หากย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน เมื่อเอ่ยชื่อ "เด็กหญิงวัลลี" หลายคนจะต้องนึกถึงภาพของเด็กสาวในชุดนักเรียนแห่งหนึ่งใน อ.เมืองสมุทรสงคราม โดยเธอในตอนนั้นได้วิ่งกลับบ้านในช่วงพักกลางวันเพื่อมาดูแลแม่ที่ป่วย และยายที่ตาบอดเพียงลำพัง กระทั่งปี 2524 คณะครูโรงเรียนได้ทราบเรื่องจึงให้การช่วยเหลือ จากนั้นเรื่องความกตัญญูของเธอ รู้มาถึง "หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" จึงนำมาลงข่าวหน้าหนึ่ง เพื่อยกย่องว่าเธอคือ "เด็กหญิงยอดกตัญญู"
หลังจากเวลาผ่านไปหลายสิบปี "ด.ญ.วัลลี ณรงค์เวทย์" ในวันก่อน กลายเป็น "วัลลี บุญเส็ง" ในวัย 46 ปี ได้เผยเรื่องราวที่แสนทรมานใจที่สุดในชีวิต ทั้งที่เธอเป็นคนดี มีความกตัญญูกับครอบครัว แต่กลับถูกนำภาพที่ดีงามในอดีต มาทำปู้ยี่ปู้ยำผ่าน "รายการตลก" ทำให้รู้สึกว่าหัวใจถูกเหยียบย่ำจนยากจะรับได้ ด้วยเหตุนี้เธอจึงต้องออกมาปกป้องศักดิ์ศรี พร้อมกับตั้งคำถามว่า "การที่คนๆ หนึ่งต้องนอนเป็นอัมพาตมีคนป้อนข้าวให้...มันตลกหรือ!!?"
วัลลี เผยความรู้สึกกับ "เฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ว่า ช่วงหลังไม่รู้เกิดอะไรขึ้น หลายรายการต้องเอาชีวิตของเธอมาทำเป็นเรื่องตลก ไม่เคารพสิทธิส่วนบุคคลของเรา บางรายการหยามแบบน่าเกลียด และไม่มีมารยาทอย่างมาก เอาเรื่องที่แม่เราป่วยมาเล่น การที่แม่เราพิการ เราก็เจ็บปวดหัวใจแล้ว แต่ทุกวันนี้เอาความพิการของแม่มาล้อเลียน ถามว่ามันสมควรหรือไม่ ไม่คิดหรือว่าเรายังมีชีวิตอยู่ วัลลีอยากจะถามจริงๆ ความพิการของแม่วัลลี มันเป็นเรื่องตลกหรือ แม่ใคร ใครก็รัก
"ส่วนมากจะเล่นแบบแนวป้อนข้าวให้ จากนั้นก็จะใช้ช้อนยัดปาก อุดปาก ไม่กินใช่มั้ย...ก็กระทืบเลย นี่คือภาพของวัลลีที่ออกสู่สาธารณะหรือ..? ที่ผ่านมา เราทำดีมาตลอด แต่ทำไม ถ้าจะทำเรื่องวัลลี ต้องทำเรื่องตลก ไม่เข้าใจ...ทำไม วันนี้เรารับไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะการดูหมิ่นบุพการี สิ่งที่อยากจะถามผู้เกี่ยวข้องวงการตลกว่า การที่คนๆ หนึ่งนอนเป็นอัมพาตต้องมีคนป้อนข้าวให้มันตลกใช่มั้ย มันใช่สิ่งที่เฮฮาหรือ (วัลลีเริ่มมีเสียงสั่นเครือ) อยากขอให้คนที่ทำรายการมีวิจารณญาณ มีสามัญสำนึก จะทำอะไรให้เคารพสิทธิ์คนอื่น นึกจะทำอะไร หากทำโดยไม่เคารพคนอื่น คุณจะอยู่ในสังคมได้ยังไง"
...
