ตำรวจเล็งสอบกราวรูดคดีหนุ่ม ญี่ปุ่นจ้างสาวไทยอุ้มบุญกว่า 13 ราย บี้หมดทั้งหมอ พยาบาล คนที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มบุญ รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำสูติบัตร ออกเอกสารพาเด็กออกนอกประเทศ ก่อนจะสรุปคดีให้ชัด ขณะที่ สธ.สั่งฟันพวกโฆษณาขายไข่-สเปิร์มผ่านเน็ต เข้าข่ายผิด ก.ม.ทุกกรณี ด่าน ตม.สั่งคุมเข้ม สกัดนำเด็กอุ้มบุญออกนอกประเทศ ขณะเดียวกัน คริสตจักรแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการทำอุ้มบุญ ด้านนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แฉมีขบวนการผลักดันร่าง ก.ม.อุ้มบุญ ให้มีผลบังคับใช้ ชี้เน้นคุ้มครองเด็ก แต่ละเลยคุ้มครองแม่ที่รับจ้างอุ้มท้องแทน ส่วนพ่อแม่น้องแกรมมี่โผล่ทีวีออสซี่โต้กลับแม่อุ้มบุญไทย ยังยืนยันต้องการเด็กทั้งสองคน

ความคืบหน้ากรณีนายมิตซึโตกิ ชิเกตะ หนุ่มญี่ปุ่น มาจ้างสาวไทยอุ้มท้องเด็กกว่า 10 คน โดยอ้างเป็นพ่อของเด็กทั้งหมดและได้เดินทางออกนอกประเทศ รวมถึงนำตัวเด็กออกจากไทยไปแล้ว 3 คน ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ว่าได้รับการเปิดเผยจาก พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. ว่าสั่งให้เร่งสอบสวนผู้หญิงที่รับจ้างให้ตั้งครรภ์เด็กทั้งหมดให้ได้ข้อมูลผู้ติดต่อจ่ายเงิน ขั้นตอนคลอดว่ามีผู้ใดเข้ามาเกี่ยวข้องเชื่อมโยงชาวญี่ปุ่นที่อ้างเป็นพ่อเด็กอย่าง ไร เพื่อนำมาใช้ยืนยันผลการตรวจพิสูจน์ด้านนิติวิทยาศาสตร์เพื่อให้ได้รายละเอียดมากที่สุด โดยจะมีการสอบสวนคลินิก โรงพยาบาล หมอ พยาบาล ที่เข้ามาเกี่ยวข้องการคลอดของแม่อุ้มบุญ รวมทั้งสอบสวนเพิ่มเติมเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตเกี่ยวกับการออกใบสูติบัตรของเด็ก และกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ที่เป็นผู้ออกหนังสือเดินทางให้เด็กเพื่อเดินทางออกจากประเทศไทย โดยจะมีการประชุมร่วมกันเพื่อหาข้อมูลความเป็นมาของชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาว่าจ้างผู้หญิงคนไทยตั้งครรภ์ว่ามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และทำไมชาวญี่ปุ่นที่อายุไม่มากต้องการมีลูกมากขนาดนั้น

...

ขณะที่ พล.ต.ต.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ รอง ผบช.น. เผยความคืบหน้าของคดีว่า ขณะนี้สั่งการให้ทางตำรวจ บก.สส. บช.น. บก.น.4 และ กก.ดส. เข้าตรวจค้นสถานที่ที่มีการรับทำบุตร หรืออุ้มบุญในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. พบมีประมาณ 10 แห่ง โดยบางแห่งเป็นสถานที่มีการรับทำบุตรสำหรับผู้มีบุตรยากที่ได้รับอนุญาต ขณะที่ยังมีบางแห่งที่ลักลอบแอบทำอย่างผิดกฎหมาย ก็จะเร่งตรวจสอบ เนื่องจากอาจมีการเคลื่อนย้ายเอกสารสำคัญ ซึ่งในส่วนนี้หากตรวจพบว่ามีการปิดบัง ซ่อนเร้น เอกสารก็จะถือว่ามีความผิดด้วย

