วันวานแห่งความโหดร้ายได้ผ่านไป แต่ความทุกข์ทรมานใจยังคงอยู่ สิ่งเหล่านี้ยังคงหลอกหลอนเหล่าบรรดาผู้ตกเป็นจำเลยทั้งหลาย ที่ต้องทนทุกข์ก้มหน้ารับความผิดทั้งที่ไม่ได้เป็นคนกระทำ จากมือที่กุมอำนาจหยิบยื่นความอยุติธรรมมาให้ทั้งที่ไม่อยากรับไว้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปย้อนรอยคดีแพะในตำนานที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์หลายชีวิตต้องแบกรับความผิดนั้นไว้ เพื่อรอความยุติธรรมในประเทศนี้พาเขาออกไปจากความมืดมน...
เชอร์รี่ แอน คดีประวัติศาสตร์ จับแพะ 4 คน คุก 6 ปี บทเรียนตำรวจไทย !
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2529 ชาวบ้านพบศพ น.ส.เชอร์รี่ แอน ดันแคน วัย 16 ปี สาวลูกครึ่งไทย-อเมริกา ที่บริเวณป่าแสม ต.บางปูใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ โดยสถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ ผ่าพิสูจน์ พบว่า น.ส.เชอร์รี่ แอน ถูกตีที่ท้ายทอยด้วยของแข็งเป็นรอยช้ำที่กะโหลกและที่หน้าแข้ง กระทั่งเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ จากการถูกบีบรัดคอ ก่อนที่คนร้ายจะโยนศพทิ้งลงน้ำ
ต่อมา เวลาผ่านไปไม่ถึง 1 เดือน วันที่ 21 ส.ค. 2529 พ.ต.ท.มงคล ศรีโพธิ์ รอง ผกก.สมุทรปราการ นำหมายศาลเข้าจับกุม นายวินัย ชัยพานิช ซึ่งมีความเกี่ยวข้องทางชู้สาว คบหากับ น.ส.เชอร์รี่ แอน ทั้งที่มีภรรยาอยู่แล้ว และภรรยาของนายวินัยเคยมีปัญหาทะเลาะกับ น.ส.เชอร์รี่ แอน มาก่อน เจ้าหน้าที่จึงคาดว่า น.ส.เชอร์รี่ แอน คงถูกลวงไปฆ่าเพื่อตัดปัญหา จากนั้นได้เข้าจับกุมลูกน้องของนายวินัย ประกอบด้วย นายพิทักษ์ ค้าขาย, นายรุ่งเฉลิม กนกชวาลชัย, นายกระแส พลอยกลุ่ม และนายธวัช กิจประยูร ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ ขณะที่ นายวินัย อัยการสั่งไม่ฟ้อง
...
จากนั้น อีกกว่า 7 ปีต่อมา ในวันที่ 8 มี.ค. 2536 ศาลฎีกามีคำสั่งพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด ตามคำพิพากษาที่ 768/2536 และในระหว่างที่จำเลยทั้ง 4 คน ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำลาดยาวนั้น นายรุ่งเฉลิม กนกชวาลชัย ป่วยเป็นโรคหืดและเสียชีวิต นายพิทักษ์ ค้าขาย เสียชีวิตหลังจากศาลยกฟ้องไม่นานเนื่องจากติดโรคติดต่อมาจากในคุก ส่วน นายกระแส พลอยกลุ่ม พิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เหลือเพียงนายธวัช กิจประยูร คนเดียวที่มีร่างกายสมบูรณ์
หลังจากนั้น ได้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ ในวันที่ 11 ต.ค. 2538 นายวินัย ได้เข้าร้องเรียน เนื่องจาก พ.ต.ท.ล้ำเลิศ ธรรมนิธา รอง ผกก.สมุทรปราการ ผู้รับผิดชอบคดีมีความสัมพันธ์กับภรรยาของนายวินัย คือ น.ส.สุวิบูลย์ พัฒน์พงษ์พานิช ซึ่งเคยมีเรื่องหึงหวงกัน จนได้ข้อมูลมาว่าผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นแพะ จึงยื่นเรื่องต่อพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา จากนั้นจึงได้ออกหมายจับผู้ต้องหา คือ น.ส.สุวิบูลย์ พัฒน์พงษ์พานิช, นายสมใจ บุญฤทธิ์, นายสมพงษ์ บุญฤทธิ์, นายสมัคร ธูปบูชากร
และในที่สุดศาลได้ตัดสินประหารชีวิตแก่ นายสมพงษ์ บุญฤทธิ์, นายสมัคร ธูปบูชากร ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต ส่วน น.ส.สุวิบูลย์ พัฒน์พงษ์พานิช ศาลยกฟ้อง เพราะหลักฐานไม่เพียงพอ ขณะที่ นายสมใจ บุญฤทธิ์ พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ขณะที่นายประเมิน โภชพลัด ที่ได้รับการว่าจ้างให้เป็นพยานเท็จ ถูกดำเนินคดีรวม 16 ปี แต่ให้การรับสารภาพจึงลดโทษเหลือจำคุก 8 ปี
...
