หลากคดีจับแพะ หลายคดีละเมิดสิทธิมนุษยชน วงจรต่อเนื่องที่ไม่รู้ว่าจะหมดสิ้นไปจากบ้านเมืองไทยเมื่อไหร่ วันนี้สกู๊ปซีรีส์ "เปิดโปงกลจับแพะ แฉสารพัดทรมานโหด" ได้ดำเนินมาถึงตอนสุดท้ายแล้ว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปเปิดข้อกฎหมายสิทธิ์ของผู้ต้องหาควรรู้จากทนายความระดับประเทศ และการชดใช้เงินเยียวยาแก่แพะผู้บริสุทธิ์ รวมไปถึงคำแนะนำการเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิ์ของผู้ต้องหา เพื่อหวังให้เกิดการรับรู้และไม่ตกเป็นเหยื่อของความอยุติธรรม...

สิทธิ์ที่ผู้ถูกจับ ผู้ต้องหา และจำเลยควรรู้ !

นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ เปิดเผยว่า เมื่อมีการจับกุมผู้กระทำผิด เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการ จะต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงข้อกล่าวหา ซึ่งผู้ต้องหาอาจจะไม่รู้ตัวหรือลืมไปแล้วเพราะทำผิดมานาน เจ้าพนักงานจะต้องบอกผู้ต้องหาก่อนว่ากระทำความผิดข้อหาอะไร จากนั้นต้องแจ้งด้วยว่าผู้ต้องหามีสิทธิ์ให้การหรือไม่ให้การแก่เจ้าพนักงานก็ได้และผู้ต้องหามีสิทธิ์ที่จะพบทนายความเพื่อขอปรึกษา รวมไปถึงต้องแจ้งให้ญาติผู้ต้องหาทราบด้วย ซึ่งเคยมีปัญหาโต้แย้งกันว่าแจ้งอย่างไร เพราะมีบางแห่งให้โทรศัพท์ได้แค่ครั้งเดียว แตความจริงการแจ้งญาติต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ญาติผู้ต้องหาทราบเพื่อให้มาติดต่อเยี่ยมกันได้

...

หลังจากที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวแล้ว เจ้าพนักงานจะต้องรีบนำตัวไปที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุโดยเร็ว ไม่ใช่พาไปเซฟเฮาส์ และต้องให้ผู้ต้องหามีโอกาสหาทนายความ ซึ่งโดยปกติสภาทนายความจะจัดทนายความไว้ให้ทุกเขตศาลจังหวัด และจะมีทนายความอาสาออกไปช่วยเหลือ

เจ้าพนักงานทำร้ายร่างกายผู้ต้องหา ผิดกฎหมาย !!

นายเดชอุดม ระบุว่า เจ้าพนักงานทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาถือว่าผิดกฎหมาย ข้อหาทำร้ายร่างกาย ความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำร้ายร่างกายผู้ต้องหานั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการกระทำ นอกจากจะผิดมาตราหลัก คือ การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีโทษหนัก ต้องระวางโทษเป็นสิบปี และยังโดนข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวข่มขู่ รวมถึงข้อหาทำร้ายร่างกายอีกด้วย

ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ต้องหาไม่กล้าเปิดเผยว่าโดนซ้อม !?

นายเดชอุดม กล่าวว่า การสอบสวนผู้ต้องหาจะต้องมีทนายความนั่งฟังอยู่ด้วย แต่ก่อนหน้านั้นผู้ต้องหาจะถูกซ้อมหรือหลังจากนั้นเมื่อกลับไปอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าพนักงาน ผู้ต้องหาจะถูกซ้อมอีกหรือไม่ ส่วนนี้ทนายความไม่อาจทราบได้ แต่ในระหว่างที่ผู้ต้องหาพูดแต่ละประโยค ทนายความจะนั่งฟังอยู่ด้วย และคอยดูว่าระหว่างการสอบสวนไม่มีการทำร้ายผู้ต้องหา ทนายความจะนั่งอยู่กับผู้ต้องหาและเจ้าพนักงาน ประมาณ 2-3 ชั่วโมง เพราะหน้าที่ตามกฎหมายคือเป็นพยานเฉพาะช่วงสอบปากคำเท่านั้น สำหรับการที่ผู้ต้องหาจะบอกทนายความหรือไม่ว่าตนถูกเจ้าพนักงานทำร้ายร่างกายนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของผู้ต้องหาว่าจะกล้าพูดออกมาหรือไม่ ทั้งที่ตนเองก็รู้ว่าหลังจากนี้จะต้องกลับไปอยู่ในความดูแลของเจ้าพนักงาน เพราะว่าตอนนั้นยังไม่ได้ส่งตัวถึงศาล

...

