เล็งให้สัญชาติหนูน้อยแกมมี่พ่วงได้รักษาฟรี

สองผัวเมียที่จ้างสาวไทยอุ้มบุญ เผยกับสื่อท้องถิ่นออสเตรเลีย อ้างไม่รู้ว่ามีลูกฝาแฝด สวนทางกับที่แม่อุ้มบุญระบุว่ารู้และเอาแต่ลูกสาว กลับไปคนเดียว ทั้งที่นอนอยู่ในโรงพยาบาลใกล้กัน ขณะที่ รมต.ออสซี่ยกย่องแม่อุ้มบุญว่าเป็นวีรสตรีที่รับเลี้ยงเด็กไว้ทั้งที่รู้ว่าเป็นดาวน์ซินโดรม ส่วนอาการป่วย “น้องแกมมี่” ดีขึ้น กองทัพสื่อต่างชาติแห่ทำข่าว ด้านเงินบริจาคได้เกือบ 7 ล้านบาทแล้ว “หมอประมวล” จี้เร่งคลอด ก.ม.อุ้มบุญ สกัดปัญหารับจ้างตั้งครรภ์ลามถึงต่างประเทศ ทั้งไทยถูกมองเป็นแหล่งลักลอบอุ้มบุญ ติงสามีภรรยาออสซี่ใจดำ โยนบาปให้แม่อุ้มเด็กดาวน์ซินโดรม ย้ำหมอต้องคำนึงจริยธรรมสูงสุดในการกระทำใดๆ

ยังคงเป็นข่าวดังทั่วโลก กรณีน้อง “แกมมี่” ทารกชาวออสซี่เพศชายวัย 6 เดือน ที่ป่วยเป็นดาวน์ซินโดรม และโรคหัวใจรั่ว ที่ถูกทิ้งให้อยู่กับแม่อุ้มบุญชาวไทย และขณะนี้น้องแกมมี่กำลังป่วย น.ส.ภัทรมน จันทร์บัว อายุ 21 ปี แม่ที่รับอุ้มบุญนำตัวเข้ารักษา ที่ รพ.สมเด็จ ณ ศรีราชา ก่อนย้ายมารักษาที่ รพ.สมิติเวช อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ท่ามกลางสื่อทั้งไทยและเทศ เช่น ฟูจิทีวี ซีเอ็นเอ็น เอเอฟพีของออสเตรเลีย ให้ความสนใจติดตามทำข่าว รวมทั้งมีผู้ใจบุญชาวไทยต้องการบริจาคเงินช่วยเหลือน้องแกมมี่กันจำนวนมาก ขณะที่เงินที่มีผู้บริจาคจากต่างประเทศผ่านทางออนไลน์ ที่ น.ส.ภัทรมนได้รับ ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือน้องแกมมี่และนางภัทรมนจากกรณีนี้มียอดเงินเกือบ 7 ล้านบาท

ความคืบหน้าเรื่องนี้เมื่อตอนสายวันที่ 4 ส.ค. ผู้สื่อข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐ ไปที่ รพ.สมิติเวช อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ติดตามการรักษาน้องแกมมี่ ได้รับการเปิดเผยจากนายวิจิตร พนายิ่งไพศาล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ ว่า น้องแกมมี่อาการดีขึ้น แต่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ต้องตรวจร่างกายตลอดทุก 4 ชั่วโมง ตอนนี้ได้ตรวจระบบหัวใจ ระบบพัฒนาการของเด็ก ประเมินสถานการณ์โดยรวมทั้งหมดของน้องแกมมี่

...

