บารมีธรรมหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด แผ่ไปทั่วคาบสมุทรสทิงพระและผืนแผ่นดินไทย
สืบเสาะได้ว่า ท่านเป็นชาวคาบสมุทรสทิงพระ เกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อปู เมื่อเติบใหญ่ท่านบวชเณรเรียนหนังสือ แล้วบวชพระ ประกอบสมณกิจเป็นที่เคารพศรัทธาของคนทั่วไป แม้ท่านจะมรณภาพไปกว่า 400 ปีแล้ว แต่ตำนานของท่านยังเล่าขาน และมีพุทธศาสนิกชนนำเอาภาพของท่านมาทำรูปเหมือนบูชาในหลายวัด และมีหลายรุ่น ด้วยเชื่อกันว่า พระเครื่องหลวงปู่ทวด มีดีทางด้านการปกป้อง คุ้มครองจากเภทภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ การเจ็บไข้ได้ป่วย รวมทั้งภัยพิบัติต่างๆ
เมื่อใดตกอยู่ในห้วงอันตรายกล่าวกันว่า เมื่อนึกถึงหลวงปู่ทวดแล้ว จะทำให้อันตรายนั้นหายไป
เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มูลนิธิสวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้เชิญ ดร.วิษณุ เครืองาม บรรยายพิเศษเรื่องราวของหลวงปู่ทวด ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินีฯ กรุงเทพฯ ดร.วิษณุฟันธงว่า พระที่ห้อยคอคนไทยอยู่ 1 ใน 5 องค์ต้องมีพระหลวงปู่ทวดอยู่ด้วย อยู่ที่ว่าจะเป็นรุ่นไหน วัดใดทำเท่านั้น
เพราะหลวงปู่ทวดเป็นพระเครื่องยอดนิยม ถ้ามองหาพระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคม หนึ่งในจำนวนนั้นย่อมมีหลวงปู่ทวดรวมอยู่ด้วย ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่รู้จักในประวัติศาสตร์ไทย คือประมาณ 400 ปี
...
หลวงปู่ทวดมีชีวิตอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา อาจอยู่ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ พระศรีเสาวภาคย์ หรือไม่ก็สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เรื่องนี้นักวิชาการว่า น่าจะอยู่ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ อย่างไรก็ตาม ท่านมีอายุอยู่ในสมัยใดสมัยหนึ่งใน 5 รัชกาลนี้
ความยิ่งใหญ่ของท่านไม่ได้มีแค่ปาฏิหาริย์ แต่ได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง ย้อนไปคาบสมุทรสทิงพระเมื่อกว่า 1,000 ปี สมัยนั้นเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางทางการค้า มีเอกสารยืนยันอย่างหนังสือของจีนและฝรั่งที่เขียนไว้ระบุชื่อว่า พาราณสีสทิงพระ ร่องรอยเรื่องนี้กรมศิลป์ได้ขุดค้นพบโบราณวัตถุมากมาย ต่อมาเมื่อเมืองลดความสำคัญลง ได้มีโจรจากอินโดนีเซียเข้ามายึดบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ แล้วปกครอง โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณเขาหัวแดง ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์ส่งคนลงไปปราบ และนำลูกผู้นำโจรนั้นเข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยา สืบมามีลูกหลานและคนหนึ่งคือ เจ้าจอมมารดาเรียม