วัลลี ในฐานะแม่ที่ต้องดูแลลูกชาย วัย 21 ปี และ ลูกสาว ในวัย 15 ปี เล่าต่อว่า หากตอนนี้อยู่เฉยๆ ก็จะโดนรายการอื่นๆ เอาไปทำเป็นลูกโซ่ ขนาดตลกงานวัดยังเอาไปเล่น ความพิการเป็นเรื่องตลกของคนยุคนี้หรือ ทำไมต้องให้เราอยู่ในภาพวิ่งในชุดนักเรียนบ้าๆ บอๆ ใส่ชุดอะไรก็ไม่รู้ ป้อนข้าวแม่ ที่ไม่เหมือนคนพิการ แต่เหมือนคนสติไม่ดี ถามว่า การป้อนข้าวแม่แบบยัดๆ แล้วกระทืบแม่คือความกตัญญูที่คุณสื่อให้คนเห็นหรือ เราทนกับเรื่องแบบนี้มาเป็นสิบปีแล้ว ตั้งแต่ลูกสาวยังเล็ก ตอนนี้ลูกสาวอายุ 15 ปีแล้ว จุดที่ทำให้รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว คือ ลูกเราเริ่มโต ลูกรู้สึกอับอาย สามี ก็มีตำแหน่งใหญ่ขึ้น เราก็อายุเยอะขึ้น เราไม่ใช่เด็กอายุ 12-13 ขวบ เหมือนเมื่อก่อน เรามีคนรอบตัว เราต้องลุกขึ้นปกป้องศักดิ์ศรี
วัลลี เล่าต่อว่า ตอนนี้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ผลิตรายการแล้ว 3 รายการ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจจะอยู่ในขั้นตอนออกหมายเรียกคนทำรายการ หากเอ่ยชื่อคนทำรายการ ก็ล้วนเป็นคนดังของประเทศทั้งนั้น เบื้องต้น ทางเจ้าหน้าที่รับเป็นคดีหมิ่นประมาท กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะรายการพวกนี้ไปอยู่ในยูทูบด้วย สมัยก่อน รายการออกอากาศก็จบไป คนมาพูดเราก็อาย แต่ก็จบไป แต่ตอนนี้ไม่ใช่ มีลงในยูทูบ ดูย้อนหลังได้ ปีหนึ่งคนดูเป็นล้านๆ คน ตอนนี้ก็เลยอยู่ไม่ได้แล้ว ต้องดำเนินการทำอะไรสักอย่าง หากอยู่นิ่งก็จะโดนแบบนี้ไม่จบสิ้น
"ถ้าเป็นไปได้ อยากจะขอให้คนทำรายการทีวีลักษณะนี้ให้หยุดเถอะ ไม่อยากไปเจอกันที่ศาล เพราะจะไม่ยอมความเด็ดขาด เพราะที่ผ่านมา เอาเรื่องวัลลีไปทำจนได้รับความเสียหาย ที่ผ่านมา บางคนเอาเรื่องเราไปทำนวนิยาย ทั้งที่เราไม่รู้เรื่อง ขอโทษมาก็คือจบ บางรายการเอาเรื่องเราไปทำซีรีส์ตลกต่อเนื่องเป็นอาทิตย์ อยากจะทำอะไรตามอำเภอใจ โดยไม่เคยขออนุญาตเรารับไม่ได้ กลับกันหากนำเสนอในสิ่งดีๆ ไม่ทำความอับอายให้ครอบครัว เราก็จะไม่ว่าอะไรเลย"
"บอกตรงๆ เจอเรื่องแบบนี้เราท้อแท้มาก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กวนใจเรามาโดยตลอด และเราต้องแบกรับความอับอายโดยตลอดเลยหรือ" นางวัลลี ตั้งคำถาม กับผู้เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ วัลลี ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เป็นห่วงที่สุด คือ ลูกทั้งสองคน เวลาสอนลูก เราจะไม่บังคับเขา อยากเรียนอะไรก็จะให้เรียน แต่ทุกอย่างจะอยู่ในสายตา สิ่งที่พยายามสอน คือ อยากให้เขาเป็นคนดี การเรียนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด อยากให้ตั้งใจเรียน เพราะอนาคตจะสบายหรือลำบาก ก็ขึ้นอยู่กับตรงนี้ โดยพยายามเน้นย้ำให้โตเป็นคนดี ไม่เป็นภาระสังคม และไม่เบียดเบียนใคร
ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องมีการร้องเรียนก่อน หากมีการร้องเรียนมาแล้วจะได้มีการตรวจสอบว่าเรื่องราวมีความผิดถึงขั้นไหน หาก กสทช. จะลงโทษ จะต้องเป็นเรื่องผิดกฎหมาย หากเป็นเรื่องหมิ่นประมาทบุคคล กสทช. จะทำอะไรไม่ได้ ส่วนใหญ่จะมีการฟ้องร้องกันเอง อย่างไรก็ตาม กสทช. ก็จะดูเรื่องผลกระทบด้วย เช่น รายการหนึ่งที่เอาคนป่วยออทิสติก มาออก เราก็สามารถดำเนินการปรับได้ เพราะถือว่าเป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่เบื้องต้น ต้องดูความหนักเบาของเนื้อหาก่อน อย่างไรก็ตาม จากที่ฟังเบื้องต้น รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไม่เหมาะสม ดังนั้น จึงอยากให้มีการร้องเรียนเข้ามา หากมีการร้องเรียนแล้ว เชื่อว่าต่อไปจะทำให้รายการ หรือ สื่อ ระมัดระวังการนำเสนอมากขึ้น อาจจะมีการเชิญช่องต่าง ๆ มาทำความเข้าใจ
"หน้าที่ของ กสทช. จะตัดสินในกรณีที่ทำผิดกฎหมาย แต่ไม่ได้ตัดสินเรื่องจริยธรรม หากรายการไหน หรือ ทีวีช่องใด ทำผิดจริยธรรม เราทำได้แค่ตักเตือน ขอความร่วมมือ และส่งเรื่องไปยังองค์กรวิชาชีพ แต่ถ้าผิดกฎหมาย เราอาจจะลงโทษปรับ ซึ่งมีโทษสูงสุด 5 แสนบาท สิ่งที่เราพยายามทำคือ ทำให้รู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันกระทบกับคน เราก็ต้องตักเตือน หากวัลลีร้องเรียนมาเราก็จะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาตรวจสอบ พร้อมสืบสวน สอบสวนให้ เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน" น.ส.สุภิญญา กล่าว
...
ในปัจจุบัน นางวัลลี ได้ประกอบอาชีพส่วนทำธุรกิจส่วนตัว โดยแต่งงาน พ.ต.ท.บุญเรือน บุญเส็ง สว.ฝอ.3 ตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสงคราม มีบุตรธิดาด้วยกัน 2 คน ที่ผ่านมา อัตชีวประวัติของเธอ เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้ว เมื่อกว่า 20 ปีก่อน ในชื่อเรื่อง "วัลลี เด็กหญิงยอดกตัญญู" โดยสมัยนั้นถือเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก