คลอด5มาตรการทุ่ม3.6แสนล้าน ‘ชัชวาลย์’ปลัดยธ.-ทูลเกล้าฯสปช. คืนความสุขปีใหม่ให้หยุดยาว5วัน
“รบ.ประยุทธ์” คลอดแพ็กเกจกระตุ้น ศก. ไตรมาสแรก 5 มาตรการ 3.64 แสน ล. เข็นจีดีพีโตตามเป้า “หม่อมอุ๋ย” รับหน้าเสื่อแจงแผน เร่งงบลงทุน-ค้างท่อมาจ้างงาน ซ่อม-สร้างโครงการเล็กๆปลุกรากหญ้าดัน ศก.ผงกหัว โปรย 4 หมื่น ล.อุ้มชาวนา แจกไร่ละพันบาท 1.6 ล้านครอบครัว ครม.เห็นชอบแต่งตั้ง-โยกย้ายบิ๊กขรก.อีกระลอกใหญ่ ดัน “ชัชวาลย์” ขึ้นแป้นปลัด ยธ. “แรงงาน” ตั้ง 3 อธิบดี 3 รองปลัดฯแทนคนเกษียณ “เกษตรฯ”ได้ 5 อธิบดีใหม่คุมกรมบิ๊ก “ประยุทธ์” ส่งรายชื่อ 250 สปช.ขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว “บิ๊กป้อม” นำ ผบ.เหล่าทัพคนใหม่แนะนำตัว “ป๋าเปรม” ปธ.สนช.เล็งใช้มติ สนช.ถอดถอน “ปู-ขุนค้อน-นิคม” พร้อมพวก
การประชุม ครม.ในช่วงเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นเดือน รอยต่อของการเกษียณอายุราชการของข้าราชการประจำกระทรวงต่างๆ ทั้งนี้ ครม.มีการเห็นชอบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการแทนตำแหน่งที่ว่างลงอีกหลายกระทรวง
“บิ๊กตู่” นั่งเบนซ์ใหม่คันโก้ประชุม ครม.
เมื่อเวลา 08.10 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั่งรถเบนซ์ สีดำ กันกระสุน เลขทะเบียน ญค 1881 กรุงเทพมหานคร เข้ามาทำงาน ซึ่งเป็นรถยนต์ส่วนตัว พล.อ.ประยุทธ์เอง โดยเหตุที่ต้องเปลี่ยนมาใช้รถคันดังกล่าว เนื่องจากเกษียณอายุราชการจากตำแหน่ง ผบ.ทบ.แล้ว ส่วนรถเบนซ์ สีดำ ทะเบียน ศท 1251 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถประจำตำแหน่ง ผบ.ทบ.ได้ส่งคืนกองทัพบก อย่างไรก็ตาม ในการประชุม ครม. ยังคงใช้ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาลเป็นที่ประชุมเหมือนครั้งที่ผ่านมา ขณะที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งหมดใส่ชุดเสื้อผ้าไหมไทยโทนสีต่างๆ เข้าร่วมประชุม ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ใส่เสื้อผ้าไหมไทยสีเทาแขนยาวทรงพระราชทาน
...
