หลังจาก "เฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" นำเสนอประเด็นข้อสงสัย กรณีชายตัวเล็ก จะสามารถทำร้ายชายหญิงที่ตัวสูงใหญ่กว่ามากได้หรือไม่ไปแล้วนั้น (http://www.thairath.co.th/content/455250) วันนี้ ในตอนที่ 2 จะนำท่านผู้อ่านร่วมตั้งข้อสังเกตถึง คดีสังหารนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ที่เกาะเต่า ถึงอาวุธสังหาร ที่ว่า นอกจาก "จอบ" ที่เป็นของกลางที่ตำรวจยึดได้แล้ว จะมี "มีดชก" อาวุธอีกชนิดที่หลายคนสงสัยหรือไม่ รวมถึงประเด็นเรื่องการตรวจ DNA วันนี้เราจึงขอนำทุกท่านมาฟังทัศนะ ของ "แพทย์หญิงคุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์" ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม
จอบ VS กะโหลกมนุษย์ = เปลือกไข่แตก
โดยแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ ให้ความรู้เบื้องต้นว่า การเกิดบาดแผล โดยเฉพาะที่ศีรษะ ปกติจะมีการเกิดบาดแผลจากหลายรูปแบบ แต่มีการแบ่งประเภทใหญ่ออกเป็นดังนี้ คือ บาดแผลจากของแข็งไม่มีคม บาดแผลจากของมีคม บาดแผลจากกระสุนปืน และบาดแผลจากความร้อน เหล่านี้คือแผลที่เห็นและบอกได้บนหนังที่ศีรษะ ยกตัวอย่างเช่น หากโดนของแข็งไม่มีคม ก็ต้องขึ้นอยู่กับรูปร่างของวัตถุ ซึ่งหลักๆ คือ ถ้าเป็นสิ่งที่มีลักษณะยาว ไม่มีสัน บาดแผลจะเป็นเส้นยาวตรง แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่ของแข็งนั้นมีมุม จะเกิดรอยบุ๋ม มีรอยแตกเฉพาะ แต่ถ้าเกิดจากสิ่งที่เป็นมุม ลักษณะผิวหนังอาจจะเป็นรอยยาวๆ หรือเป็นมุมอะไรก็ได้ แต่ส่วนกะโหลกศีรษะมันจะแตกยุบเหมือนเปลือกไข่ ภาษาทางการแพทย์ เรียกว่า Eggshell fracture
...
หมอพรทิพย์ ตั้งข้อสังเกตถึง "จอบ" อาวุธสังหาร ว่า ลักษณะของจอบจะมี 3 จุดที่ก่อให้เกิดแผลได้ 3 แบบ คือ ด้ามจอบ จะก่อให้เกิดแผลในลักษณะยาวเท่านั้น ทั้งผิวหนังและกะโหลกศีรษะจะเป็นรอยยาว ส่วนใบจอบจะมีสองด้าน คือด้านคมจอบและโคนจอบ เมื่อไรก็ตามที่โดนด้านโคนจอบบาดแผลจะมีลักษณะเหมือนเปลือกไข่ทุบ เพราะมันเป็นมุมกะโหลกมันจะบุ๋ม ผิวหนังอาจจะดูไม่ออกแต่ดูกะโหลกจะเห็น แต่ถ้าไปโดนส่วนมุมของคมจอบ บาดแผลจะมีรอยเล็ก และอีกอย่างหนึ่งก็คือโดนส่วนปลาย