พล.ต.ต.ฐิติราชกล่าวต่อว่า ในส่วนของชายชาวญี่ปุ่นตามที่เป็นข่าวว่าอาจเป็นเจ้าของน้ำเชื้อและทำเด็กอุ้มบุญมากกว่า 13 คน ขณะนี้ยังไม่ชัดเจน แต่กำลังตรวจสอบทั้งหมด โดยในส่วนของทนายความของชาวญี่ปุ่น รับปากว่าจะนำตัวมาพบตำรวจ โดยกำชับว่าให้นำเด็กทั้ง 3 คน ที่ออกจากประเทศไปก่อนหน้านี้มายืนยันด้วยว่าเด็กยังปกติดีหรือไม่ คาดว่าหลังจากวันหยุดยาวก็คงเข้าพบเจ้าหน้าที่ เพราะได้บอกทนายความผ่านไปแล้วว่าหากมีความบริสุทธิ์ใจและคิดว่าไม่ได้ทำอะไรผิดก็ขอให้เข้ามาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อทำความเข้าใจ และเพื่อทราบจุดประสงค์ที่ชัดเจนในการนำตัวเด็กออกไปและมีการอุ้มบุญจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม สาเหตุอีกปัจจัยที่มีการทำเด็กอุ้มบุญในประเทศไทย เนื่องจากค่าใช้จ่ายในไทยน่าจะถูกกว่าที่ประเทศอื่น รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบกรณีที่เกี่ยวกับการอุ้มบุญที่ผิดปกติทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะแค่กรณีชายชาวญี่ปุ่นรายนี้เท่านั้น

“นอกจากหน่วยงานในนครบาล ในกรณีนี้ยังร่วมกับหน่วยงานอื่นในการตรวจสอบทั้งข้อมูลเรื่องข้อกฎหมายการกระทำผิดที่ได้ประสาน บก.ปคม.สตม. โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขที่มีความรู้ในส่วนนี้ รวมถึงลิสต์รายชื่อแพทย์ที่ทำหน้าที่ในการรับทำเด็กอุ้มบุญมาตรวจสอบในส่วนที่ต้องสงสัย ที่สำคัญเอกสารต่างๆ ทั้งสูติบัตร ที่ต้องประสานทางเขต และอื่นๆ เพื่อนำไปถึงตัวพ่อเด็ก หญิงที่ทำการตั้งครรภ์ แพทย์เจ้าของไข้และอื่นๆ แต่ก็ต้องขอเวลาเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรวบรวมพยานหลักฐานด้วย” รอง ผบช.น.กล่าว

ทั้งนี้มีรายงานว่า เบื้องต้นได้รับการติดต่อคาดว่าวันที่ 18-20 ส.ค. นายมิตซึโตกิจะเดินทางมาพบตำรวจ จึงจะได้ความชัดเจนว่านำทารกไปทำอะไร นอกจากนี้ ทีมสืบสวนจะมีการประสานตำรวจญี่ปุ่น เพื่อให้ร่วมตรวจสอบหาข้อมูลที่มาที่ไปของทารกอุ้มบุญในประเทศญี่ปุ่นอีกทางหนึ่งด้วย

ด้านนายรัฐประธาน ตุลาธร ทนายความที่รับว่าเป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจให้แก่นายมิตซึโตกิ ชิเกตะ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า โทรศัพท์ติดต่อกับนายชิเกตะขอให้เดินทางมาประเทศไทย เพื่อเคลียร์ปัญหาต่างๆ โดยทางนายชิเกตะสอบถามว่าทางเจ้าหน้าที่ไทยสรุปว่าอย่างไร ตนแจ้งไปว่าก็ต้องนำหลักฐานมาชี้แจงกับทางเจ้าหน้าที่ในประเด็นปัญหาต่างๆ ส่วนจะผิดหรือไม่อยู่ที่การพิจารณาตามกฎหมาย หากไม่เดินทางมาชี้แจงและเคลียร์ปัญหา ถ้าหากตำรวจสรุปคดีว่าเป็นการค้ามนุษย์ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยเฉพาะคดีค้ามนุษย์เป็นเรื่องที่ต่างประเทศให้ความสำคัญและสนับสนุนเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ส่วนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเส้นทางการนำเด็กอุ้มบุญออกนอกประเทศนั้น ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ได้รับคำยืนยันจาก เจ้าหน้าที่ ตม.อุบลราชธานี ด่าน ตม.จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ตม.จ.สระแก้ว ตม.ศรีสะเกษ รวมถึง ตม.จันทบุรี ยืนยันไม่มีชาวต่างชาติอื่นๆนำเด็กออก อย่างไรก็ตาม จากนี้จะเฝ้าระวังไม่ให้มีการนำเด็กที่สงสัยว่าจะเกิดจากการอุ้มบุญผ่านเข้าออกประเทศไทยไปกัมพูชา