ทำเนียบฯเข้มทุกจุดผวาความลับรั่ว
จากนั้นเวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้เดินลงจากห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้ามีสีหน้าที่ยิ้มแย้มทักทายผู้สื่อข่าว โดยระหว่างที่เดินจากตึกไทยคู่ฟ้าลงมาทางเชื่อมตึกสันติไมตรี เพื่อเข้าประชุม ระหว่างนั้นผู้สื่อข่าวได้พยายามตะโกนถามนายกฯว่า ได้ส่ง รายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วหรือยัง นายกฯเพียงยิ้ม โดยไม่ได้ตอบคำถาม ขณะที่การรักษาความปลอดภัยการประชุมยังคงเป็นไปอย่างเข้มงวด กันพื้นที่สื่อให้อยู่เฉพาะทางเชื่อมตึกสันติไมตรี และมีการตัดสัญญาณโทรศัพท์
นายกฯแจกการบ้าน รมต.ชุดใหญ่
เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ช่วงท้าย การประชุม ครม.วันที่ 1 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดถึงนโยบายสร้างความปรองดอง และปฏิรูป ขอให้รัฐมนตรีทุกคนดึงประชาชนมาเป็น พวกให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะรากหญ้า เกษตรกร ชาวนาที่รายได้น้อย มีที่ดินทำนาไม่มาก และชาวสวนยางต้องได้รับการดูแล ผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และให้ระวังการใช้คำพูด เวลาไปพูดกับประชาชน เพราะเดี๋ยวจะมองว่าเป็นประชานิยม การเคลื่อนไหวทางการเมือง ถ้าใครผิด หรือติดคดีก็ต้องพยายามนำมาดำเนินคดีในประเทศไทย โดย เฉพาะคนที่อยู่ประเทศกัมพูชา และการทำงานรัฐบาลไม่ใช่แค่เอากลุ่มเราแค่คนในรัฐบาลเท่านั้น แต่ควรมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ นักธุรกิจมากินกาแฟพูดคุยกัน ไม่ต้องถึงขนาดดินเนอร์ทอล์ก อย่าอยู่โดดเดี่ยว หาเพื่อน หาคนช่วยคิดบ้าง
ไฟเขียวงบฯกระตุ้น ศก.แสนล้าน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม.ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า มาตรการภาพรวมส่วนใหญ่เป็นเรื่องการใช้จ่ายงบ ประมาณที่มีอยู่ และที่ค้างอยู่ ที่ดึงออกมาเพื่อปฏิบัติงานเร่งด่วน คือ 1.การซ่อมแซมของทุกกระทรวง ทบวง กรม เน้นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ จ้างงาน ให้เศรษฐกิจกระเตื้องมีเม็ดเงินหมุนเวียน 2.การดูแล เกษตรกรที่มีรายได้น้อย เช่น กลุ่มชาวนา รวมถึง อีกหลายกลุ่มที่มีความเดือดร้อนจะทยอยแก้ทีละกลุ่ม เราพยายามจะทำให้เป็นระบบให้ได้ โดยอนุมัติในหลักการวงเงินแสนกว่าล้านบาท
เมื่อถามว่า ตอนนี้ตัวเลขส่งออกติดลบจะแก้ปัญหาอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ต้องไปดูว่าติดลบเพราะอะไร คงไม่ใช่เป็นความบกพร่องของเราแต่ฝ่ายเดียว แต่เป็นเพราะกำลังการซื้อน้อยลง เศรษฐกิจโลกกำลังจะลง ที่เราเข้ามาวันนี้เราได้เตรียม การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไว้แต่จะเกิดผลได้ทันทีคงยาก ต้องใช้เวลา แต่เราจะแก้วันนี้ให้ได้ก่อน จะต้อง ขยายตลาดเพิ่ม และดูมาตรการต่างๆ
อย่ามาโทษกันจีดีพีปีนี้พลาดเป้า
ต่อข้อถามว่า ถ้าเศรษฐกิจในปีนี้ไม่โตตามที่คาดไว้ จะถือว่าเป็นความผิดเพราะการบริหารของ รัฐบาลหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ตอบยาก เรามาแก้ปัญหาขณะนี้ และแก้ปัญหาแบบที่ใครไม่เคยที่จะกล้าแก้มาก่อน เรามาแก้ปัญหาเป็นระบบ ไม่เคย มีรัฐบาลไหนทำ ถ้าจะเป็นความผิดของเราก็แล้วแต่สังคม ถ้าอยากจะเป็นแบบเดิมก็เอา คิดว่าอย่าเอามาเป็นสิ่งที่ว่าไม่เรียบร้อย ไม่ดีแล้วเอามาโทษ มาหาว่าเราไม่ดี ใช่ตนรับผิดชอบ เพราะตนเป็นหัวหน้ารัฐบาล แต่ประเด็นสำคัญปัญหาเหล่านี้สะสมมานานแค่ไหน ลองไปทบทวนดูว่าเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง ในอดีตแก้ปัญหามาอย่างไร วันนี้แก้ปัญหาอีกวิธีการหนึ่งซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนแต่ต้องใช้เวลา ถ้าเราทำได้เร็วก็จบ ถ้าทำไม่ได้เร็วก็ว่ากันต่อไป ขอถามว่าจีดีพีจะสูงขึ้นได้อย่างไรเมื่อเศรษฐกิจการส่งออกทำไม่ได้ หรือทำได้น้อย ดังนั้นจีดีพีตกแน่นอน
ครม.คลอดแพ็กเกจกระตุ้น ศก.