หมอพรทิพย์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงสภาพศพนักท่องเที่ยวอังกฤษ ว่า จากบาดแผลของศพมันเป็นขอบไม่เรียบ แต่เกือบเรียบ ขอบจะมีแผลถลอกตื้น หรือ แผลรุ่งริ่ง ถ้าเมื่อไรถูกของมีคมขอบจะคมเรียบเลย แต่ว่าสิ่งที่กระแทกต้องไปดูที่กะโหลก ถ้าถามว่าโดนด้ามไม้ตีลงไป โอกาสที่จะเห็นแบบนี้น้อยหน่อย เพราะว่ามันดูลึก เพราะฉะนั้น ต้องไปดูที่ตรงตัวกะโหลกรอยแผลขอบไม่เรียบก็คือของไม่มีคม ดูจากรอยแผลส่วนใหญ่เหมือนแผลมันลึก ถ้าแผลมันลึกก็ไม่ใช่ด้ามจอบ ถ้าจะเป็นไปได้คือมุมจอบ แต่ไม่ทราบว่ามันลึกหรือไม่ แต่ถ้าแผลมันลึกคือมุมของจอบ เพราะว่ามันเกือบคม เห็นได้ว่ารอยแผลมันเรียบ ต้องนำจอบอันนั้นมาดู
กะโหลกมนุษย์ ไม่ใช่ มะพร้าว หรือ แตงโม แทนกันไม่ได้
ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระบุอีกว่า วิธีง่ายมากที่จะรู้ว่าอาวุธสังหารเป็นจอบหรือไม่ คือการจำลองเหตุการณ์ หากต้องการรู้ว่าบาดแผลนี้เกิดจากอาวุธชนิดใด ก็ให้ใช้หนังหมูมาทดลอง เช่น เกิดจากจอบ ก็ใช้จอบมาฟาดใส่หนังหมู ก็จะได้บาดแผล แต่สำหรับแผลที่เกิดขึ้นกะโหลกนั้น ไม่สามารถจำลองได้ เพราะไม่มีอะไรมาใช้จำลองแทนกะโหลกได้ ดังนั้น การนำมะพร้าว หรือ แตงโม มาใช้จำลองเหตุการณ์จึงไม่สามารถวัดผลอะไรได้
DNA ที่จอบน่าจะเป็นกุญแจสำคัญ
"จอบมีความไปได้ เพราะว่าจอบเป็นโลหะ ประเด็นคือต้องนับครั้งให้ได้ว่ากี่หน ซึ่งคิดว่าน่าจะใช้ส่วนปลาย แต่ถ้าเป็นในส่วนของประเด็นที่หลายคนสงสัยว่าอาวุธที่ใช้เป็นมีดชกหรือเปล่า ส่วนตัวคิดว่ายากเพราะน้ำหนักของมือเวลาต่อยค่อนข้างน้อย ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้แผลลึกจนไปถึงกระดูกได้ ส่วนจอบจะมีน้ำหนักค่อนข้างมากทิ้งน้ำหนักไปได้เต็มๆ แต่ถ้าแผลไม่มาก แต่ลึกแปลว่าน้ำหนักที่ดันลงไปเยอะ ซึ่งเหมือนจอบมากที่สุด ถ้าดูตามนี้ DNA ที่จอบต้องขึ้น เพราะมีการตีหลายครั้ง
...
