ในวันพฤหัสบดีที่ 18 ก.ย. สกอตแลนต์จะจัดการลงคะแนนเสียงประชามติเพื่อตัดสินอนาคตของชาติ ซึ่งอาจยุติประวัติศาสตร์ยาวนาน 307 ปี ที่สกอตแลนด์รวมตัวเป็นประเทศเดียวกันกับอังกฤษและเวลส์ และกลายเป็นประเทศเอกราชที่มีประชากร 5.3 ล้านคน
รัฐบาลสกอตแลนด์ซึ่งนำโดยพรรคชาติสกอตแลนด์ (เอสเอ็นพี) ระบุว่านี่เป็นโอกาสเพียงครั้งหนึ่งช่วงอายุคน ที่ประชาชนชาวสกอตจะมีโอกาสตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบต่อพวกเขามากที่สุดด้วยตัวเอง การโหวต Yes หมายความว่า อนาคตของสกอตแลนด์จะอยู่ในมือของชาวสกอตเอง ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจะดีขึ้นและมีความเท่าเทียมมากขึ้น
ขณะที่นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร (ยูเค) ต้องการให้สกอตแลนด์อยู่เป็นส่วนหนึ่งของยูเคต่อไป และเป็นตัวเลือกเพียงทางเดียวของชาวสกอตแลนด์ เพราะการอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรต่อไปนั้น จะช่วยมอบความมั่นคงและความแข็งแกร่งให้สกอตแลนด์ แต่หากสกอตแลนด์เลือกที่จะแยกตัวออกไปแล้ว ก็จะไม่มีทางหันหลังกลับได้อีก
ส่วนพรรคการเมืองใหญ่ของอังกฤษพยายามโน้มน้าวชาวสกอตแลนด์ด้วยการให้สัญญาว่า จะมอบอำนาจการปกครองที่มากขึ้นแก่สกอตแลนด์ หากพวกเขาตัดสินใจอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร
...
ในอดีตสกอตแลนด์มีความสัมพันธ์ที่ไม่สู้ดีกับประเทศเพื่อนบ้านมายาวนาน จนกระทั่งจะมีการลงนามพระราชบัญญัติสหภาพ รวมราชอาณาจักรสกอตแลนด์เข้ากับอังกฤษและเวลส์ เมื่อปี 1707 ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีชาวสกอตจำนวนมากไม่พอใจที่ต้องจับมือกับชาวแดนใต้ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานานตั้งแต่ยุคสงครามประกาศอิสรภาพสกอตแลนด์ (ค.ศ. 1293)
จุดเริ่มต้นของการทำประชามติครั้งนี้ เกิดขึ้นในเดือน พ.ค. 2011 พรรคชาติสกอตแลนด์ ฝ่ายชาตินิยมซึ่งหาเสียงด้วยการสัญญาว่าจะจัดการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากอังกฤษ สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาสกอตแลนด์ได้อย่างเหนือความคาดหมายของหลายฝ่าย ต่อมาในเดือน ต.ค. 2012 รัฐบาลสกอตและยูเคเห็นชอบร่วมกันว่าจะจัดการลงประชามติ ก่อนจะมีการเห็นชอบเรื่องคำถามสำหรับถามผู้ใช้สิทธิ์เมื่อต้นปี 2013
นายดูวิต บรุน ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์สกอตแลนด์แห่งมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ กล่าวว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ชาวสกอตแลนด์ต้องการเป็นเอกราช คือการขยายใหญ่ขึ้นของช่องว่างระหว่างนโยบายทั้งหลายของรัฐบาลผสมแห่งเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งนำโดยพรรคอนุรักษนิยม ของนายเดวิด คาเมรอน ตั้งแต่ปี 2010 กับสิ่งที่ประชาชนชาวสกอตต้องการ
