พลังโลกออนไลน์...กระแสกด “ไลค์” กด “แชร์” ผ่านสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก สร้างผลลัพธ์ได้ทั้ง “ดี” และ “ร้าย” น่าสนใจอีกว่า ไม่ว่าจะเป็นข่าวร้าย...ข่าวดี ในโลกออนไลน์ก็สามารถขุดอดีตมาเป็นปัจจุบัน ไม่ต่างกับการเอาเรื่องเก่ามาเล่าเป็นเรื่องใหม่ได้
กรณี...กระแสข่าว “บริษัทนมไทย–เดนมาร์กล้มละลาย” หรือ “นมวัวแดง...ล้มละลาย” ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2554 แล้ว แต่มีคนนำกลับมาแชร์ให้เป็นกระแสอีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ก็เช่นกัน
นพดล ตันวิเชียร รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) บอกว่า ตอนนั้นเราได้แถลงข่าวชี้แจงไปแล้ว และตอนนี้ใครที่เป็นแฟนคลับนมวัวแดงก็จะเข้าใจดีว่านี่เป็นข่าวเก่า
ปัญหามีว่า...เมื่อมีการนำข่าวเก่ากลับมาพูดถึงอีกครั้ง แถมโพสต์รูปกล่องนมวัวแดง...ไทย-เดนมาร์ก ไปประกอบข่าวอย่างชัดเจนแจ่มแจ๋ว แล้วก็แชร์ข่าวนี้กระจายส่งต่อๆกันไปในวงกว้าง ทำให้ผู้ที่ไม่รู้เกิดความเข้าใจผิด
หลายคนเห็นก็ตกใจ นมวัวแดงของคนไทยเจ๊ง...แล้วหรือ?
นพดล บอกว่า การมีข่าวนี้ขึ้นมาก็ถือเป็นโอกาสที่เราจะได้ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจอีกครั้งหนึ่ง นมไทย-เดนมาร์ก...มีการเติบโตปีละกว่า 10% ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ดี และส่วนแบ่งการตลาดเราก็เพิ่มขึ้นตลอด โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา...มียอดโตปีละกว่า 50%
ย้อนไป 3 ปีที่แล้วเรามียอดขายปีละประมาณ 200 ล้านบาท แต่ปัจจุบันปีที่ผ่านมาเราสามารถขายได้ปีละ 600 กว่าล้านบาท และปีนี้เราตั้งเป้าว่าจะขายให้ได้ 800 ล้านบาท ปีหน้าจะทำให้ได้สัก 1,000 ล้านบาท
เบื้องลึกเบื้องหลังข่าวในโลกออนไลน์ “นมวัวแดงเจ๊ง...ถูกฟ้องล้มละลาย” อภิชาต จงสกุล ในฐานะประธานบอร์ด อ.ส.ค. มองว่า ไม่น่าจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังลึกลับซับซ้อน ไม่น่าจะมีคู่แข่งใช้ช่องทางนี้โจมตีเรา
...
“ข่าวนี้ออกมาหลายปีแล้ว เริ่มต้นมาจากการแพร่กระจายข่าวผ่านโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก วันดีคืนดี...ใครไปเจอก็อาจจะหยิบขึ้นมาคอมเมนต์ก็กลายเป็นกระแสขึ้นมาอีก” อภิชาต ว่า “อ.ส.ค.เป็นรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลเป็นเจ้าของร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีทางที่จะล้มละลาย”
ข่าวที่แพร่สะพัดออกมาในโลกออนไลน์ คนที่รู้จัก “นมวัวแดง” รู้จัก...“อ.ส.ค.” ก็จะรู้ว่าไม่เป็นความจริง
ข่าวลือแม้ว่าจะเป็นข่าวลือแต่ความเสียหายอาจจะกระทบในเรื่องความเชื่อถือของตลาดในต่างประเทศไม่มากก็น้อย...ประเด็นนี้ต้องบอกว่าตลาดต่างประเทศนมวัวแดงมีอยู่แค่ประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น กัมพูชา ลาว พม่า เราเริ่มเปิดตลาดในกลุ่มประเทศเออีซี ในตลาดเหล่านี้ค่อนข้างเชื่อมั่นในยี่ห้อนมวัวแดง
“ขนาดกล่องบรรจุจะไปเขียนเป็นภาษาของประเทศนั้นๆ เขาก็ไม่ซื้อบอกว่าเป็นของปลอม ต้องเขียนภาษาไทยเหมือนนมวัวแดงที่ขายในประเทศไทย จะเปลี่ยนแปลงใดๆคงขายไม่ได้แน่”
ข่าวลือไม่น่าจะกระทบภาพลักษณ์ ในแง่การบริหารจัดการ เนื่องจาก อ.ส.ค.เป็นองค์กรภาครัฐ เราดูแล 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นธุรกิจด้วยและส่วนที่เป็นด้านการส่งเสริม...พัฒนา
ส่งเสริมพัฒนาในเรื่องของกิจการโคนม ให้เกษตรกรเรียนรู้การเลี้ยงโคนม...อาหาร วิธีการรีดนม ส่งเสริมผลิตวัวพันธุ์ดี ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมนมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง อ.ส.ค. ประเทศไทยไม่มีความรู้ด้านนี้เลย...
