วันที่ 14 พฤศจิกายนปีนี้ ถือเป็นวันสำคัญของการประปานครหลวง เพราะเป็นวันที่ครบ 100 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จฯเปิด “การประปากรุงเทพฯ” ทำให้ประชาชนในเขตกรุงเทพฯเริ่มมีน้ำประปาใช้เป็นครั้งแรก

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า กิจการประปาถือกำเนิดขึ้นจากพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้พสกนิกรมีน้ำสะอาดบริโภคอุปโภค แต่กิจการประปาได้สำเร็จและจ่ายน้ำให้ประชาชนได้ใช้ ภายหลังที่พระองค์เสด็จสวรรคตไปแล้ว 2 ปี โรงกรองน้ำที่สร้างขึ้นแห่งแรกในสมัยนั้น คือ โรงกรองน้ำสามเสน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโรงกรองน้ำสามเสนได้ทยอยยกเลิกการใช้งานบางส่วน หลังจากที่ได้มีการก่อสร้างโรงกรองน้ำใหม่ๆขึ้นมาทดแทน แต่ในส่วนอาคารเดิมที่ใช้มานานได้มีการอนุรักษ์กลุ่มอาคารอันทรงคุณค่าเหล่านี้ไว้ โดยในปี 2554 การประปานครหลวง ได้จัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้การประปาไทยขึ้น


โดยในการบูรณะซ่อมแซม กลุ่มอาคารอนุรักษ์และอาคารบริวาร ได้รับความร่วมมือจาก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ให้คำแนะนำในการอนุรักษ์อาคารเก่า โดยซ่อมแซมและทาสีใหม่ให้เป็น สีเหลืองหมากสุก ซึ่งเป็นสีเดิมของ กลุ่มอาคารอนุรักษ์ และสามารถพบเห็นได้จากอาคารร่วมสมัยที่ก่อสร้างขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน เนื่องจากเป็นสีที่นิยมในสมัยนั้น และ เปลี่ยนหลังคาจากสังกะสีเป็นกระเบื้องสีน้ำตาลแดง เพื่อความคงทน กลุ่มอาคารเหล่านี้ประกอบด้วย

...

อาคารโรงสูบน้ำ ได้รับการบูรณะซ่อมแซมภายนอกและภายในอาคาร ภายในยังคงติดตั้งเครื่องสูบน้ำดิบ และเครื่องสูบน้ำประปา และยังคงทำหน้าที่สูบน้ำดิบเข้าสู่กระบวนการผลิต และสูบจ่ายน้ำประปาไปสู่ประชาชน

อาคารโรงเกรอะน้ำ เป็นอาคาร 3 ชั้น ในสมัยก่อนพื้นที่ชั้น 1 และ 2 ใช้เป็นที่เก็บ สารส้มก้อน สั่งมาจากประเทศเบลเยียม บรรจุในลังไม้ฉำฉารูปร่างคล้ายกลอง ขนส่งโดยใช้เรือลากเข้ามาในคลองสามเสนและจอดข้างโรงกรองน้ำ ส่วนชั้น 3 มีถังไม้บรรจุสารส้ม 3 ถัง ส่งมาจากต่างประเทศ เข้าใจว่าเป็นถังหมักเหล้าองุ่น ที่ทำขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1851 และนำมาทำเป็นถังละลายสารส้ม

อาคารโรงกรอง 1 และ 2 ภายในประกอบด้วยเครื่องกรองน้ำชนิดกรองเร็วอย่างอเมริกัน เรียกว่า UL Filter จำนวน 12 ถัง เป็นถังเหล็กรูปทรงกระบอก และมีประตูน้ำหลากสีที่มีหน้าที่การทำงานแตกต่างกันตามแต่ละสี เนื่องจากในสมัยก่อนนายช่างผู้ควบคุมงานเป็นชาวต่างชาติ ทำให้ยากต่อการสื่อสารโดยใช้ภาษา จึงเลือกใช้สีเป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารแทน

อาคารที่ขังน้ำบริสุทธิ์ หรือถังเก็บน้ำใส ทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้าง 36 เมตร ยาว 54 เมตร สูง 3 เมตร อยู่ใต้ระดับพื้นดินครึ่งหนึ่ง มีปล่องระบายอากาศติดมุ้งลวด เพื่อกันแมลงและยุงลงไปไข่ มีโรงจ่ายคลอรีนสำหรับฆ่าเชื้อโรคที่ยังอาจจะหลงเหลือจากการกรองแล้ว คลอรีนที่ใช้เป็นคลอรีนแก๊สบรรจุมาในหลอดขนาด 70 กิโลกรัม สั่งมาจากประเทศอังกฤษ

พิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้การประปาไทย เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 และเพราะการประปาไทยมีโครงสร้างอาคารอันสวยงาม จึงได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ ประจำปี 2557 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย

ในโอกาสครบรอบ 100 ปี กิจการประปาไทย ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ การประปานครหลวงได้จัดกิจกรรม “รำลึก 100 ปี การประปาไทย” ตลอดเดือนพฤศจิกายนนี้ โดย จะเปิดให้นักเรียน นักศึกษา คณะอาจารย์ และบุคคลทั่วไปเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้การประปาไทยได้ฟรีตั้งแต่วันที่ 1–28 พ.ย.2557 (ยกเว้นวันที่ 14 ซึ่งมีงานใหญ่ฉลอง) เปิดให้เข้าชมวันละ 2 ช่วงเวลา คือ 09.30–11.00 น. และ 13.30–15.00 น. กลุ่มละ 100 ท่าน สนใจเข้าชมสามารถติดต่อได้ที่คุณศิริวรรณ กันชัย หมายเลขโทรศัพท์ 0-2504-0123 ต่อ 1268 ในวันและเวลาราชการ.