ด้านทนายความจะต้องอาศัยไหวพริบปฏิภาณ เช่น หากผู้ต้องหามีร่างกายบอบช้ำ ทนายความสามารถถามได้ว่าตาเขียวเพราะอะไร ผู้ต้องหาอาจจะบอกว่าล้มไปโดนพื้นห้องน้ำ ซึ่งก็เป็นข้อแก้ตัว แต่ทนายความจะบันทึกไว้ในใจ เพื่อเอาไปใช้สู้ในชั้นศาล

"มันอยู่ที่การสังเกตของทนายความ เราเลาะหมดข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้น ถึงเวลาจริงๆ แล้ว รายละเอียดพวกนี้มันจะเป็นคำถามที่พนักงานสอบสวน พยาน ต้องตอบในศาล" นายกสภาทนายความ กล่าว

ถึงเวลาผู้ต่องหา..กลับคำให้การ !

นายเดชอุดม กล่าวว่า หากเจอมาหนักตัวผู้ต้องหามักจะพูดไม่ออก กฎหมายถึงให้พนักงานสอบสวนควบคุมตัวระยะสั้น คือ 48 ชั่วโมงเท่านั้น และนำตัวไปที่ศาลเพื่อฝากขัง แต่พนักงานสอบสวนจะขอนำตัวกลับมาควบคุมอีก ซึ่งในบางครั้งทนายความจะขอค้าน เหตุว่าการฝากขังถ้าไม่มีประกันก็ให้เข้าไปอยู่ในทัณฑสถานประเภทผู้ต้องหา ขณะที่ทุกวันนี้ในประเทศไทยฝากขังต่อศาลเสร็จแล้วนำตัวผู้ต้องหากลับมาด้วย ฉะนั้น ในระยะแรกจะฝากขังแล้วกลับมาอยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวน ประมาณ 12 วัน ซึ่งตอนนั้นตัวผู้ต้องหาก็ไม่กล้าปฏิเสธอะไร จนกระทั่งครั้งที่ 2 ไปแล้ว และทนายความขอคัดค้าน เพื่อส่งตัวเข้าเรือนจำ ช่วงนี้ผู้ต้องหาเริ่มที่จะปฏิเสธแล้ว

...

"ผู้ต้องหาเมื่อถูกฟ้องขึ้นศาลจะมีการกลับคำให้การเยอะ เพราะว่าเป็นแบบนี้ รวมถึงโอกาสที่กลับคำในชั้นสอบสวนมันไม่มี โดยเฉพาะคนรวยกับคนจนจะมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คนรวยสามารถปฏิเสธได้ตั้งแต่ต้น เพราะเขามีทนายประกบมาตลอด เจ้าพนักงานไม่กล้าทำอะไร แต่คนจนที่ไม่ได้รับการประกันตัว เขาต้องกลับเข้าไปอยู่ในความดูแลของพนักงานสอบสวนอีก และใครจะกล้าปฏิเสธ" นายกสภาทนายความ กล่าว

ฟ้องตำรวจทั้งโรงพักเคยชนะมาแล้ว ?

นายเดชอุดม เล่าถึงคดีที่เคยฟ้องตำรวจทั้งโรงพัก ว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นเจ้าพนักงานจับผู้ต้องหาผิดตัวแล้วยิงจนเสียชีวิต ต่อมาญาติของผู้เสียชีวิตจึงดำเนินการฟ้องร้องเจ้าพนักงานชุดนั้น ซึ่งคดีนี้เป็นคดีที่มีอิทธิพล เพราะฟ้องตำรวจทั้งโรงพัก หลังจากนั้นพันตำรวจ ถูกระวางโทษประหารชีวิตในศาลชั้นต้นและคดีดังกล่าวกำลังขึ้นสู่ศาลฎีกา ทั้งนี้ ตำรวจทั้งหมดฟ้องไป 15 คน โทษประหารชีวิต 1 คน ติดคุกประมาณ 7 คน

"คดีนี้ทางญาติของผู้เสียชีวิตเขาสู้ ถ้าไม่สู้เจ้าหน้าที่ตำรวจก็รอดไปได้ ส่วนใหญ่ถ้าทำถึงขั้นเสียชีวิตญาติๆ เขาก็สู้คดีกันทั้งนั้น ถ้าแค่บาดเจ็บบางทีคนไทยก็ให้อภัยกัน ถึงแม้ว่าศาลยกฟ้องก็ให้อภัยกัน มีหลายสิบคดีที่ถูกบังคับให้รับสารภาพ โดยการถูกทำร้าย แต่ว่าไม่อยากเอาเรื่อง พอหลังจากอัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือทนายความสู้ให้คดีชนะแล้ว ที่จริงเราฟ้องกลับได้ คนไทยเราใจดีไม่ฟ้อง แม้เรามีสิทธิ์ที่จะฟ้องได้ มีสิทธิ์ที่จะขอคุยทนายความได้ก็ตาม" นายกสภาทนายความ กล่าว

...