หา DNA ในถุงยาง ไม่ได้หาได้เพียงที่อสุจิ
หมอพรทิพย์ ยังได้ตั้งข้อสังเกต ถึงเรื่องประเด็นการตรวจหา DNA ในถุงยางอนามัยด้วยว่า แม้จะไม่เกิดการหลั่งน้ำอสุจิของเพศชาย แต่ก็ยังสามารถตรวจสอบหา DNA ได้ โดยการตรวจสอบจากเซลล์ผิวอวัยวะเพศชาย ทั้งนี้ เพราะ DNA ที่จะปรากฏของผู้ชายจะมีอยู่สองอย่าง คือ การหลั่งอสุจิ หรือถ้าไม่หลั่งจะมีแต่เฉพาะเซลล์ผิวอวัยวะเพศ ส่วนอาจะถูกถูกทำลาย หรือถูกล้างโดยน้ำทะเลนั้น ก็เป็นไปได้ เพราะหากโดนน้ำนิดเดียวก็หายไปแล้ว แต่ถ้าเป็นน้ำทะเลล้างออกแล้วทำไมจึงยังมี DNA ของผู้หญิงอยู่
คุณหญิงหมอ เผยต่อว่า สำหรับกระบวนการตรวจ DNA ประกอบด้วย 1.การสกัด DNA 3 ชม. 2.การวัด DNA 1 ชม. 3.การเพิ่ม DNA 3 ชม. ในคดีที่เร่งรีบ อาจจะมีการมีข้ามขั้นตอนการเพิ่ม DNA ส่วนการตรวจ DNA ในจอบนั้น หากไม่เจอก็อาจจะเป็นเพราะการตรวจไม่ถูกจุด เพราะคดีเร่งรีบอาจจะไม่ได้ทำการจำลองการจับจอบ ก็อาจะเป็นได้ที่จะตรวจผิดตำแหน่งทำให้ไม่พบ อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการสกัด DNA ต้องใช้เวลาในการสกัดพอสมควร หากมีเวลาไม่พอ ประกอบกับถ้ามีน้อย มันก็อาจจะหายไปได้
...
จอบ เป็นไปได้มากสุด มีดชก น้ำหนักน้อย
หมอพรทิพย์ ยังกล่าวถึงข้อสงสัยว่า อาวุธสังหารจะเป็นจอบได้หรือไม่ ว่า คิดว่าน่าจะเป็นไปได้ เพราะแผลค่อนข้างสั้นแคบ ลึก ขอบเรียบ บางจุดก็ไม่เรียบ มันเข้ากับวัตถุอันนี้
ส่วนประเด็นข้อสงสัย เรื่อง "มีดชก" หมอพรทิพย์ ระบุว่า ความน่าเชื่อถือน้อยมาก มันยาก เพราะว่าน้ำหนักของการใช้มันน้อยที่จะทำให้เกิดแผลลึกเข้าไปถึงกะโหลก อาวุธแบบนี้วิธีใช้มันต้องมาจากมืออย่างเดียว
สุดท้าย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ได้เสนอแนะถึงรัฐบาลว่า คดีนี้เป็นตัวอย่างที่มันตรงกับสิ่งที่รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบาย แต่ว่าจะทำอย่างไรมันเป็นเรื่องของกระบวนยุติธรรม ข้อแรกคือ กฎหมายโบราณ คดีแบบนี้มันต้องใช้กฎหมายที่ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุกับแพทย์มีหน้าที่หลัก ไม่ใช่พนักงานสอบสวน ซึ่งในต่างประเทศ พนักงานสอบสวนคือรอ แต่ว่าในกรณีที่ได้พยานหลักฐานต้องให้แพทย์กับเจ้าหน้าที่ตรวจสถานที่ลงไป สิ่งสำคัญการตรวจดีเอ็นเอ พยาน กับบุคคล ก็ต้องแยกกันตรวจ และไม่อยากให้เจ้าหน้าที่ก้าวล่วงการทำงานนิติวิทยาศาสตร์ จะให้ลัดคิวไม่ได้ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เราจะมีเซตเป็นระบบไว้ว่าธรรมดา ด่วน ด่วนที่สุด
...
