การระบาดของ เชื้อไวรัสอีโบลา ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เริ่มรายงานพบผู้ป่วยคนแรกๆ เมื่อเดือน ก.พ. ล่าสุดพบผู้ป่วยในประเทศกินี, ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน รวมถึงไนจีเรียแล้วกว่า 1,323 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้ว 729 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่องค์กรสาธารณสุขทั้งในและต่างประเทศ กำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อหาทางยับยั้งการระบาดของเชื้อมรณะตัวนี้ แม้ว่าตัวเองอาจจะติดเชื้อ หรือกระทั่งต้องเสียชีวิต

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน แพทย์จากประเทศยูกันดาเสียชีวิตจากการติดเชื้ออีโบลา หลังจากเดินทางเข้ามาเป็นอาสาสมัครรักษาผู้ป่วยในแอฟริกาตะวันตก จากนั้นก็มีข่าวเจ้าหน้าที่พยาบาลหลายสิบคนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดเชื้อ และต้องเสียชีวิตจากเจ้าไวรัสมรณะ แม้จะมีการป้องกันตัวเองด้วยอุปกรณ์และมาตรการต่างๆ เอาไว้แล้วก็ตาม

แต่ที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วภูมิภาค คือการเสียชีวิตของ ดร. ชีค อูมาร์ คาน หัวหน้าทีมแพทย์ต่อสู้กับไวรัสอีโบลาของประเทศเซียร์ราลีโอน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านโรคไข้เลือดออกเพียงไม่กี่คนในประเทศ โดย ดร.คาน เป็นหัวหน้าแผนกโรคไข้เลือดออก 'ลัสซา' ที่โรงพยาบาลคีนีมาของรัฐบาลเซียร์ราลีโอน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีอัตราผู้ป่วยโรคลัสซาสูงที่สุดในโลก

...

จะบอกว่า ดร.คาน เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสอีโบลามากที่สุดในเซียร์ราลีโอนก็ไม่ผิดนัก เนื่องจากอีโบลาเป็นเชื้อไวรัสก่อโรคไข้เลือดออกชนิดหนึ่งเหมือนกับไวรัสลัสซา และแม้เขาจะประจำอยู่ที่โรงพยาบาลในเมืองคีนีมา ดร.คาน ยังทำงานที่โรงพยาบาลคอนนอท ในกรุงฟรีทาวน์ เมืองหลวงของเซียร์ราลีโอน ที่ห่างออกไปทางตะวันตกถึง 300 กม. ด้วย ในฐานะที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ทำงานร่วมกับแพทย์อาวุโสในส่วนของการต่อสู้กับเชื้ออีโบลา

ในเดือน ม.ค. ปี 2014 ดร. คานเริ่มทำหน้าที่เป็นอาจารย์ฝึกสอนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเก่าที่เขาเคยศึกษา พร้อมกับปฏิบัติหน้าที่แพทย์ของโรงพยาบาลคีนีมาไปด้วย แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทในหน้าที่ของเขาอย่างแท้จริง

หลังจากไวรัสอีโบลาเริ่มระบาดรุนแรงขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย. ดร.คาน ต้องเดินทางไปยังคลินิกและโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อรักษาผู้ติดเชื้อและให้คำปรึกษาในด้านการรักษาแก่เจ้าหน้าที่การแพทย์ จนกระทั่งในเดือน ก.ค. ดร.คาน เริ่มมีอาการป่วย ซึ่งในเบื้องต้นเขาคิดว่าเป็นเพียงอาการไข้หวัดธรรมดา ก่อนที่ผลการตรวจจะบ่งชี้ว่า ดร.คานติดเชื้อไวรัสอีโบลาเสียแล้ว

จากนั้น ดร.คาน ก็ถูกนำตัวส่งศูนย์เยียวยาผู้ป่วยอีโบลา ในเมืองไคลาฮุน ซึ่งแพทย์จากองค์การแพทย์ไร้พรมแดน (เอ็มเอสเอฟ) พยายามอย่างเต็มที่ในการรักษา ดร.คาน และเริ่มมีความหวังว่าเขาจะหายจากโรค เมื่อรายงานการรักษาแสดงให้เห็นว่า สุขภาพของ ดร.คานเริ่มพัฒนาขึ้น อย่างไรก็ตาม วงการแพทย์เซียร์ราลีโอนต้องได้รับข่าวร้าย เมื่อ ดร.คาน เสียชีวิตในวันที่ 29 ก.ค. 1 สัปดาห์หลังจากเขาถูกวินิจฉัยว่า ติดเชื้ออีโบลา ขณะมีอายุเพียง 39 ปีเท่านั้น

ข่าวร้ายนี้สร้างความเสียใจระคนทำให้เกิดความวิตกไปทั่วประเทศ โดย ดร. โอลิเวอร์ จอห์นสัน ผู้อำนวยการโครงการของโรงพยาบาลคอนนอท ในกรุงฟรีทาวน์ และเป็นหนึ่งในเพื่อนร่วมงานของ ดร.คาน ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวบีบีซีว่า เรื่องนี้เป็นโศกนาฏกรรมของชาติโดยแท้ ดร.คานเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และเป็นที่เคารพอย่างสูงจากการปฏิบัติหน้าที่ในการเป็นผู้นำการต่อสู้กับโรคลัสซามาอย่างยาวนาน ก่อนจะกลายมาเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับเชื้ออีโบลา

ดร.จอห์นสัน กล่าวอีกว่า เมื่อตอนที่มีข่าวว่า ดร.คานป่วย ผมคิดเลยว่าเรื่องนี้จะสร้างความหวาดกลัวในหมู่แพทย์และเจ้าหน้าที่พยาบาล เรื่องการรักษาผู้ป่วยอีโบลาอย่างแน่นอน ทุกคนจะคิดว่า ถ้าแม้แต่ ดร.คานยังป่วย แสดงว่าพวกเขาก็อาจป่วยได้ด้วยเช่นกัน

ถึงกระนั้นการเสียชีวิตของ ดร.คาน ไม่ได้ทำให้เกิดความสิ้นหวังในหมู่แพทย์ของเซียร์ราลีโอน ดร.จอห์นสันกล่าวว่า เขาได้คุยกับแพทย์คนหนึ่ง และแพทย์รายนี้กล่าวด้วยความเคารพต่อการเสียสละของ ดร.คาน ว่า เขาจะยกระดับบทบาทของตัวเองในการต่อสู้กับอีโบลายิ่งขึ้น ซึ่ง ดร.จอห์นสันหวังว่า นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนของการต่อสู้กับเชื้ออีโบลาก็เป็นได้

ตอนนี้ แม้ ดร.คาน ผู้ได้รับการยกย่องจากรัฐบาลเซียร์ราลีโอนให้เป็น 'ฮีโร่' ของชาติจะจากไปแล้ว แต่ยังมีเหล่าแพทย์และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ที่ยอมเผชิญความเสี่ยง ต่อสู้กับเชื้อร้าย อีโบลา เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป ซึ่งพวกเขาทุกคนสมควรถูกเรียกว่าเป็น 'ฮีโร่' ผู้เสียสละเพื่อชาติเช่นกัน.

...