ต่อมา วันที่ 7 ส.ค. 2540 ญาติของผู้เป็นแพะ ยื่นฟ้องกรมตำรวจ เรียกร้องค่าเสียหายกรณีจับกุมดำเนินคดีผู้บริสุทธิ์จนถูกจำคุก และศาลแพ่งพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จ่ายเงินสินไหมทดแทนแก่อดีตจำเลยและผู้เกี่ยวข้อง 7 คน จำนวนรวม 26,038,000 บาท พร้อมกับดำเนินคดีอาญากับ พ.ต.อ.มงคล ศรีโพธิ์ กับพวกรวม 6 คน ในความผิด ป.วิอาญา มาตรา 157 และ มาตรา 200 ส่วน พ.ต.อ.มงคล มีความเห็นว่ากระทำผิดร้ายแรง จึงมีคำสั่งไล่ออกจากราชการตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งได้หลบหนีไปสหรัฐฯ และยังจับกุมตัวไม่ได้!
จอบิ กะเหรี่ยงผู้ตกเป็นแพะกว่า 2 ปี !
วันที่ 4 มิ.ย. 2545 เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงรถบัสรับส่งนักเรียน ร.ร.บ้านคาวิทยา อ.บ้านคา จ.ราชบุรี มีนักเรียนเสียชีวิต 3 ศพ บาดเจ็บ 12 คน ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบชื่อคนร้าย คือ นายโทลี่ และนายจอระแบ ชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่ไม่ได้ลงมือยิง สาเหตุมาจากการสร้างสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์การค้าของป่าของ นายทองมอญ เข็มทอง คนขับรถ
ต่อมา เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2545 ตชด. กองร้อยที่ 137 อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี จับกุม นายจอบิ อายุ 32 ปี ชาวกะเหรี่ยงบ้านห้วยน้ำหนัก พร้อมของกลางอาวุธปืนเอ็ม 16 จำนวน 2 กระบอก สอบสวนให้การรับสารภาพว่า อยู่ในกลุ่มคนร้ายที่ยิงนักเรียน แต่ถูกหลอกมา และซัดทอดว่ายังมี นายพุโค๊ะ กับนายพะตะอึ ร่วมอยู่ในเหตุการณ์
...