สำหรับบรรยากาศที่โรงพยาบาลเต็มไปด้วยสื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งไทยและเทศ มาขอสัมภาษณ์ น.ส.ภัทรมนและติดตามความคืบหน้าเรื่องน้องแกมมี่ เช่น สถานีโทรทัศน์ฟูจิทีวี ญี่ปุ่น ซีเอ็นเอ็น เอเอฟพีออสเตรเลีย สถานีโทรทัศน์ของไทยทั้งช่อง 3, 5, 7, 9, และช่องดิจิตอลหลายช่อง ซึ่งผู้สื่อข่าวหลายคนถึงกับน้ำตาซึมเพราะสงสารเด็กและในเวลา15.00 น. น.ส.ภัทรมนต้องเดินทางไปออกรายการของช่อง 3 ในช่วงเย็นด้วย ทำให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาล ต้องขอเวลาให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์แค่คนละ 5 นาที แต่ทุกคนก็ไม่สามารถทำตามเวลาที่กำหนดได้

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นเปิดเผยกับ ไทยรัฐว่า ที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังสนใจข่าวนี้มาก ก่อนหน้านี้มีพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นที่ต้องการหรืออยากมีลูกจะมาประเทศไทย เพื่อให้คนไทยอุ้มท้องแทน เมื่อมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น ก็น่าจะเป็นผลให้พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นต้องคิดให้รอบคอบต่อไป

ช่วงบ่าย นางประทีป อึ้งทรงธรรม ประธานมูลนิธิ ดวงประทีป ดร.ศุภวุฒิ มโนจันทร์ ผจก.ทั่วไปมูลนิธิแฮนด์อะครอส เดอะ วอเตอร์ ประจำประเทศไทย เป็นตัวแทนของนายปีเตอร์ เบนร์ส ประธานมูลนิธิแฮนด์อะครอส เดอะ วอเตอร์ ได้เข้าเยี่ยม น.ส.ภัทรมน พร้อมทั้งเปิดเผยว่า ทราบข่าวจาก นสพ.ไทยรัฐ ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ ต้องขอบคุณไทยรัฐที่ติดตามเรื่องนี้ นอกจากการมาเยี่ยมวันนี้แล้ว ยังมีความประสงค์จะช่วยออกค่ารักษาพยาบาลให้น้องแกมมี่ และขอให้แพทย์รักษาเด็กอย่างเต็มที่ ขณะที่ ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า ประธานมูลนิธิฯจะเดินทางมาไทยภายในต้นเดือนหน้าเพื่อเยี่ยมเด็ก ได้ปรึกษากับแพทย์เฉพาะทาง คือ ศ.พญ.พรสวรรค์ วสันต์ อาจารย์สาขาวิชากุมารเวชพันธ์ ภาควิชากุมารเวช คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ถึงแนวทางการรักษาน้องแกมมี่ สำหรับวันนี้ได้จ่ายค่ารักษาเบื้องต้นให้น้องแกมมี่เป็นเงิน 22,306 บาท ส่วนด้านการศึกษาจะช่วยจนแม่เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ การมาครั้งนี้ทราบว่าแม่อุ้มบุญฐานะยากจน ต้องเช่าบ้านอยู่ ซึ่งขอให้แม่อุ้มบุญไม่ต้องเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ เคยค้าขายอย่างไรก็ไปปฏิบัติตนตามเดิม โดยมูลนิธิฯจะยังช่วยเหลือต่อไป

ต่อมานางศิริวรรณ มุลิ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี เดินทางมาที่ รพ.สมิติเวช เมื่อถึงหน้าห้องที่น้องแกมมี่รักษาตัวอยู่ พบผู้สื่อข่าวจำนวนมาก จึงไม่ยอมเข้าไปแต่กลับถามว่า ทำไมนักข่าวมากันมากมาย ตนจะมาสอบถามสิทธิข้อมูลการรักษา เบื้องต้น เด็กมีสิทธิอยู่ที่ รพ.สมเด็จ ณ ศรีราชา แต่แปลกใจว่าทำไมถึงย้ายมาที่ รพ.สมิติเวช ถ้านักข่าวยังอยู่จะขอกลับไปก่อนแล้วค่อยมาใหม่เพราะเกรงไม่สะดวกในการทำงาน ทำให้กลุ่มผู้สื่อข่าวตอบกลับว่า ที่มาทำข่าวนี้เพราะเป็นข่าวที่ดังทั่วโลก ประชาชนให้ความสนใจและทำไมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เป็นหน่วยงานหลักถึงเพิ่งเดินทางมาดู ขณะเดียวกันได้มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข เดินทางมาดูพร้อมแจ้งว่าหาก น.ส.ภัทรมนต้องการย้ายน้องแกมมี่มารักษาที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือ รพ.เด็ก ที่มีความเชี่ยวชาญ โดยตรงก็สามารถย้ายมาได้ แล้วแต่ความสมัครใจของ น.ส.ภัทรมน

