ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๙/๒๕๕๗

เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพื่อปรับปรุงองค์ประกอบและอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๕ ให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เรียกโดยย่อว่า “ป.ป.ส.” ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย รัฐมนตรีวาการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสรรพากร เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน อัยการสูงสุด เป็นกรรมการโดยตําแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินสามคน และเลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ

ให้คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการในสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจํานวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ”

ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

...

“มาตรา ๑๓ ให้คณะกรรมการมีอํานาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) กําหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย แผนงาน มาตรการ และกลไกในการสกัดกั้น ป้องกันและปราบปราม บําบัดรักษา และแก้ไขปัญหายาเสพติด ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องสามารถบูรณาการการดําเนินงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ครบวงจร เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

(๒) กําหนดยุทธศาสตร์และแนวทางในการประสานความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ หรือองค์การระหว่างประเทศ เพื่อปราบปรามการลักลอบผลิตและค้ายาเสพติด รวมทั้งประสานงานการข่าวเพื่อสกัดกั้นและปราบปรามจับกุมขบวนการและเครือข่ายการค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ

(๓) ควบคุม เร่งรัด และประสานงาน เพื่อการปฏิบัติงานของส่วนราชการที่มีอํานาจหน้าที่ในการสืบสวน สอบสวน ปราบปราม การฟ้องคดี และการบังคับโทษตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด

(๔) กําหนดสถานะของพื้นที่หรือกลุ่มพื้นที่ในแต่ละปี หรือพื้นที่ที่มีความจําเป็นเร่งด่วน และกําหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พร้อมกับกําหนดให้มีกลไก โครงสร้าง และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมกับสถานะของปัญหา และให้ส่วนราชการให้การสนับสนุนตามที่ร้องขอ

(๕) วางโครงการและดําเนินการ ตลอดจนสั่งให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดําเนินการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด

(๖) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการหรืองาน แผนงาน หรือโครงการของส่วนราชการที่มีอํานาจหน้าที่ในการปฏิบัติการตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด

(๗) ประสานงานและกํากับเกี่ยวกับการบําบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

(๘) พิจารณาอนุมัติหรือมอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุมัติการแต่งตั้งเจ้าพนักงานเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติน

(๙) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกําหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการและกําหนดให้สถานที่ซึ่งใช้ในการประกอบธุรกิจใด ๆ เป็นสถานประกอบการที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรการดังกล่าว

(๑๐) เสนอความเห็นเกี่ยวกับการให้ความดีความชอบหรือโยกย้ายหรือลงโทษทางวินัยต่อข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าท่ีเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตลอดจนขอให้ส่วนราชการเจ้าสังกัดเร่งรัดการดําเนินการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ความคุ้มครองแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด

(๑๑) พิจารณาและดําเนินการจัดสรรงบประมาณด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รวมทั้งกํากับและติดตามการใช้งบประมาณของหน่วยงานดังกล่าว

(๑๒) สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

(๑๓) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติให้เป็นอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการ”

ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๓ ตรี แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๓ ตรี ในกรณีที่เจ้าพนักงานตรวจพบว่ามีการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการตามมาตรา ๑๓ ทวิ หากเจ้าของหรือผู้ดําเนินกิจการสถานประกอบการดังกล่าวไม่สามารถชี้แจงหรือพิสูจน์ให้คณะกรรมการเชื่อได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่กรณีแล้ว ให้คณะกรรมการมีอํานาจสั่งปิดสถานประกอบการแห่งนั้นชั่วคราว หรือสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบการสําหรับการประกอบธุรกิจนั้น แล้วแต่กรณี เว้นแต่ในกรณีจําเป็นเร่งด่วน ให้เลขาธิการมีอํานาจในการดําเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ต้องไม่เกินครั้งละสามสิบวันนับแต่วันที่เจ้าของหรือผู้ดําเนินกิจการสถานประกอบการนั้นทราบคําสั่ง”

ข้อ ๔ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับพ้นจากตําแหน่ง

ข้อ ๕ ในระหว่างที่ยังไม่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศนี้ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสรรพากร เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และอัยการสูงสุด เป็นกรรมการโดยตําแหน่ง และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นกรรมการและเลขานุการ

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