“เมาแล้วขับ ชนคนตาย” ...โศกนาฏกรรม ซ้ำซาก ในสังคมไทย

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน บอกว่า จากเหตุการณ์เศร้าสลดที่ครอบครัวคุณวรพจน์ บุญช่วยเหลือ นักแข่งรถยนต์แรลลี่ และครอบครัวถูกคนเมาขับชน รถไฟลุกไหม้...เสียชีวิตทั้งครอบครัว ถือเป็นความสูญเสีย จากสาเหตุเดิมๆ คือ “เมาแล้วขับ”

ทำไม? สังคมไทยต้องเผชิญกับเรื่อง “คนเมาขับรถชนคนตาย หรือสาหัส” วนเวียน ซ้ำซาก เหมือนว่าจะไม่มีทางแก้ไขอะไรกับเรื่องนี้ได้

แม้จะมีการแก้กฎหมาย (พ.ร.บ.จราจร 2522, แก้ไข พ.ศ.2551) ให้ “เพิ่มโทษ” คนเมาขับรถชนคนตาย หรือบาดเจ็บสาหัสให้แรงขึ้น กรณีเมาขับชนคนตาย ติดคุกสูงสุด 10 ปี ปรับสูงสุด 2 แสนบาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ...

แต่จริงๆแล้วแทบจะไม่มีใครถูกลงโทษจำคุก 10 ปี ตามที่กฎหมายระบุไว้

เพราะสิ่งสำคัญของคดีเมาแล้วขับ เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผู้พิพากษาจะมองว่า “เป็นความผิดโดยประมาท” โดยนำไปเชื่อมโยงกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่น

ดังกรณีฎีกา 4067/2550 ซึ่งจำเลยเมาขับชนคนเสียชีวิต การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (2), 160 วรรคสาม กับการที่จำเลยขับรถโดยประมาทแซงรถที่อยู่ข้างหน้าไปในช่องเดินรถขวามือในขณะที่ผู้ตายขับสวนมา เป็นเหตุให้ชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายเสียหายและทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4), 157 นั้น เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย

...

จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวต้องลงโทษตาม ป.อ.มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด

กรณีนี้ สุดท้ายจำคุก 2 ปี 2 เดือน : โดยศาลพิจารณาว่า ฎีกาฟังไม่ขึ้น...

ยืนตามศาลชั้นต้น ตัดสินจำคุกทั้งสิ้น 4 ปี 2 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่ง ตาม ม.78 คงจำคุก 2 ปี 1 เดือน บวกโทษจำคุก 1 เดือน ที่ศาลรอการลงโทษในคดีก่อน รวมเป็นจำคุก 2 ปี 2 เดือน

คำถามมีว่าทำไม? ...ในทางสากล “เมาขับชนคนตาย” จึงถูกพิจารณาว่าเป็น “เจตนา” และมีความผิดร้ายแรง จนทำให้สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้

นพ.ธนะพงศ์ ยกตัวอย่างที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนหน้านี้ปัญหาเมาขับชนคนตาย ยังถูกพิจารณาว่าเป็นเรื่อง “ประมาท” (Professional Negligence Resulting in Death) จำคุกไม่เกิน 5 ปี...ปรับ 5 แสนเยน จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ.1999 เกิดกรณีคนเมาขับรถบรรทุก (แอลกอฮอล์ในเลือด 126 mg%) ชนรถเก๋งบนทางด่วนโทลล์เวย์ ทำให้รถเกิดไฟลุกไหม้ ส่งผลให้ลูกสาววัย 1 ขวบและ 3 ขวบเสียชีวิต...

แบบเดียวกับเหตุการณ์ครอบครัว คุณวรพจน์ บุญช่วยเหลือ โดยกรณีนี้ ศาลตัดสินจำคุก 4 ปี ฐานขับรถโดยประมาท และในช่วงติดๆกันนั้น เดือนเมษายน ค.ศ.2000 คนเมาขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต ชนนักศึกษาบนทางเท้าเสียชีวิต 2 คน ศาลตัดสินจำคุก 5 ปีครึ่งฐานขับรถโดยประมาทและไม่มีใบอนุญาตขับขี่

จากทั้ง 2 เหตุการณ์ส่งผลให้เกิดกระแสเรียกร้องของสังคมให้มีการ “แก้ไขกฎหมายเพิ่มโทษ” โดยครอบครัวของเหยื่อยื่นเรื่องต่อรัฐสภาขอให้มีการแก้ไขกฎหมายและพิจารณาว่า “ไม่ใช่เรื่องประมาท”

กระทั่งในปี ค.ศ.2001 กฎหมายใหม่ในเรื่อง “เมาขับ” กระบวนการยุติธรรมและศาลจะต้องพิจารณาด้วยว่าเป็นเรื่อง “ประมาท” หรือ “เจตนา” (negligent or crime of intent) เพราะถ้ายังเป็นความประมาท บทลงโทษยังคงเดิม คือ จำคุกสูงสุด 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนเยน

