กลางเดือนตุลาคม ก๊อสัปดาห์หน้า กระทรวงรถไฟจีน จะเปิด รถไฟความเร็วสูงสายยาวที่สุดในโลก วิ่งระหว่าง เมืองหลันโจวซินเจียง เป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกที่เชื่อม เขตปกครองพิเศษซินเจียง ของ ชนชาติอุยกูร์ ที่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง เส้นทางนี้จะช่วยลดเวลาการเดินทางระหว่าง ซินเจียง มณฑลก่านซู และ มณฑลชิงไห่ จาก 12 ชั่วโมง เหลือเพียง 8 ชั่วโมง
และยังช่วยลดเวลาการเดินทางจาก กรุงปักกิ่ง ไปยัง เมืองอุรุมชี เขตปกครองพิเศษซินเจียง จาก 40 กว่าชั่วโมงเหลือเพียง 20 กว่าชั่วโมง
ผมเขียนถึงรถไฟความเร็วสูงจีนสายใหม่ ก็เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึง “ความรวดเร็วในการก่อสร้าง” ของรถไฟจีนกับ “การก่อสร้างรถไฟฟ้าในเมืองไทย” ซึ่งล่าช้ายิ่งกว่าเต่าคลานเสียอีก สร้างจนคนงานเหนียงยานก็ยังสร้างไม่เสร็จสักที แล้วทุกรัฐบาล ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาลปฏิวัติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะงัดเอาโครงการรถไฟฟ้าเก่าๆเหล่านี้มาเล่าใหม่เพื่อหาเสียง เหมือนมีผลงานใหม่ทุกวัน
รถไฟความเร็วสูงสายยาวที่สุดในโลกของจีนสายนี้ มีระยะทาง 1,776 กิโลเมตร 31 สถานี วิ่งด้วยความเร็ว 350 กม./ชม. ค่าก่อสร้าง 143,500 ล้านหยวน ประมาณ 7 แสนกว่าล้านบาท เริ่มลงมือก่อสร้างปี 2552 และเปิดให้บริการกลางเดือนตุลาคมนี้ แสดงว่า จีนใช้เวลาก่อสร้างเพียง 5 ปี ทั้งที่เป็นเส้นทางยกระดับทั้งหมด
ที่ทึ่งก็คือ จีนเริ่มสร้างรถไฟความเร็วสูงสายแรกปี 2005 จีนใช้เวลา 2 ปี ก็สร้างเสร็จ เปิดให้บริการในปี 2007 ตัวเลขล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา จีนเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงทั้งหมด 10,463 กม. แล้ว ถ้ารวมเส้นทางใหม่ซินเจียง ก็เป็นระยะทาง 12,239 กม. จีนใช้เวลาเพียง 9 ปี สร้างรถไฟความเร็วสูงระดับ 250 กม./ชม. ได้ถึง 12,239 กม. เฉลี่ยปีละ 1,360 กม. เป็นสิ่งมหัศจรรย์เหลือเชื่อจริงๆ
...
เมื่อเทียบกับ การสร้างรถไฟฟ้าธรรมดาในเมืองไทย เช่น รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ที่วิ่งด้วยความเร็ว 160 กม./ชม. เริ่มก่อสร้างปี 2006 หลังจีนสร้างรถไฟความเร็วสูงหนึ่งปี ระยะทางแค่ 28.6 กม. จากสนามบินสุวรรณภูมิถึงพญาไท ใช้เวลาก่อสร้างถึง 4 ปี เฉลี่ยปีละ 7.15 กม. วันละ 19.58 เมตร ผมว่าเต่าหรือทากยังคลานได้เร็วกว่า
ผมอยากเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่คิดไวทำไว เห็นได้จากการปฏิวัติ แต่การทำงานยังไม่เห็นผลงาน เรียนท่านไว้ตรงนี้ว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ล่าช้า เมื่อคิดในทางเศรษฐกิจแล้ว ได้สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาลทุกวัน งานไม่เดิน แต่เงินต้องจ่าย เพราะ ระบบการก่อสร้างที่ล้าหลัง ผู้ชนะการประมูลไม่ได้ลงทุนใช้เครื่องมือก่อสร้างทันสมัย เพราะต้องไปจ่ายเบี้ยบ้ายรายทาง ถ้าท่านไม่แก้ไขตรงนี้ ผลงานรถไฟฟ้าหนึ่งปีไม่มีทางได้เห็นแน่นอน
ผมเคยดูคลิปวีดิโอก่อสร้างรถไฟจีน ทั้งรถไฟธรรมดาและรถไฟความเร็วสูง จีนก่อสร้างเร็วมาก ใช้เทคโนโลยีก่อสร้างขั้นสูง ใช้เครื่องจักรทันสมัยแทนแรงคน ต่างจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าไทย สร้างแบบเสร็จก็ช่าง ไม่เสร็จก็ช่าง วิ่งเต้นต่อเวลาได้ การก่อสร้างรถไฟฟ้าไทยจึงเป็นไปอย่างล่าช้า เร็วที่สุดก็ใช้เวลาสายละ 5 ปี ยังไม่นับการเดินรถที่ไม่มีการทำคู่ขนาน เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง สร้างระบบรางเสร็จ แต่ไม่มีรถวิ่ง เพราะยังไม่ได้ประมูล เขียนไปก็อนาถใจแทนประเทศไทย ช่างไร้สำนึกกันจริงๆ
หรือ รถไฟฟ้ากรุงเทพ 10–12 สาย ที่หาเสียงตีปี๊บกันมาไม่ต่ำกว่าสิบปีขึ้นไป เปลี่ยนรัฐบาลทีก็ตีปี๊บที แต่วิ่งได้จริงมีแค่ สายสีน้ำเงิน ระยะทางแค่ 21 กม. 18 สถานีเท่านั้น ส่วนที่กำลังก่อสร้างมี 2-3 สาย แต่ที่เหลือทั้งหมดยังไม่มีการประมูลด้วยซ้ำ
เมื่อวันจันทร์เพิ่งมีข่าว สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ จะกู้เงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการรถไฟฟ้าในปีหน้า อาทิ สายสีเขียว สีส้ม สีชมพู สีเหลือง คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2559 โน่น อีกสองปี “ถ้ามีความพร้อม” เห็นทีชาวกรุงคงต้องรอกันจนเหนียงยานอีกต่อไป เวรกรรมประเทศไทยจริงๆ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”