ครบรอบ 41 ปี วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่น่าจดจำของบรรดาปวงชนชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากนักศึกษาและประชาชนในประเทศไทยกว่า 5 แสนคน รวมตัวเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการของ จอมพลถนอม กิตติขจร จนนำไปสู่การใช้กำลังของรัฐบาล
จารึก 13 ขบถ รธน.ทวงคืนประชาธิปไตย
ขณะที่ฝั่งบรรดานักศึกษาที่มีส่วนร่วมในการประท้วงต่อต้านเผด็จการและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในครั้งนั้น ที่ถูกระบุเป็นรายชื่อ 13 ขบถรัฐธรรมนูญ ที่ต้องจารึกไว้ ประกอบด้วย นายก้องเกียรติ คงคา นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง นายไขแสง สุกใส อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม นายชัยวัฒน์ สุรวิชัย อดีตอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตกรรมการบริหารศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย นายทวี หมื่นนิกร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายธัญญา ชุนชฎาธาร นักศึกษา ปี 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายธีรยุทธ บุญมี อดีตเลขานุการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย นายนพพร สุวรรณพานิช นักหนังสือพิมพ์มหาราษฎร์ นายบัณฑิต เฮงนิลรัตน์ นักศึกษาปี 4 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายบุญส่ง ชเลธร นักศึกษาปี 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
...
นายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพ็ชร อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตนักการเมืองแห่งขบวนการรัฐบุรุษ นายปรีดี บุญซื่อ นักศึกษาปี 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายมนตรี จึงศิริอารักษ์ นักศึกษาปี 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นักหนังสือพิมพ์สังคมศาสตร์ปริทัศน์ และนายวิสา คัญทัพ นักศึกษาปี 3 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 77 ราย บาดเจ็บ 857 ราย และสูญหายอีกจำนวนมาก แต่ทว่า "เหตุการณ์ 14 ตุลา" ถือเป็นการลุกฮือของประชาชนครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จในยุคศตวรรษที่ 20 อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ภาคประชาชนในประเทศอื่นๆ ทำตามในเวลาต่อมา เช่น เกาหลีใต้ในเหตุการณ์จลาจลที่เมืองกวางจู และปี 2546 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์กำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันประชาธิปไตย" และเป็นวันสำคัญของชาติอีกด้วย
นายภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวกับ "ไทยรัฐออนไลน์" ว่า แม้ 14 ต.ค. 2516 ถูกนับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของประชาธิปไตยสมัยใหม่ของไทย โดยเฉพาะในเรื่องแนวคิดสิทธิเสรีภาพ การทำลายระบอบเผด็จการทหาร โดยนักศึกษาประชาชนมือเปล่า เป็นสัญลักษณ์สำคัญของแรงบันดาลใจในการพัฒนาประชาธิปไตยไทยในระยะต่อมา แต่ทว่า ในอีกด้านหนึ่ง 14 ต.ค. ก็ทำให้เกิดกระแสการตอบโต้กลับของกลุ่มพลังเก่าด้วยเช่นกัน โดยระเบิดออกมาในวันที่ 6 ต.ค. 2519 ทำให้พลังที่หนุนเสริมประชาธิปไตยต้องถูกทำลายลงไป
นอกจากนี้ นายภาคิไนย์ กล่าวอีกว่า คุณูปการหนึ่งที่สำคัญของ 14 ต.ค. คือทำให้ประเทศไทยตระหนักถึงความเลวร้ายของระบอบเผด็จการมากขึ้น เนื่องจากภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีการขับเคลื่อนไปในทิศทางประชาธิปไตยมากกว่าทิศทางอื่นๆ แม้ว่าปัจจุบันมีการสะดุดและเสียหลักไป แต่ในระยะยาวแล้วจิตวิญญาณแบบ 14 ต.ค. จะสามารถประคับประคองให้สังคมก้าวไปในทิศทางที่ก้าวหน้า เป็นประชาธิปไตย และหวงแหนสิทธิเสรีภาพมากยิ่งขึ้น
ด้าน นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะอดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2516 กล่าวกับ ไทยรัฐออนไลน์ ถึงเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 ว่า เหตุการณ์ผ่านมา 41 ปี ในอดีตนักเรียนนักศึกษา เป็นแกนนำในการเคลื่อนไหว ปัจจุบันประชาชนตื่นตัวขึ้นมาก อยู่ภายใต้การนำของประชาชนเอง ไม่ใช่อยู่ภายใต้นักเรียนนักศึกษาเหมือนในอดีต ซึ่งปัจจุบันนักเรียนนักศึกษากลับเข้าไปห้องเรียนกันหมด บทบาทการชุมนุมที่ผ่านมาจึงจากองค์กรภาคประชาชนที่จัดตั้งขึ้น
นายสมบัติ กล่าวต่อว่า มุมมองหลังจากเหตุการณ์ 14 ต.ค. มีผลผลิตสำคัญหลายประการ เช่น 1.พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ทำให้สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ 2.พ.ร.บ.ค่าเช่านา ที่ทำให้การเช่านาไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และ 3.พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม รวมถึงชัยชนะของประชาชนนักศึกษาอีกด้วย
สำหรับทิศทางการเมืองไทย นายสมบัติ กล่าวว่า ประเทศไทยมาในเส้นทางของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย 82 ปีแล้ว ปัญหาหลักคือ การเลือกตั้ง จะทำอย่างไรให้สุจริต เที่ยงธรรม และโปร่งใส เลือกคนดีมาบริหารประเทศให้ได้ ซึ่งในประเทศไทยเป็นการเลือกตั้งโดยใช้เงิน ซื้อสิทธิ์ขายเสียงกันมาก ซึ่งเรียกว่า "ระบอบธนาธิปไตย" จนเกิดความรุนแรงทั้งในระดับชาติจนถึงระดับท้องถิ่น ฉะนั้น การเลือกตั้งเช่นนี้ จึงไม่ถือว่าเป็นการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
สุดท้ายเข้าสู่ ปีที่ 41 ของรำลึกการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเหล่านักเรียน นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ นักการเมือง นักคิด นักเขียน ใน เหตุการณ์ 14 ต.ค. น่าจะทำให้ผู้คนได้ขบคิดว่าผ่านมาแล้วกว่า 4 ทศวรรษ การพัฒนาการของประชาธิปไตยและคนไทยเดินไปถึงไหนแล้ว...?