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 เดือนแรก ระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค.2557 โดยใช้เงินทั้งสิ้น 364,465.4 ล้านบาท ซึ่งพิจารณาแล้วว่า ทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ประกอบด้วย 5 มาตรการ โดย 4 มาตรการแรกเป็นมาตรการเพื่อการสร้างงาน ได้แก่ 1.เร่งการใช้งบลงทุนของปีงบประมาณ 2557 ที่พบว่าค้างอยู่ 147,050 ล้านบาท ในจำนวนนี้กระทรวงต่างๆได้ทบทวนและปรับแผนมาแล้ว 132,160 ล้านบาท ยังเหลือ 14,889 ล้านบาท ที่รอแจ้งการปรับแผน โดยทั้งหมดนี้ให้กระทรวงทำสัญญาให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.-ธ.ค.2557 จะเป็นการสร้างงานได้ทันทีจำนวนมาก จึงให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงรับผิดชอบเร่งรัดทำสัญญาหรือเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนปีงบ 2557 ให้แล้วเสร็จภายในสิ้น ธ.ค.นี้ ซึ่งในส่วนนี้หากมีเงินออกไปซัก 20% เศรษฐกิจก็กระเด้งตัวแล้ว จะเกิดการจ้างงานทันที
เร่งเซ็นจ้างงาน–ประมูลแสนกว่า ล.
รองนายกฯกล่าวอีกว่า 2.เร่งรัดทำสัญญาจ้าง รายจ่ายลงทุนปีงบประมาณ 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ต.ค.2557 มีทั้งสิ้น 449,475 ล้านบาท มีแผน การใช้ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณนี้ (ต.ค.-ธ.ค. 2557) 149,146 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 129,522 ล้านบาท ซึ่งสามารถเร่งทำสัญญาตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค.2557 ซึ่งส่วนนี้ได้ขมวดมาแล้วว่า มีโครงการใดบ้าง จึงได้ขอรัฐมนตรีทุกคนไปจี้อย่างรอบคอบให้มีการเซ็นสัญญาจ้างงานและประมูลให้ถูกต้อง ถ้าเงินในส่วนนี้ออกสัก 30-40% ก็หลายหมื่น ล้านบาทแล้ว โดยสองส่วนแรกนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจที่ชะลอมานานเริ่มกระดกตัวขึ้นทันที
จัดงบซ่อม-สร้างเล็กๆเข็นจีดีพี
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า 3.เป็นมาตรการพิเศษที่พยายามเร่งลงทุนขนาดเล็กๆทั่วประเทศ ภายหลังจากไปพบว่ามีงบจากโครงการไทยเข้มแข็งเหลือจ่ายอยู่ 15,200 ล้านบาท และงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินปี 2555-2557 ที่ยังไม่ขอรับจัดสรร 7,800 ล้านบาท รวมทั้งสองส่วนนี้ 23,000 ล้านบาท ซึ่งได้คุยกับกระทรวงต่างๆและผู้อำนวยการสำนักงบประมาณว่าต้องการกระตุ้นการสร้างงานทั่วประเทศ โดยเน้นการซ่อม สร้าง และเน้นการซ่อมมากกว่าในจุดที่สนองตอบความต้องการของประชาชนจริงๆ โดยเฉพาะโรงเรียนที่เสนอของบประมาณในปี 2558 แต่ไม่ได้รับจัดสรร จึงจะนำไปซ่อมสร้าง