วันเดียวกัน สำนักข่าวเอพี เอเอฟพี และบีบีซี ยังคงรายงานเกาะติดข่าวสาวไทยอุ้มบุญอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 4 ส.ค. ได้รายงานว่ารัฐบาลออสเตรเลีย อาจพิจารณาเข้าแทรกแซงเรื่องแม่อุ้มบุญในไทย ซึ่งนายสกอตต์ มอร์ริสัน รมว.กิจการตรวจคนเข้าเมืองแห่งออสเตรเลีย ผู้รับผิดชอบการติดตามตัวสามีภรรยาชาวออสเตรเลียผู้ว่าจ้างให้ น.ส.ภัทรมน จันทร์บัว เป็นแม่อุ้มบุญ ให้สัมภาษณ์รายการวิทยุ “ทูจีบี”ของ ออสเตรเลีย ยกย่อง น.ส.ภัทรมนว่าเป็นวีรสตรีตัวจริง เปรียบได้กับนักบุญที่ยอมเลี้ยงดู ด.ช.แกมมี่ ผู้มีอาการดาวน์ซินโดรมและอาการโรคหัวใจที่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่กฎหมายออสเตรเลียเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังคลุมเครือและยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในขอบเขตอำนาจศาลของอีกประเทศหนึ่ง จึงต้องขอดูรายละเอียดก่อนและว่าชาวออสเตรเลียจำนวนมากได้บริจาคเงินช่วยเหลือเป็นค่ารักษาพยาบาลแก่ ด.ช.แกมมี่ แสดงให้เห็นว่ายังมีชาวออสเตรเลียอีกมากที่รู้สึกสะเทือนใจต่อกรณีดังกล่าว

...

ทั้งนี้ สำนักงานของนายมอร์ริสันเผยด้วยว่า ด.ช.แกมมี่อาจเข้าเกณฑ์ได้รับสัญชาติออสเตรเลียแต่ไม่สามารถเผยรายละเอียดอื่นๆได้ เพราะเรื่องยังไม่ได้ข้อสรุปและต้องเคารพความเป็นส่วนตัวด้วย ทั้งนี้ หากได้สัญชาติออสเตรเลีย ด.ช.แกมมี่ก็จะได้สิทธิ์รักษาพยาบาลฟรีในออสเตรเลีย

ด้านสามีภรรยาชาวออสเตรเลีย ผู้ว่าจ้าง น.ส.ภัทรมนเป็นแม่อุ้มบุญ เผยกับสื่อท้องถิ่นออสเตรเลียอย่าง “สถานีข่าวเอบีซี” และ “แชนแนล 9” ระบุว่า ไม่รู้ว่าลูกสาวมีคู่แฝดที่เป็น ด.ช.แกมมี่ด้วย จึงพาลูกสาวกลับบ้านที่รัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลีย ซึ่งตรงข้ามกับการเปิดเผยของ น.ส.ภัทรมนที่ระบุว่า ผู้เป็นพ่อที่มีอายุอยู่ในช่วง 50 ปี ได้มาดูแลลูกสาวถึงโรงพยาบาล แต่ไม่เคยมองหน้าหรืออุ้มแกมมี่ แม้เด็กทั้ง 2 คนนอนอยู่ใกล้กันและกำลังพิจารณาฟ้องร้องสามีภรรยาชาวออสเตรเลียด้วย

