“ดาว์พงษ์” ยืนยันทำจริง แจกที่ดินทำกินให้คนจน แจงแนวทางใช้รูปแบบสหกรณ์บริหารจัดการพื้นที่ด้วยประชาชน ในชุมชน ส่วนที่ดินที่นำมาแจกมีทุกรูปแบบ รวมถึงที่บริเวณชายฝั่งทะเล ยกเว้นพื้นที่ป่าอุทยานฯ สั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรวบรวมข้อมูลก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ในวันที่ 7 พ.ย.นี้ คาดจะเริ่มทยอยแจก ม.ค.2558 ขณะที่สมัชชาคนจนค้านทำไมไม่เอาที่ดินคนรวยมาแจกไปเอาสมบัติชาติมาแจกทำเหมือนหาเสียง ระบุที่ไปไล่จับมีแต่คนจนไม่เห็นมีคนรวยโดนจับเลย ด้านสมาคมอุทยานฯหวั่นคนจนปลอมรับสิทธิขายต่อคนรวย
กรณีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมคืนชีพโครงการแจกสิทธิทำกิน (สทก.) ในป่าสงวนแห่งชาติที่เคยมีปัญหากว่า 1 ล้านไร่ให้ชาวบ้านยากจน แต่ปรับเกณฑ์ใหม่ให้เป็นสิทธิทำกินกับชุมชนไม่ให้เป็นรายบุคคลนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่กระทรวงทรัพยากรฯ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานประชุมเรื่องการจัดสรรที่ดินให้ราษฎรที่ยากจนให้มีที่ดินทำกิน โดยมี อธิบดีกรมป่าไม้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมที่ดิน และกระทรวงมหาดไทย เข้าประชุมร่วม 3 ชั่วโมงว่า ได้ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับที่ดินเร่งรวบรวมข้อมูลในการจัดสรรที่ดินให้ราษฎรที่ยากจนให้มีที่ดินทำกินให้เรียบร้อยเป็นข้อสรุปสุดท้าย เพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ในวันที่ 7 พ.ย.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนจะมีการปรับปรุงแผนดำเนินงานจัดสรรที่ดินทำกินให้สมบูรณ์ที่สุดก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดตัวเลขที่ดินทำกินที่จะจัดสรรให้ประชาชนยากไร้ และตัวเลขประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ แต่ได้แบ่งที่ดินที่เตรียมจัดสรรในแต่ละประเภทเรียบร้อยแล้ว เช่น พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม พื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกจากประชาชนและนายทุน เป็นต้น ยกเว้นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
...
พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จะมีการเสนอแนวทางการทำงานภาพรวมที่ชัดเจนทั้งหมด ให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติพิจารณา โดยจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดสรรที่ดินทำกินจากการออกเอกสารสิทธิเป็นรายบุคคลเป็นรูปแบบสหกรณ์ เพื่อป้องกันประชาชนนำเอกสารสิทธิที่ดินทำกินไปขายให้นายทุน ยกตัวอย่างมีที่ดิน 2,000 ไร่ กระทรวงทรัพยากรฯ ส่งที่ดินแปลงดังกล่าวให้กระทรวงมหาดไทยตรวจสอบพื้นที่ตั้งและชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ โดยตรวจสอบจากหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักในบัญชีผู้ยากไร้ เพื่อป้องกันการแอบอ้างชื่อมาใช้สิทธิ์ เมื่อจัดสรรจำนวนประชาชนยากไร้ไม่มีที่ดินทำกินได้แล้ว ก็ให้จัดสรรที่ดินทำกินให้ชุมชนนั้นทันทีในรูปแบบสหกรณ์และบริหารจัดการพื้นที่ด้วยประชาชนในชุมชนนั้นๆ จากนั้นให้กระทรวงเกษตรฯลงพื้นที่ตรวจสอบว่าพื้นที่ใดเหมาะเลี้ยงสัตว์ หรือปลูกพืชผักเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นการจัดสรรพื้นที่ถูกกฎหมายให้กับประชาชนยากไร้ให้มีที่ดินทำกิน เพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้และอาศัยอย่างหลบๆซ่อนๆ
รมว.ทรัพยากรฯกล่าวอีกว่า ส่วนการแจก สทก.ชุนชน จะใช้รูปแบบสหกรณ์จัดสรรเช่นกัน โดยในวันที่ 7 พ.ย.นี้ คณะกรรมการนโยบายที่ดิน แห่งชาติจะมีมติให้ดำเนินการจัดสรรที่ดินให้ราษฎรที่ยากจนให้มีที่ดินทำกินแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติทันที คาดว่าจะสามารถทยอยจัดสรรที่ดินทำกินได้อย่างช้าเดือน ม.ค.2558