แต่ถ้าชี้ว่าเป็น “Dangerous Driving Resulting in Deaths and Injuries” หรือ crime of intent โทษจะสูงถึง 20 ปี ในกรณีที่มีการเสียชีวิต ซึ่งจะคำนึงถึง (1) การขับขี่ที่ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์และยา (2) การขับขี่ที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยความเร็วสูง (3) ไม่มีทักษะการขับขี่

(4) แซงอย่างน่ากลัว หรือขับรถจี้กดดันคันหน้า (5) ฝ่าสัญญาณไฟแดง

กรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นหลังจากกฎหมายใหม่ มีคนเมาขับ (แอลกอฮอล์ในเลือด 85 mg%) ขับรถชนคนเดินข้ามถนน อายุ 65 และ 95 ปี

เสียชีวิตทั้งสองคน ถูก ศาลตัดสินจำคุก 14 ปี โดยใช้แนวทาง “the crime of dangerous driving” แทนที่จะเป็นแนวทาง “the crime of professional negligence/Negligent driving”

ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ.2006 เกิดคดีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเมาขับชนท้ายรถเก๋งครอบครัวบนสะพานตกลงไปในอ่าวฮานาตะ เมืองฟูกูโอกะ เป็นเหตุให้เด็กที่นั่งมาในรถทั้ง 3 คนเสียชีวิต...เด็กชาย 4 และ 3 ขวบ เด็กหญิง 1 ขวบ โดยเจ้าหน้าที่คนนี้ได้ขับหนีและขอให้เพื่อนช่วยหลอกว่าเป็นผู้ขับขี่แทน

จากเหตุดังกล่าว สังคมญี่ปุ่นได้เรียกร้องอีกครั้งให้มีการแก้กฎหมายเพิ่มโทษคนที่นั่งไปด้วย และร้านจำหน่ายสุรา ที่ละเลยจำหน่ายให้คนที่ต้องขับรถ โดยยึดหลัก... “โทษหนัก บังคับเข้ม”

กฎหมายเมาแล้วขับ ตามมาตรา 65 พ.ร.บ.การจราจรของญี่ปุ่น ได้ถูกยกร่างขึ้นใหม่และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน ค.ศ.2007 บทบัญญัติครอบคลุมตั้งแต่...ห้ามขับขี่ยานพาหนะในขณะที่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย, ห้ามให้ยืมหรือให้ใช้ยานพาหนะแก่ผู้ที่น่าวิตกว่าจะกระทำผิด

ห้ามให้สุรา หรือสนับสนุนการดื่มสุราแก่ผู้ที่น่าวิตกว่าจะกระทำผิด, ห้ามร้องขอหรือไหว้วานให้ผู้อื่นขับขี่ยานพาหนะไปส่งตนเอง โดยที่รู้อยู่แล้วว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย อีกทั้งห้ามร่วมโดยสารไปในยานพาหนะที่ขับขี่โดยบุคคลที่กระทำผิดตามที่กำหนด

ที่สำคัญคือ “บทลงโทษ” ผู้ขับขี่เมาแล้วขับ จะรุนแรงและครอบคลุม ผู้เกี่ยวข้อง โดยมีหัวใจสำคัญ...การเมาแล้วขับและทำให้มีผู้เสียชีวิต จะมีโทษรุนแรง รองจากความผิดฐานฆ่าคนตายเลยทีเดียว

ปัจจุบันในสายตาชาวโลก ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 2 ของประเทศที่มีอัตราตายจากอุบัติเหตุสูงสุดในโลก ในขณะที่ตัวเลขจากใบมรณบัตร ก็ชี้ให้เห็นว่าอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาสำคัญ

ไม่นับรวมช่วงเทศกาล ทุกๆวันจะมีคนไทย 38 คนตายจากอุบัติเหตุทางถนน...คาดประมาณว่าเกี่ยวข้องกับเมาแล้วขับร้อยละ 20–25 หรือ 2,800–3,500 คน/ปี โดยยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง

ตราบใดที่กระบวนการพิจารณาตัดสินโทษยังคงใช้แนวคิดว่า “คนเมาขับชนคนเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัส” เป็นเรื่องเพียง “ขับรถโดยประมาท” โอกาสที่จะทำให้ “คนเมาขับ” ที่มีอยู่เต็มท้องถนน เกิดสำนึกและกลัวต่อความผิด คงจะเป็นไปได้ยาก

ประเทศญี่ปุ่น “ความสูญเสีย”...ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย กระบวนยุติธรรมและการพิจารณาของตุลาการ เราคงไม่ย่ำอยู่กับที่ปล่อยให้เกิดความสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากโศกนาฏกรรมเมาแล้วขับ

ผิดจาก “ประมาท” หรือ “เจตนา” ต้องพุ่งเป้าไปที่พฤติกรรมขับขี่ที่อันตราย ถึงเวลาของสังคมไทยที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะบทลงโทษที่เข้มงวดจริงจัง

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนฝากทิ้งท้าย.