตก็จะน้อยลง
การตรวจรักษาโรคหัวใจครบวงจรต้องวางระบบให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับโรคหัวใจในทุกสถานการณ์ จำเป็นต้องมีขั้นตอนวินิจฉัย วิธีการรักษาจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหัวใจในทุกสาขา รวมทั้งทีมบุคลากรที่ช่วยให้การตรวจรักษาเป็นไปอย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยก็มีความสำคัญ จะช่วยลดเวลาทั้งในการตรวจการรักษาของผู้ป่วยลงได้ ข้อสำคัญในคนไข้บางกลุ่ม...บางคน ที่แน่นหน้าอกแล้ว เป็นอยู่นาน แล้วไม่มาโรงพยาบาล จนกระทั่งอาการเป็นมากขึ้น เริ่มมีน้ำท่วมปอด เริ่มช็อก...ถ้ามาถึงโรงพยาบาลเริ่มช็อกแล้ว มีความดันตกแล้ว น้ำท่วมปอดแล้ว คนไข้พวกนี้ มีหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันเหมือนกัน
“แต่มาโรงพยาบาลตอนที่เป็นหนักกว่า...ก็มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่า ก็ขึ้นอยู่กับว่ามาถึงโรงพยาบาลในสภาพไหน”
ประเด็นเน้นย้ำ “คนไข้โรคหัวใจ” ที่พบในกลุ่มอายุน้อยมากจนน่าตกใจ ที่เจอเกือบทั้งหมด จะเป็นคนไข้ผู้ชาย...ดูจากภายนอกก็แข็งแรง ที่สังเกตชัด ต้องบอกเลยว่า “ร้อยทั้งร้อยสูบบุหรี่”
อาจแสดงให้เห็นว่า ถ้า “คนอายุน้อย” จะเป็นโรคหัวใจ มักจะทำตัวเอง ให้มีความเสี่ยงเอง ด้วยการสูบบุหรี่ แล้วคนไข้กลุ่มนี้ก็มักจะเป็นคนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย ใช้ชีวิตค่อนข้างเครียด ทำงานออฟฟิศ
ประเด็นปัญหาก็คือว่า ถ้าเป็นลักษณะของหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันแบบนี้ คนไข้กลุ่มนี้...อายุน้อยดูภายนอกแข็งแรง จะไม่มีอาการแสดง ส่งสัญญาณให้รู้เป็นการบอกเตือนล่วงหน้า
การตรวจหาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาจทำได้ด้วยการตรวจวัดความดันเลือด ดัชนีมวลกาย ภาวะอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ระดับน้ำตาลและน้ำตาลสะสมในเลือด ระดับไขมันในเลือด
ส่วนการตรวจหาร่องรอยของโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะแรกเริ่มก่อนมีอาการ ก็เช่นการตรวจสภาพของหลอดเลือดแดงของแขนและขา...หาร่องรอยการตีบของหลอดเลือดส่วนปลาย การแข็งตัว หรือไม่ยืดหยุ่นของหลอดเลือด, การตรวจหาร่องรอยการสะสมไขมัน และการตีบตันในหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ
ฝากทิ้งท้ายสำหรับคนอายุน้อย ที่คิดว่าตัวเองแข็งแรง เอ่ยชื่อ “โรคหัวใจ” ยังเป็นเรื่องไกลตัว อีกนานหลายปีกว่าจะเป็นเรื่องใกล้ตัว
คุณหมอปิยนาฎ บอกว่า ทุกคนต้องไม่ประมาท ต้องสังวรตัวเองไว้ว่า แม้ว่าจะอายุน้อย โอกาสที่จะเป็นโรคที่ร้ายแรงก็ยังมี เพราะฉะนั้นต้องดูแลสุขภาพโดยรวมให้เหมาะสม ต้องควบคุมอาหาร ควบคุมน้ำหนักตัว หาเวลาออกกำลังกาย แล้วก็อย่าให้เครียดจนเกินไป
ที่เป็นห่วงก็คือเรื่องของการ “สูบบุหรี่” ...ต้องใช้คำว่า เด็ก...วัยรุ่นสมัยนี้สูบบุหรี่กันตั้งแต่อายุน้อยๆ แล้วก็ยังมีสารเสพติดในลักษณะนี้ในหลากหลายรูปแบบ ที่ตัวเขาเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นสิ่งน่ากลัว
“ถ้ามีการรณรงค์ให้รู้ถึงโทษ ความเสี่ยงที่เป็นภัยเงียบว่าเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของโรคหัวใจ เป็นแล้วร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ก็อาจจะฉุกคิดได้บ้าง สามารถลด ละ เลิก พฤติกรรมเสี่ยงเหล่านั้นได้”
“โรคหัวใจ” สำหรับคนไทยมีสถิติเสียชีวิตเป็นอันดับสอง รองจาก “โรคมะเร็ง” จึงเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวในยุคปัจจุบัน.