มีพี่เลี้ยงเฝ้าดูแบบตัวต่อตัว ทนายโผล่แจง-อ้างไม่ผิดกม.

สื่อท้องถิ่นแดนจิงโจ้เกาะติดไม่แพ้สื่อไทย ตามเจาะจนพบตัวพ่อแม่ชาวออสเตรเลียของน้องแกรมมี่ เป็นช่างไฟฟ้า ชาวเมืองบันเบอรี รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ออกมาแก้ต่าง หลังถูกสื่อและสังคมออนไลน์ในออสเตรเลียรุมประณามว่าเป็นคนไร้น้ำใจ ที่ทิ้งน้องแกรมมี่ให้แม่อุ้มบุญคนไทย เพื่อนสนิทของพ่อแม่น้องแกรมมี่ที่ชี้แจงแทน อ้างแม่อุ้มบุญชาวไทยโกหกปั้นเรื่องผิดจากข้อเท็จจริง ยันได้พบน้องแกรมมี่ตั้งแต่คลอดแล้ว แต่มีเหตุจำเป็นทำให้ต้องพาลูกสาวกลับแดนออสซี่ไปคนเดียว ขณะที่ตำรวจเตรียมพิจารณาผู้เป็นพ่อว่าจะสามารถเลี้ยงดูเด็กได้หรือไม่ ด้านแม่อุ้มบุญ อยากได้ลูกสาวคู่แฝดน้องแกรมมี่มาเลี้ยงเองหวั่นถูกล่วงละเมิดทางเพศ สำนักพยาบาลและประกอบโรคศิลปะบุกตรวจสถานพยาบาลที่สงสัยรับทำอุ้มบุญ “สื่อไทยรัฐ” นำ จนท.บุกตรวจสอบคอนโดย่านลาดพร้าว ตะลึงพบเด็กทารกที่เกิดจากการอุ้มบุญนับสิบคน เร่งตรวจสอบและดำเนินการต่อไป

กลายเป็นข่าวที่คนทั่วโลกให้ความสนใจมากที่สุด หลังจาก น.ส.ภัทรมน จันทร์บัว แม่อุ้มบุญของ “น้องแกรมมี่” หนูน้อยวัย 6 เดือน ที่ถือกำเนิดเกิดจากการว่าจ้างของพ่อแม่ชาวออสเตรเลีย นำเชื้อผสมไข่มาให้ น.ส.ภัทรมนทำการ “อุ้มบุญ” จนได้บุตรฝาแฝดชายหญิง แต่ผู้ว่าจ้างนำเพียงลูกสาวกลับไป ทิ้งน้องแกรมมี่ซึ่งเป็นเด็กดาวน์ซินโดรมและหัวใจรั่วไว้ นสพ.ไทยรัฐ ไทยรัฐทีวีและไทยรัฐออนไลน์ เป็นผู้เปิดประเด็นข่าวนี้เป็นสื่อแรก ได้นำเสนอข่าวเรื่อยมา จนทำให้สำนักข่าวต่างประเทศแทบทุกแห่งทั่วโลก ให้ความสนใจมาติดตามข่าวเพราะเป็นเรื่องราวสะเทือนความรู้สึกคน รวมทั้งรัฐบาลออสเตรเลีย ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องนี้ พร้อมทั้งแสดงความเสียใจต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นและยกย่อง น.ส.ภัทรมน ว่าเป็นวีรสตรีใจบุญ ที่ยอมรับเลี้ยงเด็กไว้เพราะมีมนุษยธรรม รวมทั้งจะให้สัญชาติออสเตรเลียแก่น้องแกรมมี่ที่ยังนอนรักษาตัวอยู่ที่ รพ.สมิติเวช อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ขณะเดียวกัน พ่อแม่ชาวออสซี่ที่แท้จริงของหนูน้อยฝาแฝดอุ้มบุญ ได้ถูกสื่อออสเตรเลียเปิดเผยชื่อที่อยู่ในออสเตรเลีย ซึ่งเจ้าตัวได้ชี้แจงเหตุไม่รับน้องแกรมมี่

...