เมื่อเวลา 11.00 น. วันเดียวกัน ที่วัดบ้านเซเซียร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กทม. คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคมแผนกสตรี จัดงานเสวนา “จุดยืนพระศาสนจักรคาทอลิก เรื่องการอุ้มบุญ” เพื่อสะท้อนแนวคิดร่วมกันหาทางออกแก้ปัญหาของการอุ้มบุญ ซึ่งทั้งคุณพ่อพิเชฐ แสงเทียน พระคณะเยซูอิด อาจารย์วิทยาลัยแสงธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวจริยศาสตร์ และคุณพ่อเชิดชัย เลิศจิตรเลขา อธิการเจ้าคณะคามิลเลียน ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวจริยศาสตร์ ต่างกล่าวตรงกันถึงการอุ้มบุญ หรือการตั้งครรภ์แทนว่า เป็นการขัดศีลธรรมอันดี และเป็นบาปรุนแรง ส่วนสาเหตุที่แม่ไม่อยากตั้งครรภ์เองเพราะกลัวไม่สวย กลัวอ้วน ภาวะมีบุตรยาก รวมถึง กลุ่มชายรักชายอยากมีลูก ทำให้พัฒนาเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์รวดเร็วมาก

...

ด้านมุมมองของ น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง กล่าวว่า การอุ้มบุญในไทยกลายเป็นเรื่องของผลประโยชน์มหาศาลของคนบางกลุ่ม เพราะกฎหมายไม่สอดคล้องกับหลักความเป็นจริง และไม่มีกฎหมายควบคุมอนามัยเจริญพันธุ์ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ สิทธิมีเพศสัมพันธ์กับใครก็ได้ จะมีบุตรกี่คนก็ได้ สิ่งสำคัญมีสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ แต่คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการอุ้มบุญ โดยเฉพาะผู้ที่รับหน้าที่ตั้งครรภ์แทน กลับไม่เคยรับรู้ข้อมูลอย่างแท้จริงของผลเสียภายหลังจากอุ้มบุญแทน เพราะบุคคลเหล่านี้ เป็นกลุ่มทางสังคมที่มีต้นทุนต่ำทางด้านเศรษฐกิจ จนกลายเป็นถูกละเมิดสิทธิโดยที่ไม่รู้ตัว และกำลังจะถูกสังคมตีตราเป็นผู้กระทำผิดจากความไม่รู้ สิ่งที่ละเมิดอันดับแรกคือ ระเบียบแพทยสภาฯที่เปิดช่องให้มีการอุ้มบุญได้มาตั้งแต่ต้น

น.ส.นัยนากล่าวอีกว่า ตอนนี้มีขบวนการผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ..... ให้มีผลบังคับใช้ แต่ตามเนื้อหา พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯนี้ เน้นทางคุ้มครองเด็ก แต่ละเลยคุ้มครองผู้ที่ตั้งครรภ์แทน และเอื้อผลประโยชน์ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ แพทย์ หรือสถานพยาบาล ที่ทำเกี่ยวกับอุ้มบุญ หาก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯออก บังคับใช้ อาจเปิดช่องทางกฎหมายนำไปเชิงพาณิชย์ให้เกิดธุรกิจใหม่ในการรับอุ้มบุญแน่นอน โดยเฉพาะปี 2558 เปิดประตูสู่อาเซียน และกฎหมายเมืองไทย ไม่มีความเข้มงวด สังเกตปัจจุบันที่มีธุรกิจรับจ้างอุ้มบุญขยายวงกว้างอย่างมาก และคนทั่วโลกก็แห่เข้ามาจ้างคนไทยอุ้มบุญให้จำนวนมากเช่นกัน