ปี 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป...ไปเดนมาร์ก ทรงให้ความสนพระทัยเกี่ยวกับกิจการการเลี้ยงโคนมเป็นอย่างมาก และกลายเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ว่าด้วยการร่วมมือด้านวิชาการการเลี้ยงโคนมระหว่างประเทศไทยกับประเทศเดนมาร์ก
กิจการโคนมที่ อ.ส.ค.ทำผลิตภัณฑ์นมต่างๆในเชิงพาณิชย์ ถ้า จะว่ากันถึงเรื่องการแข่งขันในเชิงธุรกิจ เราก็มีผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ที่เป็นพื้นฐานคือใช้นมสด อาจจะเติมเป็นนมหวานบ้าง ช็อกโกแลตบ้าง...ในช่วงสองปีที่ผ่านมาเราได้ผลิตนมเปรี้ยวเป็นโยเกิร์ตพร้อมดื่มผสมคอลลาเจนขึ้นมา
ซึ่งอาจจะเป็นรายเดียวในประเทศไทยที่ใช้นมสด...ผลิตเป็นนมเปรี้ยว
และในปีนี้ อ.ส.ค.กำลังพัฒนานมสดที่ใช้เลี้ยงเด็ก เป็นนมที่เติมสารอาหาร ก็จะทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองใช้นมนี้เลี้ยงเด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไปได้เลย ซึ่งนมในกลุ่มนี้จะไม่ถูกควบคุมราคา เพราะว่ามีการเติมสารอาหารที่มีประโยชน์เข้าไปด้วย
ความต้องการบริโภคนมของคนไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสูงขึ้นพอสมควร ถ้าวัดเฉพาะนมพร้อมดื่มสมัยก่อน บริโภคกันประมาณ 13-14 ลิตร/คน/ปี แต่ตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็นใกล้ 20 ลิตร/คน/ปี ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีนมโรงเรียน เพราะเด็กกลุ่มหนึ่งประมาณ 8 ล้านคนได้บริโภคนมตลอด 200 กว่าวัน...ก็ทำให้ฐานการบริโภคเพิ่มขึ้น
สำหรับเป้าหมายในอนาคต สิ่งที่เราอยากจะเห็น...เนื่องจากอาชีพนี้เป็นอาชีพพระราชทาน จึงอยากเห็นเกษตรกรบ้านเราสามารถผลิตนมที่มีคุณภาพและมีความเป็นอยู่ที่ดี มีกำไรเลี้ยงชีพได้เป็นอาชีพที่ดีอาชีพหนึ่ง
ถึงตรงนี้...คงต้องย้ำถึงข่าวลือโลกออนไลน์ที่ว่า “นมวัวแดง... ล้มละลาย” นพดล รองผู้อำนวยการ อ.ส.ค. บอกว่า ความจริงเป็นบริษัทเอกชนที่ใช้ชื่อว่า “บริษัท นมไทย–เดนมาร์ก”
...เป็นบริษัทเอกชนที่มีการรวมตัวกันระหว่างภาคเกษตรกร ภาคเอกชน มี อ.ส.ค.ร่วมหุ้นอยู่ส่วนหนึ่ง ตั้งขึ้นเพื่อจัดจำหน่ายนมไทย-เดนมาร์ก เมื่อประมาณปี 2538 แต่พอบริหารไปได้ 2 ปี ก็บริหารต่อไปไม่ไหว...มีการล้มเลิกกิจการแล้วมีคดีความเรื่อยมา
“บริษัทฯก็มีค่านมค้าง อ.ส.ค.บางส่วน...เราเป็นเจ้าหนี้ด้วยซ้ำ พอในปี 2554 ศาลก็มีคำสั่งให้บริษัทดังกล่าวล้มละลาย ซึ่งความจริงแล้วบริษัทไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับ อ.ส.ค. และเมื่อล้มละลายไปแล้วก็ไม่มีผลอะไรต่อ อ.ส.ค.”
การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมของ อ.ส.ค.ในช่วงที่ผ่านมาก็มีหลายรูปแบบ...เคยให้ตัวแทนจำหน่ายสมัยก่อนขายรายเดียวก็มี เราขายเองก็มีสลับกันมา ซึ่งต้องยอมรับว่าผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มมีส่วนต่าง...มาร์จิ้นค่อนข้างน้อย เมื่อบริษัทเอกชนเข้ามาทำธุรกิจซึ่งเขาต้องมีกำไรอย่างน้อย 15%
ปัญหาคือ...ธุรกิจนี้กำไรค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เข้ามาดำเนินการก็ไปไม่ค่อยรอด สุดท้าย อ.ส.ค.ก็ต้องมาดำเนินการเอง กรณี บริษัทนมไทย-เดนมาร์ก ก็เช่นกัน...ที่ทำไปแล้วไม่รอด
เพราะทำจริงๆ กำไรไม่ถึง 10%
สุดท้ายนี้...อยากจะขอให้ทุกคนมั่นใจได้ว่า อ.ส.ค.เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหุ้นทั้งหมดเป็นของรัฐบาล คือ...ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของ และการ
บริหารงานในช่วงที่ผ่านมาเรามีการเจริญเติบโตก้าวหน้าตลอด มีกำไรทุกปี
“อ.ส.ค.” หรือ “องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย” เป็นรัฐวิสาหกิจเล็กๆ ทำธุรกิจนมที่ไม่ได้ใหญ่โตมากนัก ผ่านร้อนผ่านหนาวเติบโตมาได้ขนาดนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าที่ดีและน่าภูมิใจ.