คำรับสารภาพสำคัญไฉน ไยจึงต้องการ ?

นายเดชอุดม กล่าวว่า คำรับสารภาพเป็นข้อเท็จจริงที่ทนายความต้องไปแกะรายละเอียดมาว่า ตอนรับสารภาพทำอย่างไร ทำไมถึงรับสารภาพ ให้ผู้ต้องหาเล่าให้ฟัง จากนั้นรอดูสำนวนว่าอัยการอ้างว่าอย่างไร ใครเป็นพยานในตอนที่ผู้ต้องหารับสารภาพ ทนายความจะดูพยานมีน้ำหนักไหมและจะถามเขาว่าอย่างไร ซึ่งตรงนี้สำคัญมากเป็นเทคนิคของทนายความ

"เหตุที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการคำรับสารภาพ เพราะว่า มันง่ายกว่าการหาพยานหลักฐาน เพราะว่าคุณเอาคนไปเข้าคุกหรือไปประหารชีวิต คุณต้องหาพยานหลักฐานอย่างหนาแน่น ถ้าพยานมากคุณก็กลัวว่าหลุด สู้บังคับให้ผู้ต้องหารับสารภาพดีกว่า มันเป็นทางลัดที่มันไม่ยุติธรรม แล้วพอทำกันจนเคยชินทุกคนก็ทำอีก เป็นเหมือนหลักสูตรลัด" นายกสภาทนายความ กล่าว

นายนิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ อธิบายว่า คำรับสารภาพของผู้ต้องหาสามารถใช้ในชั้นศาลได้ แต่ศาลไม่สามารถนำมาเป็นเหตุผลที่จะมาลงโทษจำเลยได้หรือตัดสินว่าจำเลยกระทำความผิดไม่ได้ ขณะที่คำรับสารภาพในชั้นจับกุม บันทึกการจับกุมจะเอาไปลงว่าจำเลยกระทำความผิดตามนั้นไม่ได้ และการทำแผนประกอบคำรับสารภาพไม่ถือว่าเป็นพยานที่จะลงโทษจำเลยได้เลย

แถลงข่าวจับกุม/ทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ละเมิดสิทธ์ิผู้ต้องหา!

นายนิวัต เปิดเผยว่า การแถลงข่าวจับกุมผู้ต้องหา โดยให้ผู้ต้องหาไปนั่งเรียงและนำของกลางมาวางไว้บนโต๊ะ ทั้งหมดที่ทำเป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้ต้องหา และเมื่อมีการแถลงข่าวพร้อมนำตัวผู้ต้องหามานั่งเรียงกัน ไม่ได้มีเฉพาะผู้ต้องหาในคดีนั้น แต่ยังมีผู้ต้องหาบางคนที่ไม่ได้ถูกจับในคดีนั้นมานั่งแถลงข่าวร่วมกับคนอื่นด้วย ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ ตอนที่แถลงข่าวนำผู้ต้องหามาถามว่าคุณไปทำอย่างนี้ทำไม ไปเอาของพวกนี้มาจากไหน ตรงส่วนนี้เท่ากับว่าเป็นการให้การต่อหน้าสื่อมวลชน แต่เจ้าพนักงานกลับทำเป็นเรื่องการประชาสัมพันธ์ โดยไม่มีกฎหมายข้อใดเปิดช่องให้สามารถทำได้

ทั้งนี้ ผู้ต้องหามีสิทธิ์ที่จะไม่แถลงข่าวได้ หากผู้ต้องหาไม่ต้องการที่จะแถลงข่าว ไม่ต้องการออกทีวีหรือถ่ายรูปก็มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธหรือโต้แย้งกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะมันเป็นการทำให้ตัวผู้ต้องหาเสียชื่อเสียงหรือเสียหาย แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจยังยืนยันที่จะมีการแถลงข่าว ผู้ต้องหาสามารถฟ้องร้องได้

"ผมยืนยันได้เลยว่าการที่นำตัวผู้ต้องหาไปแถลงข่าวจับกุมหรือทำแผนประกอบคำรับสารภาพ เป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้ต้องหาแน่นอน ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ถ้าหากผู้ต้องหาโดนทำร้ายร่างกายจะทำอย่างไร ใครจะรับผิดชอบในส่วนนี้" เลขาธิการสภาทนายความ กล่าว

