รมว.พม.ถกหลายหน่วยงาน หาแนวทางการช่วยเหลือแรงงานประมงถูกหลอกไปทำงานที่อินโดนีเซีย พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เข้าคัดแยกเหยื่อผู้เสียหาย เมื่อลูกเรือเดินทางกลับมาถึงประเทศ...
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 22 ก.ย. 57 พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เชิญประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติ (ศปคม.) กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ กรมประมง กรมเจ้าท่า และตำรวจ เป็นต้น เพื่อหารือแนวทางการช่วยเหลือแรงงานประมงที่ถูกหลอกไปทำงานที่อินโดนีเซีย

โดยพลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวว่า จากกรณีที่แรงงานประมงไทย ร้องเรียนสื่อมวลชนไทยรัฐให้เสนอข่าว ว่าถูกนายหน้าคนไทยหลอก จากสถานีขนส่งหมอชิตไปใช้แรงงานทาส ให้ลากอวนจับปลาในน้ำน่านอินโดนีเซียเป็นปี โดยไม่ให้กลับประเทศ และไม่สามารถติดต่อกับใครได้ โดยข้อมูลเบื้องต้นที่สื่อนำเสนอทราบว่า ยังมีคนไทยจำนวนมาก ถูกหลอกมาใช้งานให้เป็นแรงงานทาสผิดกฎหมาย บนเรือประมงไทยที่จับปลาในทะเลอาราฟูร่า และในบริเวณทะเลจีนใต้ (บริเวณหมู่เกาะนาทูน่า) โดยที่ไม่มีสิทธิกลับประเทศไทย ไม่สามารถติดต่อญาติพี่น้องได้ ถูกบังคับปิดกั้นทุกอย่าง ซึ่งแรงงานที่หนีรอดมาร้องเรียนสื่อระบุว่า เมื่อปี 2552 มีคนไทยขึ้นเรือถูกหลอกมาด้วยกันอีก 40 ราย
...
นอกจากนั้น ยังมีกรณีที่ลูกเรือประมงคนไทย จำนวน 6 ราย ถูกหลอกไปใช้แรงงานทาสที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 57 กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เข้าร่วมหารือการช่วยเหลือลูกเรือประมง จำนวน 6 ราย ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย และเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 57 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ประสานงานกับกองคุ้มครองฯ และสถานทูตไทยในอินโดนีเซีย เพื่อให้ความช่วยเหลือดำเนินการเรื่องส่งตัวลูกเรือประมงทั้ง 6 รายกลับประเทศไทย โดยจะเข้าร่วมรับตัวลูกเรือประมงทั้ง 6 ราย พร้อมทำการคัดแยกผู้เสียหาย และในเบื้องต้นทราบว่า ลูกเรือดังกล่าวเป็นลูกเรือของเรือประมงไทย ชื่อ "มหาชัย" ซึ่งถูกไต้ก๋งเรือกักขังไว้ภายในห้องของลำเรือ ทั้งนี้ กองคุ้มครองฯ จะแจ้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าสอบสวนข้อเท็จจริงจากลูกเรือประมงต่อไป
พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวอีกว่า จากเหตุดังกล่าวนี้ ตนจึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เพื่อหารือแนวทางการช่วยเหลือแรงงานประมงที่ถูกหลอกไปทำงานที่อินโดนีเซีย ทั้งนี้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้เตรียมการช่วยเหลือลูกเรือประมงทั้ง 6 รายไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะจัดเจ้าหน้าที่ร่วมรับตัวคัดแยกเหยื่อผู้เสียหาย ภายหลังที่ลูกเรือเดินทางกลับมาถึงประเทศ ซึ่งหากพบว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ทางกระทรวงฯ จะนำตัวส่งเข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพที่บ้านพักฯ เป็นการชั่วคราว รวมทั้งประสานเรื่องการดำเนินคดี การช่วยเหลือเงินสงเคราะห์เป็นค่าส่งกลับภูมิลำเนา และการรักาพยาบาลตามสิทธิ์ของลูกเรือประมงทั้ง 6 รายต่อไป.