ขณะที่ ตอนทำแผนประกอบคำรับสารภาพ นายจอบิมีท่าทางเก้ๆ กังๆ และจับอาวุธปืนเอ็ม 16 ไม่เป็น การต่อสู้คดีจึงเกิดขึ้นท่ามกลางพยานหลักฐานของทนายความ และการไม่ปักใจเชื่อของญาตินักเรียนที่เสียชีวิตว่าจอบิคือคนร้ายตัวจริง เพราะรูปพรรณซึ่งเป็นคนตัวเตี้ยกว่าปกติ ในขณะที่คนร้ายนั้น พยานระบุว่ามีรูปร่างสูงใหญ่ และนายจอบิยังมีพยานหลายปากยืนยันว่า ช่วงเกิดเหตุอยู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง แต่แม้จะมีพยานยืนยันแค่ไหน คดีก็ยังคงดำเนินไปโดยมีนายจอบิเป็นจำเลย
เจ้าหน้าที่จึงนำตัวนายจอบิไปฝากขัง ครั้งที่ 1 ที่ศาลจังหวัดราชบุรี พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และไตร่ตรองไว้ก่อน พยายามฆ่าผู้อื่น มีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ไว้ในครอบครอง เป็นบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต
14 ต.ค. 2546 นายจอบิ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ตนไม่รู้เรื่องการยิงรถนักเรียน ซึ่งในวันเกิดเหตุตนรับจ้างเก็บมะเขืออยู่ภายในไร่ของนายชาลี ส่วนสาเหตุที่ตนยอมรับสารภาพ เพราะว่า นายจอระแบบังคับ ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 จี้ศีรษะให้ตนยอมรับสารภาพ และให้โยนความผิดใส่ร้ายให้กับนายพุโค๊ะ และนายพะตะอึ เป็นคนยิง หากไม่ทำตามนายจอระแบจะฆ่าตนและลูกเมีย จึงยอมรับสารภาพ
...
หลังจากสู้ในศาลเกือบ 2 ปี ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นายจอบิไม่ใช่คนร้ายในคดีนี้ โดยศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานโจทก์มีพิรุธหลายประการ ดังนั้นจึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย อัยการได้ยื่นอุทธรณ์และศาลอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์สรุปว่ายืนยกฟ้อง ทำให้นายจอบิได้รับอิสรภาพ ขณะที่ ญาติของเด็กนักเรียนเหยื่อกระสุนปืนดีใจต่อการยกฟ้อง ต่างพากันมามอบดอกไม้ให้กำลังใจเพราะไม่เชื่อว่านายจอบิจะอยู่ในกลุ่มผู้ก่อเหตุดังกล่าว
พ่อลูกอ่วม โดนซ้อมรับสารภาพคดีปล้นร้านทองนวทองคำ!
อีกหนึ่งคดีแพะครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2540 คนร้ายอาวุธปืนอาก้า ยิงถล่มใส่ร้านทอง นวทองคำ ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และปล้นทองรูปพรรณไปจำนวนทั้งสิ้น 496 บาท คิดเป็นเงินประมาณ 2.9 ล้านบาท จากนั้น 2 ปีต่อมา พ.ต.ท.ชำนาญ โตวงษ์ หน.ฉก.บก.ภ.สมุทรปราการ พร้อมกำลังเข้าจับกุมคนร้าย 2 คน คือ นายชุบ ชุมแสง อายุ 51 ปี และนายพิเชษฐ์ ชุมแสง อายุ 26 ปี สองพ่อลูกได้ที่ จ.อ่างทอง โดยทั้งสองให้การรับสารภาพ และก่อนหน้าสองพ่อลูกยังมีคดีปล้นรถสองแถวที่จ.พระนครศรีอยุธยา อีกด้วย