"คดีนี้เป็นภาพสะท้อนว่าระบบใหญ่ต้องเปลี่ยน เพราะคดีนี้สะท้อนว่า กระบวนการยุติธรรมไทยเรายังไม่อำนวยได้หมด แรกเริ่มก็คือ เกาะเต่า ก็ไม่มีพนักงานเพียงพอ สองเราทุ่มไปช่วยเฉพาะฝรั่ง ถ้าเป็นตาสีตาสาจะไม่มีใครมาทุ่มอย่างนี้เลย จะไม่มีใครมาเป็นปากเป็นเสียง นี่คือภาพสะท้อนจากคดีนี้ และความน่าเชื่อถือจะเกิดขึ้นถ้ากระจายอำนาจ ก็คืองานนิติวิทยาศาสตร์จะต้องไม่ใช่ตำรวจ" หมอพรทิพย์ กล่าว
อย่างไรก็ดี เมื่อทางทีมเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถามความเห็นจาก พล.ต.ต.พรชัย สุธีรคุณ ผบก.สถาบันนิติเวช รพ.ตำรวจ ถึงลักษณะบาดแผลของมนุษย์ เมื่อถูกจอบทำร้าย ว่า เรื่องนี้อธิบายยาก เนื่องจากลักษณะบาดแผลนั้น ขึ้นอยู่กับวัตถุที่ไปกระแทก ซึ่งวัตถุแต่ละอย่างมีหลายส่วน อยู่ที่ว่าผู้ถูกกระทำจะโดนส่วนไหนของวัตถุนั้น ทำให้บาดแผลมีลักษณะแตกต่างกันออกไป
ผบก.สถาบันนิติเวช อธิบายต่อว่า หากเป็นส่วนของด้ามจอบ บาดแผล จะมีลักษณะช้ำบวม ฉีกขาด เมื่อโดนตีเข้าไปที่ศีรษะอาจจะแตกหรือไม่แตก ขึ้นอยู่กับว่าใช้แรงมากน้อยแค่ไหน ส่วนโคนจอบ ทำด้วยเหล็ก การกระแทกจะขึ้นอยู่กับแรง ทำให้ผิวหนังช้ำบวมได้เหมือนกัน คนตีไม่ต้องใช้แรงมาก เนื่องจากอาวุธที่ใช้แข็งกว่า บาดแผลจะค่อนข้างรุนแรง
ขณะที่ คมจอบ การเกิดแผลจะเหมือนของแข็งมีคม ถ้าใช้ส่วนคมจอบบาดแผลที่ได้จะมีลักษณะคล้ายมีดที่คมกว่า ส่วนจอบจะมีความทื่อ สำหรับความรุนแรงของบาดแผลจะสาหัส เพราะว่าน้ำหนักของอาวุธมีมากกว่า ส่งผลต่อร่างกายเยอะ อย่างไรก็ตาม บาดแผลจะลึกมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับแรงกำลังของคน หากฟาดเข้าไปที่ศีรษะแรงมาก ก็มีโอกาสที่แผลจะลึกไปถึงส่วนของกะโหลกได้ และก็ต้องขึ้นอยู่กับทิศทางและส่วนของจอบที่กระแทกลงไป
สำหรับลักษณะบาดแผลของมีด จะแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ด้านที่เป็นสันมีด จะมีความทื่อฟันไม่เข้า มีรอยเป็นแนวเกิดขึ้น และด้านคม ขอบแผลจะเรียบ
"ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งยากมาก หากจะใช้จอบฟาดเพียงครั้งเดียวแล้วทำให้ผู้ที่โดนกระทำเสียชีวิตในทันที อาจจะแค่หมดสติไป แต่ถ้าครั้งเดียวแล้วเสียชีวิต ผมคิดว่าผู้กระทำคงต้องมีแรงเยอะมาก ส่วนใหญ่ถ้าตั้งใจตีจะกระทำหลายครั้ง และใช้แรงเยอะก็มีส่วนทำให้เสียชีวิตได้ เราก็ต้องพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ ว่าตรงไหนใช้อะไรกระแทกมากน้อยแค่ไหน ทุกอย่างสามารถทำให้เกิดแผลได้หมด" ผบก.สถาบันนิติเวช กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับในตอนต่อไป "เฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" จะไขรหัสภาพวงจรปิดที่มีการกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวาง ติดตามอ่านได้ในไขข้อสงสัยคดีเกาะเต่า แพะไม่แพะ ตอน 3...หาจุดต่าง ค้นจุดแปลก! แกะรอยภาพวงจรปิดสุดแคลงใจ http://www.thairath.co.th/content/455496