ปัจจุบันชาวสกอตจำนวนมากต่อต้านความพยายามของรัฐบาลเวสต์มินสเตอร์ที่จะปฏิรูปรัฐสวัสดิการ โดยพวกเขามองว่าเป็นการบ่อนทำลายมากกว่า และรัฐบาลนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากชาวสกอตจากหลายปัจจัย เช่นการที่มี ส.ส.จากพรรคอนุรักษนิยมเพียงคนเดียวเป็นตัวแทนในสกอตแลนด์ จนถูกล้อว่าเอาแพนด้ายักษ์ในสวนสัตว์เอดินเบอระไปเป็นผู้แทนดีกว่า (มี 2 ตัว)
ศ.บรุน กล่าวอีกว่า นับตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรี มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ การแบ่งแยกก็เริ่มขยายตัวขึ้น และความรู้สึกของชาวสกอตก็เริ่มแตกต่างจากชาวอังกฤษมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ การที่อังกฤษปฏิเสธโบสถ์ เพรสไบเทอเรียน ซึ่งแสดงถึงรัฐบาลปกครองตนเองและอัตลักษณ์ของชาวสกอต ล้วนเป็นเชื้อไฟที่ทำให้ความต้องการเป็นเอกราชเพิ่มมากขึ้น
ตัวละครสำคัญในการลงประชามติครั้งนี้คือนาย อเล็กซ์ ซาลมอนด์ หัวหน้าคณะรัฐมนตรีแห่งสกอตแลนด์ ผู้นำการรณรงค์ฝ่ายสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราช และนายอลิสแตร์ ดาร์ลิง ส.ส.ชาวอังกฤษ จากพรรคแรงงาน หัวหน้ากลุ่ม ‘เบทเทอร์ ทูเกเตอร์’ (Better Together: อยู่ร่วมกันดีกว่า)
ทั้งสองคนเข้าร่วมการโต้อภิปรายทางโทรทัศน์แล้ว 2 ครั้ง ซึ่งในครั้งแรกสังคมมองว่านายดาร์ลิงเป็นฝ่ายชนะแต่ก็เหนือกว่าเพียงเล็กน้อย แต่ในครั้งที่ 2 นายซาลมอนด์ทำได้ดีกว่าอย่างมาก
...
ปัญหาที่ทุกฝ่ายกำลังถกเถียงกันในขณะนี้ ประเด็นหลักคือเรื่องเศรษฐกิจ รัฐบาลสกอตแลนด์อ้างว่าประเทศจะดีขึ้นหลังจากแยกตัวเป็นเอกราช โดยใช้การควบคุมรายได้จากน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่พบในน่านน้ำสกอตแลนด์ในทะเลเหนือ รัฐบาลระบุว่าพวกเขาจะสามารถบริหารจัดการอุตสาหกรรมพลังงานได้ดีขึ้น จะมีการลงทุนเพิ่มการผลิต และจัดตั้งกองทุนที่มั่งคั่งเหมือนกองทุนน้ำมันของนอร์เวย์ เพื่อประโยชน์ของคนรุ่นต่อไป
แต่สถาบันศึกษาการเงิน (ไอเอฟเอส) ไม่เห็นด้วย เมื่อเดือน มี.ค. พวกเขาเผยแพร่รายงานตัวเลขซึ่งแสดงให้เห็นว่า การขาดดุลงบประมาณของสกอตแลนด์ย่ำแย่ลง ส่งผลกระทบไปทั่วสหราชอาณาจักร เพราะรายได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลเหนือลดลง รวมถึงค่าใช้จ่ายทางสังคมที่สูงขึ้น รายงานนี้ยังเตือนถึงอันตรายของการพึ่งพาแหล่งรายได้ที่มีปริมาณจำกัด (อย่างเช่นน้ำมัน) มากเกินไปด้วย
อีกปัจจัยคือเรื่องสกุลเงินที่สกอตแลนด์จะใช้หลังแยกตัวจากสหราชอาณาจักรแล้ว โดยนายอเล็กซ์ ซาลมอนด์ หัวหน้าคณะรัฐมนตรีแห่งสกอตแลนด์กล่าวว่า สกอตแลนด์จะยังใช้สกุลเงินปอนด์ต่อไป แต่ 3 พรรคการเมืองหลักแห่งเวสต์มินสเตอร์ได้แก่ พรรคอนุรักษนิยม, พรรคเสรีนิยม และพรรคแรงงาน ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า สกอตแลนด์ไม่สามารถเลือกใช้เงินปอนด์ได้
แต่หากสกอตแลนด์ไม่สามารถใช้สกุลเงินปอนด์ ก็จะเกิดปัญหาใหม่ตามมาอีก คือจะทำอย่างไรกับหนี้สหราชอาณาจักรของสกอตแลนด์ ที่แชร์ร่วมกับอังกฤษ, เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ
...
