ขีดเส้นตาย-วันศุกร์ เรียกหมอรับ2ข้อหา จับอีกคลินิกอุ้มบุญ

หนุ่มญี่ปุ่นพ่อเด็กอุ้มบุญไม่โผล่ แต่จัดทีมทนายไทยนำตัวอย่างดีเอ็นเอและหนังสือชี้แจงมาให้ตำรวจแทน ยืนยันเจ้าตัวยังไม่ได้เดินทางมาไทย ขณะเดียวกัน ตร.รอเก้อหมอรับทำอุ้มบุญหลังส่งหมายเรียกไปแล้วขีดเส้นตายเที่ยงวันศุกร์นี้ให้มารับทราบข้อกล่าวหา ด้าน 9 เด็กอุ้มบุญยังปกติดี แต่ยังไม่มีใครมาเยี่ยม ส่วน สบส.ลุยอีก บุกค้นอีกคลินิกรับปรึกษาคนมีลูกยากย่านลาดพร้าว พบไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ สั่งหยุดดำเนินการเฉพาะส่วน 60 วัน เล็งเอาผิดเจ้าของคลินิก ขณะเดียวกัน แกะรอยเส้นทางขอสัญชาติให้เด็กอุ้มบุญเพื่อนำตัวออกนอกประเทศ พบปีนี้มีชาวต่างชาติยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเพื่อจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรรวมกว่า 20 คดี

ความคืบหน้ากรณีทายาทมหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่น วัย 24 ปี มาจ้างสาวไทย 11 ราย อุ้มท้องให้กำเนิดเด็กนับสิบคน และเคยแจ้งผ่านทนายว่า จะมาให้ข้อมูลกับตำรวจระหว่างวันที่ 18-20 ส.ค.นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 18 ส.ค. เวลา 10.00 น. พล.ต.ต.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิด ผบก.น.4 ประชุมร่วมกับฝ่ายสืบสวน บก.น.4 และ สน.ลาดพร้าว เพื่อติดตามความคืบหน้าคดีอุ้มบุญ ในส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของ บก.น.4 ทั้งนี้หลังการประชุมกว่า 2 ชั่วโมง พล.ต.ต.นัยวัฒน์เปิดเผยว่า หลายประเด็นมีความคืบหน้าและขณะนี้ชุดสืบสวนเร่งรวบรวมพยานหลักฐานจากหน่วยงานต่างๆ นำมาประกอบสำนวนคดี เพื่อระบุถึงมูลเหตุ ที่นายมิตซูโตกิ ชิเกตะ ชาวญี่ปุ่น อายุ 24 ปี ทำอุ้มบุญ เบื้องต้นมีความชัดเจนแล้วว่าหญิงไทย 9 คน ที่รับจ้างอุ้มบุญให้นายมิตซูโตกิได้รับการฝังตัวอ่อนในครรภ์จาก นพ.พิสิฐ ตันติวัฒนากุล ที่คลินิก ออล ไอวีเอฟ ย่านเพลินจิต ทุกคน ส่วนกรณีไปสอบสวนพยานที่ประเทศกัมพูชาว่านายชิเกตะได้ว่าจ้างหญิงอุ้มบุญหรือไม่นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผู้บังคับบัญชากำหนดประเด็นการสอบสวนก่อน ซึ่งในวันพุธ ที่ 20 ส.ค. ทาง บก.น.4 จะประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าคดี และจะมีการชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าขณะนี้นายชิเกตะยังไม่เดินทางเข้ามาในประเทศ เพื่อให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด

...

ต่อมาเวลา 12.45 น.นายก้อง สุริยมณฑล ทนายความจากสำนักงานกฎหมายสากล สยามพรีเมียร์ ผู้รับมอบอำนาจจากนายมิตซูโตกิ ชิเกตะ ผู้อ้างสิทธิเป็นพ่อเด็กอุ้มบุญ 15 คน เดินทางมาเข้าพบ พ.ต.อ.วิทวัฒน์ ชินคำ ผกก. สน.ลาดพร้าว และทีมพนักงานสอบสวน ที่ สน.ลาดพร้าว เป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมง ท่ามกลางสื่อมวลชนจากประเทศญี่ปุ่นหลายสำนักข่าวให้ความสนใจมารอทำข่าวอย่าง คับคั่ง ต่อมาทนายความของนายมิตซูโตกิ เปิดเผยว่า วันนี้ตนได้นำตัวอย่างดีเอ็นเอของลูกความ ที่ได้รับรองอย่างถูกต้อง และหนังสือชี้แจงว่าเหตุใดจึงต้องการมีลูกเป็นจำนวนมากของลูกความมามอบยังพนักงานสอบสวน ซึ่งรายละเอียดต่างๆ ตนไม่สามารถเปิดเผยได้ ยืนยันว่าลูกความของตนยังไม่ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยตามที่เป็นข่าวก่อนหน้าแต่อย่างใด และไม่ทราบว่าจะเดินทางเข้ามาหรือไม่ เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการประสานงานอยู่ อย่างไรก็ตาม ตนขอยืนยันว่า ลูกความของตนต้องการเป็นพ่อของเด็กๆจริง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพนักงานสอบสวนว่าจะรับรองความ ต้องการดังกล่าวหรือไม่

ขณะที่ด้าน สน.ลุมพินี ตั้งแต่ช่วงเช้าวันเดียวกัน มีผู้สื่อข่าวหลายสำนักทั้งไทยและต่างประเทศเดินทางมาเฝ้าติดตามทำข่าวหลังมีกระแสข่าวว่าพ่ออุ้มบุญชาวญี่ปุ่นจะเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึง นพ.พิสิฐ ตันติวัฒนากุล แพทย์เจ้าของคลินิก ออล ไอวีเอฟ ซึ่งเป็นผู้ทำอุ้มบุญให้หนุ่มญี่ปุ่น จะเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้ปากคำเช่นกัน แต่ก็ไม่พบว่าจะมีผู้ใดเดินทางเข้ามา โดย พ.ต.อ.เดชา พรหมสุวรรณ พงส.ผู้ทรงคุณวุฒิ สน.ลุมพินี เปิดเผยว่าในช่วงเช้าที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานออกหมายเรียก นพ.พิสิฐ โดยจากการสอบพยานหลายปาก พบหลักฐานเชื่อมโยงว่ามีความผิด โดยจะเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา 2 ข้อหา คือ 1.ผิด พ.ร.บ.สถานพยาบาล ประกอบกิจการและสถานพยาบาลไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท 2.ไม่ควบคุมดูแลให้ผู้ประกอบการวิชาชีพเวชกรรมในสถานบริการ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรมโทษ 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ส่งหมายเรียกดังกล่าวไปยังบ้านพักของ นพ.พิสิฐ ย่านห้วยขวาง เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาแล้ว เพื่อเรียกตัวมาสอบปากคำ และรับทราบข้อกล่าวหาภายในวันศุกร์ที่ 22 ส.ค. เวลา 12.00 น. ที่ สน.ลุมพินี หาก นพ.พิสิฐไม่เดินทางมาตามหมายเรียกก็จะออกหมายเรียกครั้งที่ 2 และหากยังไม่มาตามหมายเรียกอีกก็จะขออนุมัติจากศาลเพื่อออกหมายจับทันที

จากนั้นเวลา 14.00 น. นายชาตรี พินใย นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เดินทางเข้าให้รายละเอียดในการตั้งข้อหาจากกรณีเปิดคลินิกรับอุ้มบุญของ นพ.พิสิฐ ตันติวัฒนากุล โดยมี พ.ต.อ.เดชา พรหมสุวรรณ พงส.ผทค.สน.ลุมพินี รับเรื่อง ทั้งนี้นายชาตรีกล่าวว่า เดินทางมาให้รายละเอียดในเรื่องของข้อกฎหมายที่จะเอาผิด นพ.พิสิฐ ส่วนในเรื่องของการยื่นฟ้องต่อศาลจะดำเนินการอย่างแน่นอน แต่ต้องเป็นภายหลังจากที่ นพ.พิสิฐเดินทางมาให้ปากคำกับทางเจ้าหน้าที่แล้ว และยังไม่ได้ติดต่อไปยังนายแพทย์คนดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนการดำเนินการของทางแพทยสภา จะปล่อยให้องค์กรเป็นผู้ดำเนินการในข้อของกฎหมาย แต่ได้ส่งเรื่องให้แพทยสภารับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเอาผิด นพ.พิสิฐตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

สำหรับความเป็นอยู่ของเด็ก 9 คนที่คาดว่าจะเกิดจากพ่อชาวญี่ปุ่นวัย 24 ปีที่จ้างหญิงไทยตั้งครรภ์แทน ซึ่งขณะนี้อยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สอบถามจากนางเบญจมาศ สมศรี ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด ซึ่งกล่าวตอบเพียงสั้นๆว่า เด็กทุกคนอยู่ในภาวะปกติ และอยู่ในการดูแลอย่างดี ไม่มีใครติดต่อหรือเข้ามาเยี่ยมเป็นกรณีพิเศษ แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลใดๆ ได้มาก เนื่องจากเด็กทุกคนยังอยู่ในความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546