คดีสิ้นสุด ยื่นคำร้อง ไม่ปล่อยตัวชั่วคราว พิจารณาเงินเยียวยาแพะผู้บริสุทธิ์

พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ระบุว่า กฎหมายที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพดูแลรับผิดชอบอยู่คดีจะต้องถึงศาลก่อน โดยระหว่างการควบคุมจะต้องไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ขณะที่คดีต้องถึงที่สุดก่อนและศาลต้องตัดสินว่าผู้ต้องหารายนี้เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้มีความผิดจริง ซึ่งก็มีกฎหมายพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา

ทั้งนี้ การที่จะยื่นคำขอชดเชยเยียวยาได้ต้องมีการตรวจสอบในใบคำร้องว่าคดีถึงที่สุดโดยผ่านในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาเรียบร้อยแล้ว และดูคำพิพากษาของศาลว่าเป็นอย่างไร โดยอำนาจการตัดสินว่าจะได้รับเงินเยียวยาหรือไม่นั้น อยู่ที่คณะกรรมการชุดหนึ่งซึ่งมีปลัดกระทรวงเป็นประธาน

สำหรับกรณีที่ผู้ต้องหาติดคุกไปแล้วและศาลตัดสินว่าไม่ได้มีความผิด หลักเกณฑ์ทั่วไปจะจ่ายชดเชยให้วันละ 200 บาท ส่วนกรณีผู้ต้องหาถูกทำร้ายร่างกายโดยเจ้าพนักงานในชั้นสอบสวน ก็ต้องไปฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากสังกัดนั้น แต่ก็ต้องดูข้อเท็จจริงว่าถูกทำร้ายที่ไหน อย่างไร

"เงินเยียวยาแพะสีขาวที่เป็นผู้บริสุทธิ์ เกิดการผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม ทุกวันนี้เราก็ชดเชยเยียวยาให้ตามหลักมนุษยธรรม" อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าว

เตือน! สื่อควรระวังการนำเสนอข่าว

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ถือว่าคนนั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ เป็นหลักทั่วไปที่สามารถนำมาใช้ได้ เมื่อเป็นผู้ต้องหาแล้วถูกตำรวจแต่ยังไม่ได้ถูกตัดสิน ตำรวจก็นำตัวมาแถลง ผู้ต้องหาสามารถที่จะฟ้องร้องตำรวจได้ พร้อมกับยกกฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาท และผู้ที่ไปเสนอข่าวก็มีความผิดร่วมด้วยเช่นกัน เพราะว่า เป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ส่วนนี้เป็นหลักเบื้องต้นของการนำเสนอข่าว

ทั้งนี้ สื่อมวลชนจะต้องเขียนข่าวให้ชัดเจน หลีกเลี่ยงการพาดหัวหรือโปรยที่ไปตัดสินว่าผู้ที่ถูกจับผิด ชั่ว เลว หื่น ส่วนเรื่องรูปภาพ โดยหลักแล้วไม่ควรที่จะนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือไม่เด็กก็ตาม หรือถ้าเสนอต้องเขียนให้มีความชัดเจนว่าเป็นผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัย

ในขณะที่ปัจจุบันมีองค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรต่างๆ มากขึ้น ก็เริ่มมีการฟ้องร้องสื่อบาง ซึ่งเป็นแนวโน้มใหม่ของสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และคงจะมีการพูดคุยเรื่องนี้มากขึ้น ตำรวจ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กำลังจะพูดคุยหารือเพื่อที่จะวางระเบียบไม่ให้มีการละเมิดผู้ต้องหา

"สื่อมวลชนไม่ว่าจะสำนักใดก็ตามที่พาดหัวว่า ไอ้หื่น โจรชั่ว ทั้งที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินเลย สื่อตัดสินไปเองเรียบร้อยแล้ว พวกนี้ถือว่าผิดกฎหมายทั้งนั้น โดยที่ผ่านมาผู้ต้องหาส่วนใหญ่ไม่มีแรงที่จะต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ของตนเอง" อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ กล่าว

บ้านเมืองมีกฎหมาย เพื่อให้ธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม การกระทำที่พลาดพลั้งไปขอให้เป็นบทเรียนแก่เจ้าหน้าที่รัฐ รวมไปถึงสื่อมวลชน ผู้ที่คอยสอดส่องดูแลบ้านเมือง จงใช้วิชาชีพที่อยู่ในมือคอยช่วยเหลือและให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ อย่างไรก็ตาม หวังว่าข้อกฎหมายจะช่วยไม่ให้ผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อของความอยุติธรรมอีกต่อไป..

ติดตามรายงาน เปิดโปงกลจับแพะ แฉสารพัดทรมานโหด ได้ที่