ความคืบหน้าเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ว่า สื่อทุกแขนงในไทยยังให้ความสนใจเรื่องราวน้องแกรมมี่ โดยไปปักหลักเฝ้าทำข่าวที่ รพ. สมิติเวช อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ตั้งแต่เช้า ต่อมาเที่ยงวันเดียวกัน ทพ.อาคม ประดิษฐ์สุวรรณ ผอ.สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และคณะ เดินทางมาเยี่ยมน้องแกรมมี่ที่ รพ.สมิติเวช ขณะที่ น.ส.ภัทรมนเปิดเผยถึงกรณีที่ชื่อจริงและนามสกุล ไม่ตรงกับใบเกิด เนื่องจากได้เปลี่ยนชื่อหลังคลอดน้องแกรมมี่ โดยเดิมชื่อขวัญฤดี แต่มีพระทักว่าไม่ดีจึง เปลี่ยนเป็น “ภัทรมน” ตามความเชื่อเรื่องดวง ส่วนนามสกุลตนจดทะเบียนสมรสกับแฟน จึงเปลี่ยนนามสกุลมาใช้ “จันทร์บัว” ไม่มีจุดประสงค์อย่างอื่นแต่อย่างใด และยืนยันจะยังรักษาน้องแกรมมี่ ที่เดิมไม่มีการย้ายโรงพยาบาล เข้ากรุงเทพฯหรือไปที่อื่นแต่อย่างใด

ด้านนายวิจิตร พนายิ่งไพศาล ผู้จัดการฝ่าย การตลาดและประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา กล่าวว่า อาการน้องแกรมมี่ขณะนี้ดีจากวันแรก ที่เข้ารักษาจากที่ได้เอกซเรย์ปอดและหัวใจพบว่าหัวใจปกติส่วนปอดยังมีเสมหะเหลืออยู่เล็กน้อย จะต้องดูดและให้ยาฆ่าเชื้อทุก 6 ชั่วโมง หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน อาจกลับบ้านได้ภายใน 2-4 วัน หรือหากน้องเกิดมีอาการที่โรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชาไม่สามารถรักษาได้ จะย้ายเด็กไปรักษาที่ รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่รักษาเด็กโดยตรง

วันเดียวกัน เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ “ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์” สื่อของออสเตรเลีย รายงานความคืบหน้าเรื่อง ด.ช.แกรมมี่ โดยระบุว่าพ่อและแม่ที่แท้จริงของ ด.ช.แกรมมี่ คือนายเดวิด และนางเวนดี้ ฟาร์เนลล์ ชาวเมืองบันเบอรี่ ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย พร้อมระบุว่า ปัจจุบันนายเดวิดเป็นช่างไฟฟ้า ที่คนในชุมชนบันเบอรี่รู้จักดี นายเดวิดมีลูกกับภรรยาเก่า รวม 3 คน ก่อนจะแต่งงานกับนางเวนดี้เมื่อปี 2547 ขณะที่สื่อท้องถิ่นในรัฐเวสท์เทิร์น “หนังสือพิมพ์บันเบอรี่เมล” ระบุว่าเพื่อนของครอบครัวฟาร์เนลล์รับ เป็นตัวแทนออกสื่อ ให้ข้อมูลโต้แย้ง น.ส.ภัทรมน โดยระบุว่า น.ส.ภัทรมนโกหก และอธิบายว่าครอบครัวฟาร์เนลล์ไม่อาจเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนได้ เพราะติดเงื่อนไขเกี่ยวเนื่องทางกฎหมาย แต่ทั้งคู่ถูกโจมตีอย่างหนักจากสื่อและสังคมออนไลน์ในออสเตรเลีย ทั้งถูกประณามว่าเป็นคนไร้หัวใจ ทำให้ต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง

เพื่อนสนิทของครอบครัวฟาร์เนลล์ ซึ่งข่าว มิได้ระบุชื่ออ้างอิงคำแถลงการณ์ของนายเดวิดและนางเวนดี้ ฟาร์เนลล์ ระบุว่า น.ส.ภัทรมน เป็นผู้ละเมิด ข้อตกลงในสัญญาว่าจ้างการตั้งครรภ์ก่อน เพราะไปคลอดที่โรงพยาบาลขนาดเล็ก แทนที่จะไปคลอดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ตามที่ตกลงกันไว้ ทำให้มีปัญหาเรื่องการสื่อสารด้านภาษา นอกจากนี้ ทารกแฝดคลอดก่อนกำหนด 2 เดือน และแพทย์ที่โรงพยาบาลแจ้งว่า ด.ช.แกรมมี่มีอาการผิดปกติที่หัวใจและปอด ซึ่งไม่น่ามีชีวิตรอดอยู่ได้นาน ทำให้ทั้งคู่ เศร้าโศกเสียใจมาก แต่ยืนยันว่าไม่เคยทราบเรื่องที่ ด.ช.แกรมมี่เป็นดาวน์ซินโดรม และทั้งคู่ไปเยี่ยมทารกแฝดที่โรงพยาบาล โดยซื้อข้าวของต่างๆ ให้ ทั้ง ด.ช.แกรมมี่ และเด็กหญิงฝาแฝด แต่ น.ส.ภัทรมน ไม่ยอมให้ทั้งคู่อุ้มทารก และรับปากจะเป็นผู้ดูแลจัดการพิธีศพให้ในกรณี ด.ช.แกรมมี่เสียชีวิต ขณะที่สามีภรรยาฟาร์เนลล์ต้องยื่นเรื่องขอเอกสารรับรองการเลี้ยงดูเด็กหญิง แต่ทั้งคู่ขอวีซ่าอยู่ในไทยได้เพียง 2 เดือน ก็เกิดการรัฐประหาร ทำให้การติดต่อหน่วยงานต่างๆ ยากลำบากมาก ทั้งคู่จึงตัดสินใจกลับออสเตรเลีย เพราะเกรงว่า น.ส.ภัทรมนอาจจะเปลี่ยนใจยึดเด็กไว้ทั้งหมด เนื่องจากกฎหมายของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียว่าด้วยการตั้งครรภ์แทนมอบ สิทธิ์ในการเลี้ยงดูเด็กให้แก่ผู้ที่ตั้งครรภ์ ไม่ใช่พ่อแม่ ที่แท้จริงที่มีความเกี่ยวโยงเฉพาะทางพันธุกรรม

นอกจากนี้ เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เฮรัลด์ ซัน สื่อออสเตรเลีย รายงานเพิ่มเติมว่า นายเดวิด ฟาร์เนลล์ เคยถูกตัดสินจำคุก 3 ปี เมื่อปี 2541 จากการ ก่อเหตุละเมิดทางเพศเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 13 ปี รวม 3 ราย ก่อนจะแต่งงานกับนางเวนดี้ หรือเวนดี้ หลี่ ภรรยาคนที่ 2 ซึ่งเป็นชาวจีน เมื่อเดือน ก.ค.2547 หลังทั้งคู่พูดคุยกันผ่านเว็บไซต์หาคู่ของจีน “ซานเจียง แฮปปี้ แมริจ เอเจนซี่” ประมาณ 8 เดือน จึงตัดสินใจแต่งงานกันที่จีน จากนั้นนางเวนดี้ได้ย้ายตามสามีมาอยู่ที่ออสเตรเลีย ขณะที่สำนักงานตำรวจ รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ระบุว่าจะสอบสวนข้อมูลย้อนหลังเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาว่าครอบครัวฟาร์– เนลล์ มีความเหมาะสมจะเป็นผู้รับเลี้ยงดูเด็กหญิงคนดังกล่าวหรือไม่

...

ส่วนสำนักข่าวเอพีรายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ น.ส.ภัทรมนหลังทราบข่าวนายเดวิดเคย เป็นผู้ต้องหาในคดีล่วงละเมิดทางเพศเยาวชนมาก่อน ส่งผลให้ น.ส.ภัทรมนแสดงความวิตกกังวล พร้อมระบุว่าตนต้องการให้ครอบครัวฟาร์เนลล์นำเด็กหญิงแฝดที่รับไปเลี้ยงมาคืนตน