ต่อมาผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายธนาธิป อุปัติศฤงค์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ถึงกรณีนายมิตซูโตกิ ชิเกตะ ที่มาจ้างอุ้มบุญในไทย ว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทยตรวจสอบพบว่าตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบัน นายมิตซูโตกิ เดินทางเข้าออกประเทศไทย 40 ครั้ง แต่จากการตรวจสอบของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ไม่พบประวัติการขอวีซ่าเข้าไทยของนายมิตซูโตกิ สำหรับในญี่ปุ่นยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการอุ้มบุญ แต่การอุ้มบุญไม่เป็นที่ยอมรับทางสังคมมากนัก เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อศีลธรรมและมีประเด็นกฎหมาย ในปัจจุบันชาวญี่ปุ่นนิยมไปว่าจ้างการอุ้มบุญในต่างประเทศที่มีข้อจำกัดด้านกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆน้อยกว่า หรือมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า

...

ส่วนกรณีที่ทางตำรวจไทยอาจจะประสานงานกับทางฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อขอให้ทางการญี่ปุ่นส่งตัวกลับไทยเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น นายธนาธิปกล่าวว่า การที่ทางการญี่ปุ่นจะให้ความร่วมมือหรือไม่ ย่อมเป็นดุลพินิจของฝ่ายญี่ปุ่น เนื่องจากไทยและญี่ปุ่นไม่มีความตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือต่างๆจะเป็นไปตามหลักการปฏิบัติต่างตอบแทนและขึ้นอยู่กับดุลพินิจของฝ่ายญี่ปุ่น ทั้งนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่ประมวลข่าวเรื่องการจ้างอุ้มบุญในประเทศไทย เป็นเอกสารไว้เพื่อแจกทำความเข้าใจแก่ผู้ที่สนใจไปสอบถามด้วย เพื่อให้ทราบว่าเรื่องราวเป็นมาอย่างไร รวมทั้งกฎหมายไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นอย่างไร และความคืบหน้าเป็นระยะๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำนักตรวจคนเข้าเมืองได้สั่งการด่านตรวจคนเข้าเมืองทุกท่าอากาศยาน เฝ้าติดตามการเดินทางมาประเทศไทยของนายมิตซูโตกิ ชิเกตะ หลังจากมีข่าวว่าจะเดินทางมาประเทศไทยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา และมีสื่อมวลชนไปเฝ้ารอทำข่าวกันเก้อนั้น เพราะไร้วี่แววของนายมิตซูโตกิ ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจึงได้เพิ่มมาตรการตรวจสอบ โดยให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองทุกด่านชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้านเฝ้าติดตามด้วย เนื่องจากเกรงว่านายมิตซูโตกิอาจจะหลบกองทัพสื่อมวลชน โดยเดินทางเข้ามาทางด่านชายแดน

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้รวบรวมข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีเด็กและเยาวชนถึงกรณีมีกระแสข่าวว่า มีชาวต่างชาติแห่มาจ้างหญิงไทยเพื่อตั้งครรภ์ เมื่อได้เด็กทารกแล้วก็พยายามหาสัญชาติให้เด็ก เพื่อประโยชน์ในการนำเด็กออกไปต่างประเทศ ซึ่งช่องทางหนึ่งก็คือ ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้เกี่ยวข้องได้เปิดเผยว่า คดีเด็กและเยาวชนมีกฎหมายห้ามมิให้คู่ความนำข้อความในสำนวนคดีออกไปเปิดเผย แต่บอกได้เพียงว่า ในปี 2557 มีชาวต่างชาติทั้งชายและหญิงมายื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเพื่อจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรกว่า 20 คดี มีทั้งญี่ปุ่น และยุโรป อเมริกา โดยยื่นคำร้องฝ่ายเดียวมีเนื้อหาคล้ายๆกัน หรืออาจใช้ทนายความคนเดียวกัน

...

