ใครบางคนเคยรวบรวมไว้เป็นสูตรสำเร็จในการเลือกผู้ที่เหมาะจะมาเป็นคู่ชีวิตของคนเราเอาไว้ 4 ข้อ

คุณสมบัติแรก อยู่ด้วยแล้วต้องสุขใจยามเมื่อได้ใกล้ชิด...แน่ล่ะขืนอยู่ใกล้กันแล้วเป็นทุกข์มากกว่าสุข ข้อถัดไป ก็ไม่ต้องเสียเวลาอ่าน

คุณสมบัติถัดมา ต้องมีลักษณะของการ เป็นคู่ช่วยคิด ท่านว่าชีวิตคู่ จึงจะก้าวหน้า

ข้อสาม ก็สำคัญไม่น้อย คือ ให้กำลังใจยามที่เรามีทุกข์มา ไม่ใช่ซ้ำเติมให้หนักกว่าเก่า

และข้อสุดท้าย ถ้าใครรักเราจริง ใช่แค่ลมปาก ท่านว่า ให้ดูกันที่ เขาหรือเธอผู้นั้น ต้องทนเราได้...ในนิสัยแย่ๆที่แก้ไม่หาย

นั่นคือดัชนีชี้วัดที่มีผู้รวบรวมเอาไว้เป็นหลักในการเลือกคู่ครองแบบคร่าวๆ

ถามต่อแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า คนที่มีบุคลิกภาพอย่างเรา ควรจะเลือกเรียนต่อหรือประกอบอาชีพทางด้านใด จึงจะมีความสุขและประสบความสำเร็จ เป็นเมื่อก่อนอาจต้องถามหมอดู แต่เดี๋ยวนี้มีผู้รวบรวมเอาไว้เป็นสูตรสำเร็จแล้วเช่นกัน

วันก่อน กองส่งเสริมการมีงานทำ กรมการจัดหางาน เชิญ อ.ชูเกียรติ จากใจชน หัวหน้าสาขาจิตวิทยา และ อ.พลภัทร เจริญเวียงเวชกิจ หัวหน้ากลุ่มวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ สาขาจิตวิทยา จากคณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ มาแนะนำสูตรสำเร็จในการเลือกเรียน และเลือกหาอาชีพที่ทำให้ตัวเองรุ่ง

สองอาจารย์ผู้ร่วมกันสร้างและพัฒนาแบบวัดบุคลิกภาพขึ้น โดยอาศัยพื้นฐานจากทฤษฎีการเลือกอาชีพที่โด่งดังของ มิสเตอร์ฮอลแลนด์ (Holland’s Theory of Vocational Choice) แต่นำมาประยุกต์ให้เข้าหรือเหมาะสมกับคนไทยมากขึ้น บอกว่า

บุคลิกภาพ คือลักษณะเฉพาะของคนเรา เป็นลักษณะที่รวมถึงความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมต่างๆ ที่ผสมผสานกันอยู่ในแต่ละบุคคล

นักจิตวิทยาจึงเชื่อว่า พฤติกรรมของแต่ละคนอาจแปรเปลี่ยนไปได้ตามสถานการณ์ แต่จะมีความคงเส้นคงวาในระดับหนึ่ง จากจุดนี้จึงสามารถจำแนกนิสัย หรือบุคลิกของคนเราได้ ซึ่งความแตกต่างระหว่างบุคคลนี้เอง ที่ทำให้แต่ละคนมีความเหมาะสมในอาชีพการงานที่ต่างกัน

...

ทั้งชูเกียรติและพลภัทรบอกว่า การที่คนเราทราบถึงบุคลิกภาพของตัวเอง ย่อมช่วยให้สามารถเลือกสาขาวิชาที่จะเรียนต่อ หรือเลือกประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสม มีความมั่นคงก้าวหน้า ที่สำคัญ ยังช่วยให้มีความสุขในการประกอบอาชีพนั้นๆด้วย

ทั้งคู่แบ่งแยกบุคลิกภาพในแบบฉบับที่ทำการศึกษา เอาไว้ทั้งหมด 28 ด้าน

เช่น ผู้ที่มีบุคลิกภาพ นิยมความจริง, ชอบค้นหา, ใฝ่ศิลปะ, ชอบสังคม, อนุรักษ์นิยม, แคล่วคล่อง, ใฝ่ประกอบการ, ทำงานเป็นทีม, นักบริหารนอกกรอบ, นักบริหารผู้เคร่งครัด, นักธุรกิจยุคใหม่, ผู้นำภาคสนาม, ศิลปินช่างคิด, ผู้นำนักค้นหา, นายช่างนักธุรกิจ และ นักวิทยาศาสตร์รักอิสระ เป็นต้น

พวกเขายกตัวอย่างว่า ผู้ที่มีบุคลิกภาพนิยมความจริง มักเป็นคนพูดน้อย ไม่ชอบเข้าสังคมมากนัก เป็นคนเปิดเผยจริงใจ แต่มักประหม่า เมื่อต้องร่วมกิจกรรมกับผู้อื่น ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ มากกว่าสิ่งที่เป็นนามธรรม และชอบที่จะลงมือทำมากกว่านั่งคิดพิจารณา

คนประเภทนี้มักมีความอุตสาหะ อดทน มีสภาวะจิตใจที่มั่นคง เสมอต้นเสมอปลาย แต่อาจขาดความยืดหยุ่นในบางครั้ง ชอบกิจกรรมที่ใช้แรงกายมากกว่าใช้สมองคิด วิเคราะห์ ชอบทำกิจกรรมกลางแจ้งและออกภาคสนาม