ด้านเว็บไซต์ข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ของ ออสเตรเลีย หรือ “9 news.com” รายงานเมื่อ 4 ส.ค. ว่า ชายชาวออสเตรเลียซึ่งเป็นบิดาของเด็กอุ้มบุญ “น้องแกมมี่” เคยมีประวัติอาชญากรรม โดยเคยถูกศาลออสเตรเลียตัดสินว่ามีความผิดและถูกสั่งจำคุกในปี 2541 ในข้อหากระทำลามกอนาจารต่อเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ซึ่งเว็บไซต์ 9 news.com ได้รับการยืนยันเรื่องดังกล่าวจากภรรยาของชายคนนี้ แต่เธอยังกล่าวว่าสามีเป็นคนดี แม้จะถูกศาลตัดสินจำคุกในคดีดังกล่าวก็ตาม

...

ส่วนนายแซม เอเวอร์ริ่งแฮม ประธานองค์กรส่งเสริมการอุ้มบุญของออสเตรเลีย เตือนประชาชนในออสเตรเลียที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการว่าจ้างแม่อุ้มบุญ ในต่างประเทศ ควรตระหนักถึงความเสี่ยงและต้องเตรียมพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อชีวิตทารกที่เกิดมา ด้วยวิธีการดังกล่าว พร้อมระบุว่าพ่อแม่ที่ต้องการมีบุตรควรใช้บริการจากบริษัทหรือตัวแทนจัดหาแม่อุ้มบุญ ที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบการทำงานได้ เพราะที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่มิจฉาชีพตั้งบริษัทอุ้มบุญบังหน้า เพื่อหลอกลวงเงินจากพ่อแม่ผู้ต้องการมีบุตร ทำให้มีผู้ล้มละลายหรือเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

นพ.ประมวล วีรุตมเสน จากภาคสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้สร้างผลงานเด็กหลอดแก้วรายแรกของประเทศไทย ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หนึ่งในคณะอนุกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยี ช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.... ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า รัฐบาลออสเตรเลียคงไม่ปล่อยปัญหาดังกล่าว ถือว่าสามีภรรยาคู่นั้นใจดำมาก โยนบาปให้กับหญิงที่อุ้มท้องและเด็กที่เกิดออกมา ปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญ ที่ไม่เฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ยิ่งเราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ ของไทยไม่ได้เป็นรองใคร ดังนั้น จึงอาจจะเป็นช่องทางให้มีการกระทำใดๆที่ผิดจริยธรรมเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ได้

นพ.ประมวลกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ทราบว่ามีการลักลอบอุ้มบุญทำกันเยอะ เพียงแต่ไม่มีหลักฐานชัดเจน มีการขึ้นเว็บไซต์ประกาศโฆษณาชวนเชื่อให้มาทำในเมืองไทย จนถูกมองว่าประเทศไทยเป็นแหล่งรับจ้างอุ้มบุญ จึงอยากจะให้เร่งผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยี ช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ....ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ อีกประเด็นสำคัญคือเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมในวิชาชีพ ที่ทุกวิชาชีพต้องคำนึงและปฏิบัติโดยเคร่งครัด แพทยสภาก็มีข้อบังคับที่กำหนดข้อห้ามกระทำการใดๆ เชิงพาณิชย์อยู่แล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจมีเหตุจูงใจ คือเรื่องของเงินที่เป็นตัวการให้ดำเนินการในสิ่งผิดๆ

...