ด้านนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้ไม่ได้แจกที่ทำกิน แต่เป็นการจัดที่ดินให้กับคนยากจน ที่ไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง และที่ดินที่จัดให้เป็นสิทธิทำกินในชุมชน ห้ามมีการซื้อขาย หรือส่งมอบให้ใครที่ไม่ใช่ลูกหลานในตระกูลเด็ดขาด เมื่อใดที่มีการซื้อขาย ที่ดินจะถูกยึดคืนทันที ส่วนหลักเกณฑ์ว่าใครควรจะได้สิทธิดังกล่าวนี้บ้าง ยังไม่มีการกำหนดไว้ชัดเจน แต่เบื้องต้น ต้องเป็นคนยากจน ไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง
เมื่อถามว่าจะนำที่ดินบริเวณไหนมาแจก อธิบดีกรมป่าไม้กล่าวว่า ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ที่ยังพอฟื้นสภาพให้ประชาชนเข้าไปทำกินได้ พร้อมทั้งยืนยันไม่ใช่พื้นที่รีสอร์ต หรือสวนปาล์ม สวนยาง ที่ทีมพยัคฆ์ไพรเข้าไปยึดจับ เพราะหลายแห่งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ให้ราษฎรเข้าไปทำกินไม่ได้อยู่แล้ว ที่สวนยาง สวนปาล์ม หรือที่ที่ต้องปลูกป่าชดเชยจะไม่ให้ใครเข้าไปทำกินเด็ดขาด แต่กรมป่าไม้มีพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมอยู่จำนวนหนึ่ง ให้ประชาชนเข้าไปทำกินได้บ้าง
ขณะที่นายบารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจนกล่าวว่า สมัชชาคนจนไม่เห็นด้วยกับการนำที่ดินรัฐที่เป็นของประชาชนทุกคนมาแจกทำเหมือนการหาเสียง ทำไมไม่เอาที่ดินของคนรวยที่มีจำนวนมากมาแจกให้คนจน เพื่อกระจายการถือครอง ซึ่งจะสร้างความเป็นธรรมและเท่าเทียมกันได้ดีกว่า การนำที่ สทก.ไปแจกถามว่ากรมป่าไม้ มีการขีดเส้นแบ่งแนวเขตป่าชัดเจนหรือยัง เพราะในหลายพื้นที่ป่าสงวนฯ มีการทับซ้อนกับที่ดินของอุทยานฯ ของ สปก. เป็นต้น แล้วจะเอาไปแจกได้อย่างไร ที่สำคัญการแจกให้ราษฎรตามมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 นั้น กรมป่าไม้ยังไม่มีฐานข้อมูลชัดเจนว่าคนที่อยู่ป่าตามมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 เป็นคนรวยหรือคนจน เพราะที่เป็นอยู่เป็นคนรวยตามมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 ก็มากและมีการเปลี่ยนมือไม่น้อย นอกจากนั้น กรมป่าไม้ไปตรวจสอบสิทธิหรือยังว่าคนที่อยู่ตามมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 ไม่ไปมีชื่อซ้ำซ้อนกับการถือครองที่ดิน สปก.หรือที่ดินในลักษณะใกล้เคียงกัน
นายบารมีกล่าวอีกว่า ส่วนที่กรมป่าไม้อ้างว่าแจก สทก.ชุมชนไม่ให้กับรายบุคคลนั้น โดยข้อเท็จจริงมีหลายพื้นที่ที่ไม่มีชุมชน มีแต่ที่ทำกินที่หลายชุมชนมาทำกินร่วมกัน เมื่อไม่มีชุมชนชัดเจนจะแจกอย่างไร และกรมป่าไม้มั่นใจได้อย่างไรว่า สทก.ที่แจกจะตกถึงมือคนจนจริงๆ และอยากจะถามว่า ที่กรมป่าไม้ไปไล่จับพวกที่บุกรุกป่าเพื่อนำพื้นที่คืนมานั้น ต้องการนำมาแจกด้วยใช่หรือไม่ แล้วจะไปไล่จับทำไม ที่สำคัญคนที่กรมป่าไม้ไปไล่จับส่วนใหญ่ก็เป็นคนจนแทบทั้งสิ้น ที่ดินที่ถูกบุกรุกโดยคนรวยแล้วโดนจับมีน้อยมาก
...
ส่วนนายสุรเชษฐ์ เชษฐมาศ นายกสมาคมอุทยานแห่งชาติกล่าวว่า สมาคมฯหารือในเรื่องดังกล่าวและเห็นด้วยถ้ามีการแจกที่ดินและถึงมือราษฎรที่ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกินจริงๆ ไม่ใช่คนจนปลอมมาถือสิทธิ์แล้วเอาไปขายต่อให้คนรวย หรือเป็นนอมินีของคนรวย ที่ผ่านมาเป็นอย่างนั้นจริงๆ ที่สำคัญที่ดินที่จะแจกเป็นข้อเรียกร้องของคนจนจริงๆ หรือความต้องการของคนที่จะแจก ดังนั้นต้องสำรวจข้อมูลให้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นป่าไม้และที่ดินของชาติเสียหายแน่