ในส่วนข้อกฎหมาย วันเดียวกัน นางสันทนี ดิษยบุตร รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยว่า กรณีชายต่างชาติจะนำบุตรเกิดจากหญิงอุ้มบุญ เดินทางออกนอกประเทศ แล้วติดปัญหาเรื่องเอกสาร เพราะเกรงว่าจะเป็นการค้ามนุษย์นั้น ปัญหานี้เป็นกรณีข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นรายกรณี เพราะบางกรณีก็มองว่าเป็นการค้ามนุษย์ บางกรณีอาจมองว่าไม่เป็น ต้องดูจาก พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ มาตรา 6 ในส่วนขององค์ประกอบความผิดคือ ดูว่ามีการกระทำผิดหรือไม่ ดูวิธีการเข้าข่ายหรือไม่ ดูวัตถุประสงค์มีเจตนา ค้ามนุษย์หรือไม่ และดูว่ามีการหน่วงเหนี่ยวกักขัง มีการข่มขู่บังคับหรือไม่ ข้อเท็จจริงบางคดีจึงไม่ใช่การค้ามนุษย์ก็มี ดังนั้น ส่วนราชการเช่นกระทรวงสาธารณสุข กรมการกงสุล หารือมายังอัยการได้และคำตอบข้อหารือของอัยการนั้น ส่วนราชการที่หารือมาควรปฏิบัติตาม แต่ก็เป็นเพียงข้อหารือเท่านั้น ไม่ใช่การพิจารณาคดีในส่วนเนื้อหาตามสำนวน ดังนั้น คำพิพากษาศาลฎีกาออกมาเมื่อใดก็จะผูกพันเป็นแนวทางพิจารณาต่อไป

รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวว่า หากหญิงที่รับอุ้มบุญมีปัญหา เกี่ยวกับอำนาจการปกครองเด็ก หรือสัญญาที่ทำกันไว้ตกเป็นโมฆะ เพราะขัดความสงบหรือไม่ หรือมีข้อกังวลใดๆ ให้ไปขอรับคำปรึกษาได้ที่อัยการสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย หรืออัยการ สคช. ประจำจังหวัดนั้นๆ หรือจะมาที่สำนักงานอัยการสูงสุด แจ้งวัฒนะก็ได้ สำหรับคดีอุ้มบุญนี้หากมีคดีเข้ามายังอัยการ ก็จะมีอัยการที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานที่ปรึกษา สำนักงาน สคช. และสำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว ทั้งนี้ พนักงานอัยการมีอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของอัยการ

...

นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า หากแม่อุ้มบุญไม่สามารถดูแลเด็กได้ กระทรวงพร้อมจะดูแล เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องดูแลเด็กถูกทอดทิ้ง เด็กที่ไม่มีผู้อุปการะ หรือแม้แต่ครอบครัวที่มีปัญหาการเลี้ยงดูเด็กที่จะส่งปัญหาต่อตัวเด็ก ทราบว่าแม่อุ้มบุญได้รับความช่วยเหลือเงินบริจาคจำนวนมาก ฉะนั้นปัญหาเรื่องเงินคงไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่มีปัญหาว่าครอบครัวจะดูแลได้มากน้อยแค่ไหน คงต้องทำความเข้าใจกับแม่อุ้มบุญที่รักเด็กเหมือนลูกตนเองก่อน

ขณะที่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ “ครูหยุย” เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวว่า เชื่อว่าที่ผ่านมามีการอุ้มบุญและผู้ว่าจ้างนำกลับไปแล้วไม่น้อย ขณะที่ยังมีอีกพอสมควรที่รับจ้างโดยตั้งครรภ์อยู่เวลานี้ ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญแก้ไข เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เกี่ยวกับเด็กและผู้หญิง ซึ่งรวมถึงการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิด โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ....ให้มีผลบังคับโดยเร็ว ขณะเดียวกัน จะต้องพิจารณาในรายละเอียดให้รอบคอบ มองถึงผลกระทบรอบด้านด้วย โดยเฉพาะสตรีที่อุ้มบุญอยู่ในเวลานี้ เมื่อมีกฎหมายบังคับใช้แล้ว สตรีเหล่านี้ จะต้องถูกดำเนินการอย่างไร หรือต้องมีบทเฉพาะกาลรองรับว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร

อีกด้านหนึ่ง น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรรัตน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ ทพ.อาคม ประดิษฐ์สุวรรณ ผอ.สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ นำเจ้าหน้าที่ สบส. ตรวจสอบคลินิก เวชกรรมเฉพาะทาง สาขาสูตินรีเวช ย่านเพลินจิต หลังได้รับรายงานว่า เป็นคลินิกที่ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และทำอุ้มบุญกรณีแม่ของน้องแกรมมี่ จากการตรวจสอบคลินิกพบว่า ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และแพทย์ที่ทำการอุ้มบุญ ได้รับอนุญาตจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศ ไทย แต่มีความผิดตามประกาศแพทยสภาในเรื่อง การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ที่ระบุห้ามไม่ให้ บุคคลที่ไม่ใช่ญาติมาทำการอุ้มบุญแทน ที่สำคัญกรณีที่หญิงรับอุ้มบุญได้รับค้าจ้าง ถือว่าผิดชัดเจน แต่จากการตรวจสอบเวชระเบียนไม่พบชื่อของแม่ของน้องงแกรมมี่ คาดว่าอาจมีการเปลี่ยนชื่อ จึงขอเวลา 1-2 วัน ในการตรวจสอบชื่อว่าใช้ชื่อปลอม และมีชื่อที่เข้าข่ายเป็นแม่ของงแกรมมี่หรือไม่ ส่วนแพทย์ผู้ทำนั้น ได้ส่งชื่อให้แพทยสภาตรวจสอบในเรื่องจริยธรรมคลินิก ดังกล่าวเปิดให้บริการมาแล้ว 5 ปี มีอาจารย์แพทย์ที่ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หมุนเวียนเข้ามาประมาณ 20 คน

...

ขณะที่นายแพทย์ธีรยุทธ์ จงวุฒิเวศย์ สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา เปิดเผยว่า โรงพยาบาลพญาไท 2 ไม่มี นโยบายการให้บริการอุ้มบุญ ให้บริการเพียงทำเด็ก หลอดแก้วกับคู่สามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องมีทะเบียนสมรสยืนยัน และต้องมีคนใกล้ชิดยืนยัน โรงพยาบาลจะตรวจร่างกายคู่สามีภรรยา ว่ามีความพร้อมของร่างกายมากน้อยแค่ไหน หากไม่สมบูรณ์จะต้องแก้ไขอย่างไร ในกรณีที่ภรรยามีมดลูกไม่สมบูรณ์ จะแนะนำให้ทำอุ้มบุญ แต่โรงพยาบาลไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ กรณีฉีดตัวอ่อนจากที่อื่น แล้วเข้ามาฝากครรภ์ กับโรงพยาบาล อาจจะเป็นไปได้ โดยโรงพยาบาลจะรับฝากครรภ์ปกติ

นายแพทย์ธีรยุทธ์ยังเตือนถึงหญิงสาวที่จะรับจ้างอุ้มบุญว่า ไตร่ตรองให้รอบคอบ เพราะการตั้งครรภ์เด็ก 1 คน มีความเสี่ยงถึงแก่ชีวิตได้ หากหลัง ผ่าคลอดมีอาการตกเลือด หรือส่งผลให้มีโรคประจำตัวตามมาอย่างเบาหวาน ความดันสูง หากรับประทานอาหารไม่เพียงพอ ทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคกระดูกพรุน

ช่วงเย็นวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวไทยรัฐทีวี เดินทางไปยังอาคารชุดที่พักอาศัยแห่งหนึ่ง ย่านลาดพร้าว หลังมีพลเมืองดีแจ้งว่า สงสัยเป็นแหล่งที่พักทารกที่เกิดจากการอุ้มบุญ พบว่าห้องพักห้องหนึ่งที่อยู่ชั้นล่างอาคารชุดแห่งนี้ มีเด็กทารกอายุตั้งแต่แรกคลอดจนถึง 8 เดือนรวม 4 คนนอนอยู่ แต่ละคนจะมีพี่เลี้ยงคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ที่น่าสังเกตคือเด็กเหล่านี้ หน้าตาคล้ายเด็กลูกครึ่ง ผิวพรรณดี ตรงข้ามกับพี่เลี้ยงที่เป็นเพียงหญิงชาวบ้านธรรมดา จากการสอบถามทราบว่า เด็กทั้งหมดเป็นเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญจากแม่ชาวไทย ที่รอการดำเนินการด้านเอกสารในการเดินทางไปต่างประเทศ