ความไม่แน่นอนในอนาคตของสกอตแลนด์เริ่มส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งภายในประเทศที่เกี่ยวข้องและนานาชาติแล้ว บางส่วนกังวลว่าการแยกตัวของสกอตแลนด์จะทำลายสถานภาพของอังกฤษที่ยืนหยัดในฐานะเมืองหลวงทางการเงินระหว่างประเทศ
ในเดือน ส.ค. ผู้นำธุรกิจ 130 บริษัท เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก เตือนถึงผลกระทบของความไม่แน่นอนในหลายประเด็น รวมถึงเรื่องค่าเงิน, กฎข้อบังคับ, ภาษี, เงินบำนาญ, ความเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) และการสนับสนุนด้านการส่งออกแก่สกอตแลนด์ แต่ในวันต่อมา ผู้นำธุรกิจกลุ่มอื่นอีกกว่า 200 คนก็ลงนามในจดหมายเปิดผนึก สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของสกอตแลนด์
เมื่อวันจันทร์ (8 ก.ย.) ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษตกต่ำลงอันเป็นผลมาจากโพลสำรวจความคิดเห็น ที่ฝ่ายสนับสนุนการแยกดินแดนได้รับชัยชนะเป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้ไม่อาจคาดเดาผลการลงประชามติได้
ภาคการทหารของสหราชอาณาจักรก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เมื่อรัฐบาลสกอตแลนด์ประกาศว่าต้องการขนย้ายอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ 'ไทรเดนท์' ของยูเคซึ่งประจำอยู่ที่ฐานในเมืองฟาสเลน ออกจากประเทศให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อย้ำจุดยืนว่า ประเทศเอกราชสกอตแลนด์จะไม่ถือครองอาวุธนิวเคลียร์ และจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ด้วยหลักการนี้
การแยกตัวเป็นประเทศเอกราชของสกอตแลนด์ยังอาจมีผลจุดประกายให้ดินแดนอื่นๆเอาเป็นเยี่ยงอย่าง เช่นที่แคว้นกาตาลุนญ่า ของสเปน, รัฐควิเบกในแคนาดา และเกาะกอร์ซิกา ดินแดนของฝรั่งเศสในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังอาจทำให้นายคาเมรอนต้องกระเด็นตกเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรอีกด้วย
...
สกอตแลนด์เริ่มรณรงค์เรื่องการแยกตัวเป็นอิสระจากสหราชอาณาจักรมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว แต่ในช่วงแรกไม่มีใครเชื่อว่าเรื่องนี้จะสำเร็จ แต่ขณะนี้ทิศทางเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดของ 'ยูโกฟ' เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาชี้ว่า ผู้รับการสำรวจ 51% สนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระของสกอตแลนด์ ชนะฝ่ายอนุรักษ์เป็นครั้งแรก
การทำประชามติในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ผู้ลงคะแนนเสียงจะต้องกา Yes หรือ No เพื่อตอบคำถามที่เรียบง่ายว่า 'สกอตแลนด์ควรเป็นประเทศเอกราชหรือไม่' ผลลัพธ์ที่ชาวบริเตนเคยคิดว่าไม่มีทางเกิดขึ้น กลับมีความเป็นไปได้เสียแล้ว.