ร่างคำร้องมักตั้งประเด็นมีใจความว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของสเปิร์มและไข่ ที่ก่อให้เกิดปฏิสนธิ และนำไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว นำไปฝังในรังไข่ของหญิงไทย จากนั้น หญิงดังกล่าวได้ตั้งครรภ์ครบ 9 เดือน คลอดออกมา เป็นเด็กชาย เด็กหญิง มีชื่อ ทั้งนี้ ผู้ร้องไม่ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับหญิงผู้ตั้งครรภ์ และหญิงดังกล่าวมิใช่ญาติของผู้ร้องฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผู้ร้องมีความประสงค์ ขอรับเด็กเป็นบุตรเพื่อสวัสดิภาพในตัวเด็ก โดยชั้นสืบพยานผู้ร้องก็สืบไม่ได้ว่าต้องการมีบุตรเพราะไม่สามารถมีบุตรได้ จึงต้องไปอาศัยเทคโนโลยี ทั้งหญิงที่ตั้งครรภ์ก็ไม่ใช่ญาติ ซึ่งศาลพิจารณาแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องไม่มีรายใดอุทธรณ์แม้แต่รายเดียว

จากนั้นเวลา 16.00 น. น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข นำเจ้าหน้าที่กองประกอบโรคศิลปะ สบส.เข้าตรวจสอบคลินิกเวชกรรมเฉพาะทางสูตินรีเวช ชื่อ บี ไอ ซี BIC : Bangkok I VF Center Lardplao บริเวณซอยประดิษฐ์มนูธรรม 13 ที่เป็นคลินิกให้บริการปรึกษาการมีบุตรยาก ซึ่งพบว่ามีการขออนุญาตสถานบริการอย่างถูกต้อง ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ส่วนแพทย์มีใบประกอบวิชาชีพถูกต้องตามกฎหมาย แต่พบในส่วนของการใช้ เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ไม่มีการขอขึ้นทะเบียนจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ตามเกณฑ์การประกอบวิชาชีพ และแพทย์ที่ให้บริการ ซึ่งเป็นผู้แจ้งจดทะเบียนสถานบริการก็ไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ แต่ระหว่างตรวจค้นภายในไม่อนุญาตให้สื่อมวลชน และผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปภายในคลินิกเด็ดขาด

น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าวในเวลาต่อมาว่า คลินิกแห่งนี้จะมีความผิดตามมาตรา 34 (2) พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 เรื่องของผู้ประกอบการและมีใบอนุญาตเปิดสถานพยาบาลยินยอมหรือมอบให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ตาม มาตรฐาน เพราะให้การบริการการตั้งครรภ์จากหญิงอื่น ไม่เป็นไปตามที่แพทยสภาได้กำหนด มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดย สบส.มีคำสั่งตามมาตรา 49 ระบุว่าผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการปฏิบัติไม่ถูกต้อง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการ ระงับหรือปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่เห็นสมควร ดังนั้น จึงได้สั่งให้ยุติการดำเนินการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เป็นระยะเวลา 60 วัน โดยจะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ส่วนแพทย์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับราชวิทยาลัยฯ ก็จะส่งแพทยสภาพิจารณาต่อไป

...

ต่อมาเวลา 17.30 น. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ให้สัมภาษณ์ ภายหลังตรวจค้นคลินิกเวชกรรมเฉพาะทางสูตินรีเวช ชื่อ บี ไอ ซี “BIC : Bangkok I VF Center Lardplao” กล่าวว่า เบื้องต้นจากการตรวจค้นเจ้าหน้าที่ประจำคลินิกบี ไอ ซี ให้ความร่วมเป็นอย่างดี แต่ยังไม่ได้ พูดคุยกับเจ้าของคลินิกบี ไอ ซี เนื่องจากอยู่ระหว่างเดินทางไปทำธุระที่ประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะเดินทางกลับมาภายในสัปดาห์นี้ ส่วนเรื่องคดีทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะมีการรวบรวมพยานหลักฐาน และแจ้งความ สน.วังทองหลาง ไม่เกินสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ดี นพ.วิวรรธน์ ชินพิลาศ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ “BIC : Bangkok IVF Center Lardplao” ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างทำธุระอยู่ที่ญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวไทยรัฐ หลังทราบข่าวว่ามีเจ้าหน้าที่มาตรวจค้นที่คลินิกว่า ได้ชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ไปแล้วว่า คลินิกจะรักษาคู่สมรสที่มีบุตรยากโดยวิธีอุ้มบุญเฉพาะ เมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์อย่างชัดเจนเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงไม่กี่ราย แต่อาจผิดกฎกระทรวงตรงที่ผู้อุ้มบุญไม่ได้เป็นญาติทางสายเลือด เพราะไม่สามารถหาญาติ ทางสายเลือดมาอุ้มบุญได้ และคลินิกก็ไม่มีการบริการ จัดหา หรือจัดจ้างผู้อุ้มบุญแต่ประการใด คลินิกมุ่งเน้นการให้การรักษาคู่สมรสผู้มีบุตรยากเป็นหลักเสมอมา