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ “ครูหยุย” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงปัญหาการรับจ้างตั้งครรภ์แทนเวลานี้มีความสัมพันธ์กันในหลายส่วน ดังนั้น จึงอยากเสนอให้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาตินัดพิเศษเป็นการเร่งด่วน เพื่อระดมกรรมการคุ้มครองเด็กฯ ซึ่งมีบุคคลที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็ก รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ช่วยกันระดมความคิดเห็นและแนวทางในการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์แทน อีกทั้งให้มีการเชิญแพทยสภาเข้ามาร่วมให้ข้อมูลด้วย ทั้งตนก็พร้อมจะเข้าร่วมหารือเพื่อผลักดันในเรื่องของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กโดยอาศัยเทคโนโลยีเพื่อการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ....อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าแปลกว่าเด็กที่เกิดจากหญิงรับจ้างตั้งครรภ์แทนออกนอกประเทศไปได้อย่างไร การทำเอกสารตั้งแต่สูติบัตร พาสปอร์ตให้เด็กผ่านออกไปได้อย่างง่ายดายคงต้องมีการทำเป็นกระบวนการ

...

ขณะที่ นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผอ.กองกฎหมาย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในเวลาต่อมาถึงกรณีรัฐบาลออสเตรเลียเป็นห่วงว่ายังมีหญิงไทยอีกราว 100 ราย ทำการอุ้มบุญเด็กออสเตรเลียว่า เบื้องต้นคาดว่า เด็ก 100 รายที่ยังอยู่ในท้องแม่อุ้มบุญ ที่ทางการออสเตรเลียเป็นห่วง อาจเป็นกรณีที่ทำกับคลินิกแห่งเดียวกับน้องแกรมมี่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ พบประวัติการทำลักษณะเดียวกับน้องแกรมมี่และกรณีอื่นๆของคลินิกแห่งนี้อีกรวมกว่า 100 ราย ซึ่งระหว่างนี้ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูล เพื่อคัดแยกว่าใครคือผู้กระทำผิดบ้าง หากเป็นสถานพยาบาลกระทำผิด จะไม่มีการละเว้น หรือหากเป็นแพทย์ ก็จะจัดส่งประวัติแพทย์ผู้กระทำให้กับทางแพทยสภา ดำเนินการด้านจริยธรรมอย่างแน่นอน ส่วนการดูแลเด็กที่กำลังจะเกิดมา คาดว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะเข้ามาดูแลอุปการะเด็กเหล่านี้ได้อย่างดีที่สุด ส่วนกรณีมีการโฆษณาอย่างโจ๋งครึ่ม ในการขายไข่และสเปิร์มเลือกหน้าตาได้นั้น หากเป็นการโฆษณาที่เกิดในสถานพยาบาล หรือเว็บไซต์ที่มีการระบุชื่อสถานพยาบาลเลยนั้น สบส.สามารถเอาผิดได้ตาม พ.ร.บ.สถาน-พยาบาล 2541 มาตรา 38 ที่มีการโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริง หรือกระทำอันเป็นเท็จ มีโทษปรับ 2 หมื่นบาท เว้นที่โฆษณาตามเว็บไซต์ หรือเฟซบุ๊กที่ไม่แจ้งชื่อสถานพยาบาลจะเป็นอำนาจของ สคบ.ที่จะมากวดขัน จับกุม ส่วนกรณีที่มีการพบแหล่งรับทำอุ้มบุญที่หมู่บ้าน ในซอยลาดพร้าว 87 ยังต้องตรวจสอบหากลักลอบเปิดเป็นคลินิกจริงก็จะดำเนินคดีเพิ่มเติมอีกด้วย