ขณะที่ มีการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ สองพ่อลูกทำแผนแบบเงอะๆงะๆ ตำรวจต้องคอยบอกบทตลอดเวลา โดยนายชุบ ยังแอบกระซิบบอกเจ้าของร้านทองว่าเขาไม่ใช่คนร้าย แต่ถูกซ้อมให้รับสารภาพ และสิ่งที่หน้าตกใจคือสองพ่อลูกขับรถไม่เป็น ซึ่งตอนที่เกิดเหตุคนร้ายหนีขึ้นรถกระบะขับยิงสู้กับตำรวจ และด้วยเหตุนี้ นายบุญลือ ทองแถบ จึงต้องเป็นผู้ต้องหาอีกคนเพราะรู้จักกับสองพ่อลูกนี้
กระทั่ง วันที่ 9 ก.พ. 2544 ตำรวจกองปราบปราม เข้าจับกุม นายสุชาติ สิทธิทองหลาง อายุ 29 ปี ในข้อหาร่วมกันปลอมแปลงเอกสารทางราชการ และนายชาญวิทย์ นึกหมาย อายุ 35 ปี ข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนสงคราม (อาก้า) และเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครอง จากการสอบสวนทราบว่าผู้ต้องหาทั้งสองคน เป็นคนร้ายที่ร่วมกันปล้นร้านทองนวทองคำ จ.ปทุมธานี ซึ่งทั้งสองให้การรับสารภาพ และตรวจสอบลายนิ้วมือแฝงที่พบในร้านทอง ตรงกับนายสุชาติและนายชาญวิทย์
นายสมเชาว์ ชุมแสง ลูกชายอีกคนของนายชุบ เปิดเผยว่า พ่อและน้องชายของตนถูกตำรวจซ้อมให้รับสารภาพ พ่อถูกตำรวจใช้ไฟฟ้าช็อตที่นิ้วเท้าจนเป็นแผลเน่า ทำให้ขาเสียไป 1 ข้าง ถูกไฟช็อตที่อวัยวะเพศจนเป็นแผลและถูกซ้อมจนตาฝ้าฟางมองไม่เห็น ส่วนน้องชายถูกทรมานจนตาบอดกลายเป็นโรคประสาท จนต้องยอมรับสารภาพในข้อหาปล้นร้านทองที่นวนคร
จากนั้น วันที่ 15 ก.พ. 2544 อัยการจังหวัดธัญบุรี ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องต่อศาล ซึ่งจำเลยได้ยินยอมให้ถอนฟ้องและลงชื่อรับทราบด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ศาลจึงอนุญาตให้ถอนฟ้องและออกหมายปล่อยตัวจำเลย และส่งตัวนายชุบกับนายพิเชษฐ์ให้ตำรวจ สภ.ต.จักราช รับตัวไปดำเนินคดีและทำแผนประกอบคำรับสารภาพคดีปล้นรถสองแถว ส่วนนายบุญลือ ได้อิสรภาพไปเพียงคนเดียว และติดต่อสภาทนายความเพื่อฟ้องร้องผู้เกี่ยวข้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย จากการที่ต้องติดคุกทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำความผิดนานกว่า 2 ปี
ต่อมา วันที่ 5 เม.ย. 2544 พล.ต.ท.บุญชัย ชื่นสุชน ผช.ผบ.ตร. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงคดีจับแพะปล้นร้านทองนวทองคำ โดยให้ดำเนินคดีอาญาแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 7 นาย ข้อหา 1. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 2. กักขังหน่วงเหนี่ยว 3. ทำร้ายร่างกาย และ 4. บุกรุกเคหสถาน ประกอบด้วย พ.ต.ท.ชำนาญ โตวงษ์ รอง ผกก.อก.ภ.จว.สมุทรปราการ หัวหน้าชุดจับกุม พ.ต.ท.เสน่ห์ มณีน้อย สว.กบ.ภ.จ.สมุทรปราการ และชั้นประทวน 5 นาย
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคดีจับแพะ ที่ถือเป็นบทเรียนของตำรวจไทยให้ได้ตระหนักถึงการทำหน้าที่ที่โปร่งใส ซื่อตรง และ เที่ยงธรรม โดยพร้อมที่จะปกป้องประชาชนคนดีทุกๆ คน ทั้งนี้ หากอยากเรียกศักดิ์ศรี ความศรัทธา กลับคืนมา ก็ต้องพิสูจน์ด้วยผลงาน ไม่ปล่อยให้ "คนบริสุทธิ์" ถูกลงโทษอีก!
ติดตามรายงาน เปิดโปงกลจับแพะ แฉสารพัดทรมานโหด ได้ที่