ทั้งนี้ นับเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการได้รับไป 13,198 ล้านบาท โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้รับ 8,844 ล้านบาท ที่จะนำไปซ่อมอาคารเรียน จัดหาครุภัณฑ์ให้กับโรงเรียน 6,850 แห่ง สร้างอาคารเรียนใหม่ชั้นประถมและมัธยม 1,084 หลัง ห้องสุขาโรงเรียน 100 หลัง ปรับปรุงอาคารเรียนและสาธารณูปโภคสถานศึกษาอาชีวะ 421 แห่ง วงเงิน 2,526 ล้านบาท ปรับปรุงอาคารและมหาวิทยาลัยของรัฐ 1,827 ล้านบาท ปรับปรุงซ่อมแซม อาคารสำนักงาน บ้านพัก ระบบชลประทาน ขุดลอกด้วยแรงงานคน 2,442 ล้านบาท ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารที่พักกระทรวงกลาโหม 736 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารที่พักแพทย์ พยาบาลและจัดหาครุภัณฑ์การแพทย์ 2,724 ล้านบาท และบำรุงรักษาและบูรณะทางสายหลัก 3,898 ล้านบาท
“งานซ่อม สร้างจะเป็นงานเล็กๆหมดเลย จะเกิดการจ้างงานเร็ว กดปุ่มแล้วทำได้พร้อมกันทั่วประเทศ ธุรกิจก่อสร้างก็จะตื่นขึ้นทั่วประเทศ เศรษฐกิจก็จะเคลื่อนได้จริงๆ ธุรกิจอุปโภคบริโภคก็จะขยับ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจากชนบทสู่เมืองใหญ่”
4.ทบทวนเงินที่กันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี 2548-2556 วงเงิน 24,900 ล้านบาท เพื่อให้เร่งลงนามในสัญญาภายในเดือน ธ.ค.2557 โดยให้แต่ละกระทรวงไปค้นหาว่าจะทำอะไร หากไม่รู้ให้คืนกลับมาตรงกลางและตนจะคิดเองว่าทำอะไร จะเอาไปกระตุ้นเศรษฐกิจใน 3 เดือนถัดไป
โปรย 4 หมื่น ล.อุ้มชาวนาทั่ว ปท.
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการที่ 5. เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก คือมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้ชาวนา วงเงิน 40,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นมาตรการที่พยายามระมัดระวังให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด เพราะหากเทียบคนที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมมีรายได้ขั้นต่ำวันละ 300 บาทมีรายได้เดือนละ 9,000 บาท หรือปีละ 108,000 บาท แต่ชาวนาที่มีอยู่ 3.4 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ เป็นชาวนาที่มีที่ดินไม่เกิน 15 ไร่ จำนวน 1.8 ล้านครอบครัว
แจกอีกไร่ละพัน
ส่วนกลุ่มที่มีที่ดิน 15 ไร่ขึ้นไปมี 1.6 ล้านครอบครัว ซึ่งรายได้จากการขายข้าวปีนี้ 8,000 บาทต่อเกวียน ต่ำกว่าปีก่อนๆ น่าเป็นห่วง เพราะเคยคิดว่าแก้ปัญหาให้แล้วราคาข้าวจะไต่สู่ระดับสูงกว่านี้ และโอกาสที่ข้าวนาปีที่ผลผลิตจะออกในเดือน พ.ย.จะอยู่ที่เกวียนละ 8,000 บาท ชาวนาจะลำบากเพราะต้นทุนบวกกำไรอยู่ที่เกวียนละ 9,000 บาท ดังนั้นรัฐบาลจ่ายเงินให้ชาวนาเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ ทำให้ผู้ได้รับเงินสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท ถ้ามี 8 ไร่ก็ได้ 8,000 บาท แต่ถ้ามีมากกว่า 15 ไร่ก็ได้เพียง 15,000 บาท ซึ่งจะเป็นรายได้ของชาวนาในปีนี้ปีเดียวเท่านั้น
ส่วนปีต่อไปให้เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว (นบข.) โดยเงินที่ให้ชาวนาจะใช้สภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)จ่ายไปก่อน แล้วรัฐบาลจะตั้งงบชดเชยให้ในปีหน้า ซึ่ง ธ.ก.ส.เต็มใจ