ในส่วนแง่มุมด้านกฎหมายนั้น นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความกล่าวว่า จากปัญหาที่หญิงไทยไปรับจ้างอุ้มบุญให้ ชาวต่างประเทศแล้วมีปัญหา จะมีกฎหมายไทยฉบับไทย นำออกมาบังคับใช้เทียบเคียง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษา คุ้มครอง รับรอง บังคับตามสิทธิ์ หรือไม่นั้น บอกได้เลยว่ายังไม่มี แม้รัฐธรรมนูญในอดีตหลายฉบับ ในส่วนของสิทธิเสรีภาพ ก็ไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ แต่หากจะเทียบเคียงจริงๆ น่าจะเป็นเรื่องสัญญาจ้างทำของ ตามกฎหมายแพ่ง ที่ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเมื่องานสำเร็จ และเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น ปัจจุบันไม่สามารถนำหลักจ้างทำของมาใช้ได้เพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อย สัญญาต้องตกเป็นโมฆะ

นายกสภาทนายความกล่าวอีกว่า เมื่อสัญญาเป็นโมฆะ ก็ไม่ต้องพิจารณาเรื่องเด็กที่ออกมาแล้วเป็นดาวน์ซินโดรม หากคู่สัญญาอยากเขียนสัญญาว่า หากเด็กออกมาไม่สมบูรณ์ฝ่ายชายหรือผู้ว่าจ้างต้องรับเด็กไปเลี้ยง หากถามว่าแล้วใครเป็นบุพการีของเด็ก ถ้าตอบแบบไทยๆ กฎหมายแพ่งบอกว่าแม่ที่อุ้มท้องมา เป็นบุพการีโดยชอบ ส่วนฝ่ายชาย เป็นเพียงมอบสเปิร์มและไข่ ให้ฝังตัวในมดลูกของแม่เด็ก ไม่เคยอยู่กินหลับนอนตามปกติธรรมชาติ จะมาฟ้องขอรับเด็กเป็นบุตรไม่ได้ แต่ไปขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมได้ เมื่อเป็นบุตรบุญธรรมของฝ่ายชาย ก็มีสิทธิรับมรดกของฝ่ายชาย เพราะกฎหมายไทยให้ถือเสมือนว่า เป็นทายาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนเรื่องการขอรับสัญชาติบิดานั้น เมื่อจดทะเบียนบุตรบุญธรรมแล้ว หรืออยู่ระหว่างรอการรับรองบุตรบุญธรรมของกรมประชาสงเคราะห์ประมาณ 6 เดือน ฝ่ายชายไปขอวีซ่ารอได้เลย เมื่อได้เด็กเป็นบุตรโดยชอบแล้วก็พาออกไปประเทศที่สอง แล้วไปจดทะเบียนขอสัญชาติประเทศที่สองให้เด็ก

“ในอนาคตต้องไปแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะข้อความที่บัญญัติถึงความเป็นบิดา มารดา และบุตร อาจต้องแก้ไข บรรพ 5 ของกฎหมายแพ่ง เห็นว่าแก้ไขก็ดี เพราะปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มีมากขึ้น ในอนาคตก็อาจเป็นนิติกรรมสัญญาอย่างหนึ่ง ที่มีค่าตอบแทนก็ได้ ในสหรัฐฯ ยุโรปตอนเหนือ หรือประเทศที่ไม่เคร่งศาสนา เขารับรองเรื่องนี้กันหมดแล้ว” นายเดชอุดมกล่าว

นายกสภาทนายความกล่าวด้วยว่า เชื่อว่ามีหญิงไทยอีกหลายคนที่ตกอยู่ในสภาพอุ้มบุญแล้วไม่มีพ่อแม่เลี้ยง ดังนั้น หากใครที่ยังเก็บตัวอยู่และต้องการออกมาพิสูจน์สิทธิ ว่าสัญญาที่ทำไปแล้วมีผลทางกฎหมายหรือไม่ อยากรู้ว่าตนมีข้อผูกพันกับใครแค่ไหน มีสิทธิเรียกร้องอะไรบ้าง ให้มาที่สภาทนายความเพื่อยื่นฟ้องเรื่องนี้ให้เข้าสู่การพิจารณาชั้นศาลฎีกาให้เป็นบรรทัดฐานแก่วงการกฎหมายไทย