ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ได้หารือกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ในวาระแรก จำนวน 2.57 ล้านล้านบาท และได้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถือเป็นกระทรวงที่ได้รับงบฯสูงเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 5.2 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของงบฯทั้งหมดของประเทศ สำหรับในส่วนของ สพฐ.ได้รับงบฯ 3.15 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12 ของงบฯทั้งประเทศและคิดเป็น ร้อยละ 60 ของงบฯที่ ศธ.ได้รับ ทั้งนี้ งบฯส่วนใหญ่ของ สพฐ.คิดเป็นร้อยละ 74.14 หรือ 2.33 แสนล้านบาท ถูกนำไปใช้เป็นงบฯบุคลากร หรืองบฯเงินเดือน รองลงมาคือ งบฯเงินอุดหนุนรายหัว 42.76 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13 ส่วนที่เหลือจะเป็นงบฯดำเนินการ 22.16 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.03 เหลือเป็นงบฯลงทุนเพียง 16.31 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.1 เท่ากับปีนี้ สพฐ.ได้รับงบฯเพิ่มประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เพิ่มเป็นงบฯเงินเดือนครู

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวอีกว่า สพฐ.มุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาการศึกษา และสร้างทิศทางใหม่ในการจัดการศึกษาที่จะเป็นความหวังของประเทศ ดังนั้น วันที่ 13-14 ก.ย.นี้ สพฐ.จะจัดประชุมเวิร์กช็อปจัดทำแผนดำเนินงาน โดยขอให้แต่ละหน่วยงานไปเตรียมข้อมูล และมาร่วมกันคิดว่าจะนำนโยบายไปสู่แนวปฏิบัติอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ โดยจะเน้นตามนโยบายที่ คสช.มอบหมาย และนโยบายคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ อย่างไรก็ตาม ปีนี้ คสช. ได้พยายามเติมเต็มเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน โดยอนุมัติงบฯเพิ่มเติมให้ สพฐ. ก่อสร้างอาคารเรียน ขนาด 4 ห้องเรียน ใต้ถุนสูง 1,000 หลัง ให้กับโรงเรียนขนาดกลาง เป็นงบฯทั้งหมด 3,458 ล้านบาท.

...