จากนั้นในช่วงเย็น วันที่ 10 ส.ค. นายเดวิด วัย 56 ปี และนางเวนดี ฟาร์เนลล์ ชาวเมืองบันเบอรี่ ประเทศออสเตรเลีย คู่สามีภริยาที่ถูกระบุเป็นบิดามารดาของน้องแกรมมี่ เด็กชายที่ป่วยเป็นดาวน์ซินโดรม วัย 7 เดือน ที่เกิดจากการรับจ้างอุ้มบุญของ น.ส.ภัทรมน จันทร์บัว และแฝดผู้หญิงอีกคนชื่อ “ปิปป้าห์” ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์ช่อง 9 แห่งออสเตรเลีย รายการ “60 นาที” ระบุ ทั้งคู่ไม่ต้องการละทิ้งเด็กชายแกรมมี่เอาไว้ในเมืองไทย หลังรู้ว่าเด็กชายแกรมมี่ป่วยดาวน์ซินโดรมและมีปัญหาโรคหัวใจตั้งแต่กำเนิด แต่ น.ส.ภัทรมน ไม่ต้องการให้พวกตนพาเด็กชายแกรมม่ีกลับออสเตรเลียด้วย ทั้งอ้างว่าหากพวกตนนำตัวเด็กชายแกรมมี่กลับออสเตรเลียจะแจ้งความต่อตำรวจไทยและ น.ส.ภัทรมนยังต้องการเด็กแฝดทั้ง 2 คนกลับมาดูแลเอง ทำให้พวกตนกดดันอย่างมาก ทั้งๆที่พวกตนต้องการเด็กทั้ง 2 คน

...

นายฟาร์เนลล์กล่าวอีกว่า ทุกวันหลังกลับจากทำงานในออสเตรเลีย นางเวนดี ภรรยาเชื้อสายจีนของตนได้ดูแลแต่งตัวให้ลูกสาวด้วยความเศร้าเพราะคิดถึงลูกชายคู่แฝดอีกคน ส่วนเรื่องคดีอาญาเกี่ยวกับตนกรณีละเมิดทางเพศเด็ก 22 กระทงนั้น นายฟาร์เนลล์เห็นว่า เป็นความพยายามดึงเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ทั้งๆที่ตนกับภรรยาถูกตอกย้ำว่าเป็นบุคคลไร้หัวใจกรณีละทิ้งเด็กชายแกรมม่ีเอาไว้ที่เมืองไทย

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวเว็บไซต์สตัฟฟ์ ดอต ซีโอ ดอต เอ็นแซด ของนิวซีแลนด์ รายงานอ้างคำพูดของ น.ส.ภัทรมนระบุว่า นางเวนดีไม่ใช่ เจ้าของไข่ที่ถูกใช้ในกระบวนการปฏิสนธิก่อเกิดเด็กแฝดคู่นี้ แต่ยอมรับว่าเชื้ออสุจิเป็นของนายเดวิดจริง ส่วนไข่เป็นของสตรีไทยคนหนึ่งที่ได้โดยผ่านทางบริษัทนายหน้ารับจ้างอุ้มบุญ ดังนั้น เด็กแฝดทั้ง 2 คนไม่น่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับทั้งคู่สามีภรรยาฟาร์เนลล์ ตนจึงเกรงว่าทั้งคู่จะไม่รักเด็กแฝดทั้ง 2 คนจริง

นอกจากนี้ วันเดียวกัน เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เซาธ์ ไชนา มอร์นิง โพสต์ รายงานกรณีชายญี่ปุ่นที่อ้างเป็นพ่อเด็ก 10 กว่าคน ที่เกิดจากการจ้างอุ้มบุญในไทย ว่านายมิตซูโตกิ ชิเกตะ ชาวญี่ปุ่น วัย 24 ปี ที่พำนักอยู่ในย่านโซโฮของฮ่องกง ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องขบวนการค้ามนุษย์ เคยช่วยจัดทำแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือเกี่ยวกับการเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของเด็กๆกับครอบครัวผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ชื่อแอพพลิเคชั่น Familonet ทำเพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ ซึ่งฐานข้อมูลแอพพลิเคชั่นอยู่ที่เมืองฮัมเบิร์ค ประเทศเยอรมนี นอกจากนั้น นายชิเกตะยังถือหุ้นแอพพลิเคชั่นนี้ 4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับแอพพลิเคชั่น Familonet ปฏิเสธให้รายละเอียดใดๆถึงความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทฯกับนายชิเกตะ อีกทั้งภาพถ่ายของนายชิเกตะที่อยู่ในหน้าเฟซบุ๊กก็ถูกลบออกไปหมดแล้วด้วย