5 มาตรการนี้อย่าเรียกประชานิยม
“ชาวนาที่ปลูกข้าว 10 ไร่ จะเก็บเกี่ยวได้ 6.5-7 เกวียน ถ้าขายได้เกวียนละ 8,000 บาทจะได้เงิน 50,000 กว่าบาท แต่เป็นแค่ราคาขาย ยังไม่หักต้นทุน จึงมีรายได้น้อยกว่าทำงานในโรงงาน การมีเงินจากรัฐบาลไปช่วยจะทำให้ชาวนาอยู่ได้ และไม่ต้องห่วงชาวนาที่เช่าที่นาก็จะได้รับเงินเหมือนกัน เพราะได้ลงทะเบียนกับ ธ.ก.ส.ไว้แล้ว และที่รัฐบาลใช้เงินรอบนี้ 40,000 ล้านบาท ก็ดีกว่าไปขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวปีละ 250,000 ล้านบาท และทำแค่ปีเดียวเท่านั้น ไม่เรียกว่าเป็นโครงการประชานิยม เพราะไม่ได้ต้องการคะแนนเสียง ตอนนี้ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
ชาวนาพิจิตรบุกทวงเงินจำนำข้าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุม ครม. ได้มีกลุ่มเกษตรกรจากจังหวัดพิจิตรและนครสวรรค์เดินทางมายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งน้ำตาพร้อมกับเรียกร้องให้นายกฯ เร่งรัดการจ่ายเงินให้ชาวนาตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/2557 ซึ่งจนถึงขณะนี้ผ่านมากว่า 11 เดือนชาวนายังไม่ได้รับเงินจากโครงการดังกล่าว ทำให้ได้รับความเดือดร้อนให้เกษตรกรทั้งค่าครองชีพ ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเช่านา จึงขอเร่งรัดอนุมัติจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน รวม 121 ราย จำนวนเงิน 20,646,007.01 บาท ตลอดจนขอให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอีกทางหนึ่งด้วย โดยชาวนาจะรอคำตอบถึงวันที่ 15 ต.ค.หากยังไม่มีความชัดเจนจะปิดถนนประท้วงต่อไป
ลูกจ้าง อปท.ร้องนายกฯระงับเลิกจ้าง
นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย (อปท.) นำโดยนายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมฯ และสหพันธ์พนักงานท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีผ่านเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เพื่อติดตามความคืบหน้าการร้องเรียนเรื่องพนักงานจ้างท้องถิ่น (ลูกจ้างชั่วคราว) ถูกเลิกจ้าง โดยนายพิพัฒน์กล่าวว่า ลูกจ้างชั่วคราวต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาในเรื่องนี้ สั่งระงับการยกเลิกสัญญาจ้างพนักงานลูกจ้างทั่วประเทศไว้ชั่วคราว และแต่งตั้งคณะทำงานที่มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนท้องถิ่นและผู้บริหารหารือกันเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ปัญหา เนื่องจากแนวนโยบายของรัฐบาลในการปรับอัตราเงินเดือนและค่าจ้างให้แก่ข้าราชการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8-10 เนื่องจากนโยบายดังกล่าวไม่ได้กำหนดจัดสรรเงินเพิ่มให้กับ อปท.เหมือนข้าราชการ ดังนั้น เมื่อรายรับของ อปท.เท่าเดิม จึงต้องลดปัญหาด้วยกับปรับลดพนักงานจ้างเหมา ลูกจ้างชั่วคราวซึ่งอยู่ระดับล่างสุดของ อปท.โดยในวันที่ 1 ต.ค.จะมีผู้ถูกเลิกจ้างประมาณ 1 หมื่นราย