อาชีพที่เหมาะสมจึงมีตั้งแต่ ช่างซ่อมรองเท้า ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ชาวนา นักกีฬา คนขับรถ นักการภารโรง ช่างไฟฟ้า ช่างประปา ช่างไม้ ช่างยนต์ ชาวประมง ตำรวจ ทหาร วิศวกรเครื่องกล และวิศวกรโยธา เป็นต้น

ถัดมา ผู้มีบุคลิกภาพชอบค้นหา มักเป็นผู้มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ค่อนข้างเก็บตัว ไม่ชอบเข้าสังคม รักอิสระ ให้ความสำคัญกับนามธรรมมากกว่ารูปธรรม ชอบคิด วิเคราะห์ และวางแผนก่อนลงมือปฏิบัติ และมีความคิดในเชิงเหตุและผลสูง

คนประเภทนี้เหมาะกับงานประเภท นักวิจัย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ โปรแกรมเมอร์ ช่างอิเล็กทรอนิกส์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเศรษฐศาสตร์

ผู้มีบุคลิกภาพชอบสังคม คนประเภทนี้มักชอบช่วยเหลือผู้อื่น เข้าใจผู้อื่นได้ดี มีไมตรีจิต ชอบบำเพ็ญประโยชน์ ชอบเข้าสังคม มีความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ มีลักษณะออมชอม ประนีประนอม ให้ความสำคัญเรื่องการสร้างและรักษามิตรภาพระหว่างบุคคลมากกว่าสิ่งใด

ผู้มีบุคลิกดังกล่าวจึงเหมาะกับการเป็นนักขาย นักการตลาด นักประชาสัมพันธ์ พนักงานต้อนรับ ครู วิทยากร นักจัดรายการวิทยุ/โทรทัศน์ มัคคุเทศก์ และฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์

บุคลิกภาพแบบผู้บริหารนอกกรอบ มักเป็นผู้มั่นใจในตนเอง กล้าแสดงออก มีความยืดหยุ่นทางความคิดสูง ไม่ชอบยึดระเบียบแบบแผนมากนัก มีความคิดสร้างสรรค์สูง มีจิตใจอ่อนไหว ชอบเสพความสุนทรีย์ในชีวิต พร้อมที่จะคิดและทำในสิ่งที่ต่างจากผู้อื่น สามารถจัดการกับแรงกดดันได้ดี ชอบค้นหาความท้าทาย

ชูเกียรติและพลภัทรบอกว่า บุคคลประเภทนี้เหมะกับอาชีพ นักขาย นักการตลาด นักลงทุน ผู้บริหารฝ่ายการตลาด เจ้าของกิจการ นักเขียน คอลัมนิสต์ บรรณาธิการ เจ้าของสำนักพิมพ์ นักประดิษฐ์ และ นักออกแบบผลิตภัณฑ์

บุคลิกภาพแบบนักจัดระเบียบสังคม โดยมากเป็นผู้มีความรับผิดชอบ เจ้าระเบียบ ให้ความสำคัญกับเหตุผลมากกว่าอารมณ์ความรู้สึก แต่มักมีแนวโน้มเป็นคนที่ขาดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ จึงมักชอบปฏิบัติไปตามแบบแผนที่ถูกกำหนดไว้

ผู้มีบุคลิกแบบนี้เหมาะกับอาชีพพนักงานต้อนรับ บริการ แคชเชียร์ รปภ. เสมียน ธุรการ นายทะเบียน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ครู อาจารย์ วิทยากร นักจิตวิทยา และฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น

ถัดมา ผู้มีบุคลิกแบบนักบริหารผู้เคร่งครัด ส่วนใหญ่มักเป็นคนกล้าตัดสินใจ มั่นใจในตนเอง ตัดสินปัญหาด้วยเหตุผลมากกว่าใช้อารมณ์ ยึดถือกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด แต่อาจขาดความยืดหยุ่นทางความคิด

คนประเภทนี้เหมาะกับการเป็น ผู้พิพากษา ทนาย อัยการ นักปกครอง นักกฎหมาย ผู้ตรวจสอบคุณภาพ ผู้ตรวจสอบบัญชี ผู้บริหารฝ่ายการเงิน และ ผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า

บุคลิกนายช่างนักธุรกิจ มักเป็นคนชอบลงมือทำ กล้าเสี่ยง รักอิสระ ชอบคิดค้นสิ่งแปลกใหม่ และต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง

คนประเภทนี้เหมาะจะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง นักออกแบบสวน นักออกแบบงานช่าง เจ้าของสวนเกษตรเชิงพาณิชย์ หรือทำธุรกิจรับเหมาทั่วไป

ทั้งคู่ทิ้งท้ายว่า ผู้ที่โชคดีที่สุด คือ ผู้ที่ได้งานทำหรือประกอบอาชีพตรงตามบุคลิกของตน แต่ในความเป็นจริงยังมีตัวแปรอื่นอีก ที่ทำให้คนเราไม่อาจเลือกประกอบอาชีพที่ตนรัก เช่น ถูกค่านิยมในสังคมบีบคั้น หรือความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นต้น

แต่อย่างน้อย การที่เราได้รู้จักบุคลิกภาพของตัวเอง และรู้ว่างานใดเหมาะกับบุคลิกของตน สักวันเมื่อโอกาสเปิดช่อง งานที่โหยหามาทั้งชีวิตกับตัวเอง อาจสบช่องควงคู่กันไปอย่างมีความสุข.