ดร.วิษณุเล่าว่า ในคาบสมุทรสทิงพระเมื่อประมาณ 400 ปีนั้นมีพ่อแม่คู่หนึ่งคลอดลูกออกมาตั้งชื่อปู ได้นำเอารกไปฝังไว้ที่ต้นเลียบ วันหนึ่งพ่อแม่ออกไปทำงาน กลับมาเห็นงูพันเปลเด็กชายปู เมื่องูจากไปก็พากันเข้าไปดู จึงพบลูกแก้ว 1 ลูก ลูกแก้วนี้ยังเก็บรักษาอยู่ และต้นเลียบนั้นเดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่
เด็กชายปูเมื่อเติบโตขึ้นมาเป็นคนรักเรียน ไปบวชเณรที่วัดดีหลวง และเรียนหนังสือที่วัดสีหยัง ภายหลังก็ได้บวชพระเป็น พระปู สามีราโม แล้วเดินทางไปเรียนที่นครศรีธรรมราช ต่อมาเข้าไปเรียนในเมืองหลวง คือกรุงศรีอยุธยา ระหว่างทางเกิดเหตุการณ์สำคัญคือ เกิดพายุแรงกล้า เรือต้องจอดหลบคลื่นลม ระหว่างนั้นคงขาดน้ำจืดดื่ม ลูกเรือที่ร่วมเรือด้วยต่างหาว่าท่านเป็นต้นเหตุ ขณะที่จะเนรเทศ ท่านบอกว่าขอเวลาก่อน แล้วก็เหยียบน้ำทะเลให้เอาไปดื่ม ปรากฏว่าน้ำจืดสนิท ทำให้ลูกเรือมีน้ำดื่ม ท่านจึงได้ฉายา เหยียบน้ำทะเลจืด นับแต่นั้นมา
ส่วนคำว่า ทวด ไม่ใช่ชื่อท่าน แต่เป็นคำเรียกคนสูงอายุของชาวปักษ์ใต้
เรื่องเหยียบน้ำทะเลจืด หากมองในแง่วิทยาศาสตร์ ดร.วิษณุบอกว่า “น้ำจะจืดหรือไม่จืดอยู่ที่ใจคนดื่ม ถ้าคนดื่มคิดว่าจืดมันก็จืด” จุดน้ำทะเลจืดเดี๋ยวนี้อ้างกันว่ามีถึง 3 จุด อย่างที่อำเภอสิชลเป็นต้น
ระหว่างพระปูศึกษาอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา เล่ากันว่ามีพราหมณ์ท่านหนึ่งมาจากกรุงลังกา มาท้าแปลภาษาบาลีแข่งกัน พระปูแปลชนะ พระมหากษัตริย์เลยตั้งให้เป็นพระราชาคณะที่ สมเด็จพระราชมุนี สามีรามคุณูปมาจารย์ สืบมาท่านก็มาเฝ้าพระมหากษัตริย์ขอกลับบ้านเกิด พระมหากษัตริย์ทรงโทมนัสยิ่ง ได้พระราชทานทองคำสูง 1 ศอก พร้อมเครื่องประกอบยศไปยังสทิงพระ
กลับถึงปักษ์ใต้ท่านเลือกวัดพะโคะ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่พัฒนาขึ้นมาใหม่ สร้างเจดีย์มียอดทองคำที่นำไปจากกรุงศรีอยุธยา คำว่า พะโคะ สันนิษฐานกันว่า 1.น่าจะมาจากพระโค พาหนะของพระอิศวร และ 2.มาจากคำว่า พระสมณโคดม นามของพระพุทธเจ้า เพราะคนใต้พูดอะไรมักรวบคำให้เหลือสั้นๆ จึงเหลือเพียงพะโคะ
สมเด็จพระราชมุนีฯ ปกครองสงฆ์ภาคใต้ทั้งหมด และยังมีแผนที่ภาพกัลปนาบอกเขตปกครองอีกด้วย เป็นการยกที่ดินใกล้วัดให้วัดปกครองดูแล มองไปคล้ายที่สะสมกำลัง แผนที่ภาพกัลปนาวัดพะโคะนี้ สันนิษฐานว่าเขียนในสมัยกรุงศรีอยุธยา ก่อน พ.ศ.2242 แสดงขอบเขตของวัดพะโคะ ตั้งแต่บริเวณปากทะเลสาบสงขลาที่เขาหัวแดงจนถึงตอนเหนือของอำเภอระโนด ปัจจุบันเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ
อยู่มาวันหนึ่งก็มีสามเณรรูปหนึ่งลงไปจากกรุงศรีอยุธยา ชื่อเรียงเสียงใดไม่ปรากฏ อยู่มาไม่นานทั้งเณรและสมเด็จพระราชมุนีฯก็หายตัวไป
รอยต่อประวัติของหลวงปู่ทวดหายไปจากวัดพะโคะ แต่ไปปรากฏขึ้นที่ไทรบุรี ว่ามีพระภิกษุหลังค่อมถือไม้เท้าไปอยู่ที่นั่น นามว่า สามีราโม ท่านไปเป็นเจ้าอาวาส มีคนนับถือทั้งพุทธและมุสลิม ต่อมาที่ปัตตานี ได้มีการเสี่ยงทายหาที่สร้างวัด โดยให้ช้างวิ่งออกไปปรากฏว่าได้สถานที่แห่งหนึ่งสร้างวัดใหม่ตั้งว่า วัดช้างให้ แต่ไม่มีใครเป็นเจ้าอาวาส จึงไปนิมนต์พระอาจารย์ซึ่งก็คือหลวงปู่ทวดมาจากไทรบุรี ต่อมาท่านก็มรณภาพ
วัดช้างให้ต่อมามีการบูรณะใหม่ หาพระขึ้นเป็นเจ้าอาวาสไม่ได้ ในที่สุดก็มีพระรูปหนึ่งอาสาเข้ามาคือ อาจารย์ทิม ท่านได้สร้างพระเครื่อง โดยได้นิมิตจากพระอาจารย์ชรารูปหนึ่งมาบอกให้สร้างเป็นรูปเหมือนนั่นคือจุดเริ่มต้นสร้างหลวงปู่ทวดออกมา จนเป็นที่นิยมโดยทั่วไป เรียกกันว่า หลวงปู่ทวดวัดช้างให้ ทำให้อาจารย์ทิมบูรณะวัดสำเร็จ
เล่ากันว่า อาจารย์ทิม คือเณรที่มาจากกรุงศรีอยุธยา แล้วหายไปกับสมเด็จพระราชมุนีฯนั่นเอง นัยทางการเมือง หลวงปู่ทวดเสมือนผู้ปกปักดินแดนปักษ์ใต้ แผ่บารมีไปถึงไทรบุรี โดยมีเณรจากกรุงศรีอยุธยาไปเป็นผู้ช่วย เป็นการใช้ทัพธรรมแทนกองทัพ
เนื่องจากหลวงปู่ทวด เป็นพระอาจารย์ที่ปกป้องเขตแดนโดยธรรม ท่านเป็นพระดี เพื่อรำลึกคุณงามความดีของท่าน จึงจัดสร้างศูนย์การเรียนรู้ สมเด็จพระราชมุนี สามีรามคุณูปมาจารย์ (หลวงปู่ทวด) ขึ้นมา ณ สวนประวัติศาสตร์พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ศูนย์แห่งนี้ประกอบด้วย 1.หอประวัติของหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด 2.ส่วนแสดงข้อมูลโบราณสถานวัดที่สำคัญและเมืองโบราณในคาบสมุทรสทิงพระตามเอกสารแผนที่กัลปนาที่ดินให้วัดคาบสมุทรสทิงพระสมัยกรุงศรีอยุธยา และ 3. แสดงข้อมูลภาพวัฒนธรรมของชุมชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
การสร้างศูนย์เรียนรู้ ขับเคลื่อนโดยมูลนิธิสวนประวัติศาสตร์พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โทร. 08-4300- 5454 มูลนิธิได้ทำวัตถุมงคลหลวงปู่ทวดแบบต่างๆ สำหรับผู้บริจาคและให้เช่าบูชา เมื่อสำเร็จแล้วก็จะได้เป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ แสดงข้อมูลทางวัฒนธรรม แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการสืบไป
หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด ยิ่งผ่านกาลเวลาเหมือนยิ่งแก่กล้าบารมีธรรม.