วิกฤติเชื้ออีโบลาระบาดในแอฟริกาตะวันตกน่าวิตก มีหมอและพยาบาลติดเชื้อมรณะจนเสียชีวิตมากขึ้น ขณะที่สายการบินASKY ระงับทุกเที่ยวบินทั้งขาเข้าและออกประเทศไลบีเรีย และเซียร์รา ลีโอนแล้ว หวังป้องกันการแพร่ระบาด

ความคืบหน้าการเฝ้าระวังไวรัสมรณะอีโบลาที่ระบาดระลอกใหม่ในแถบแอฟริกาตะวันตกมาตั้งแต่เดือน ก.พ. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 29 ก.ค.ว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯเผยว่านับแต่เดือน มี.ค. มีผู้ป่วยติดเชื้ออีโบลาแล้ว 1,201 คน และเสียชีวิต 672 คน ใน 3 ประเทศในแอฟริกาตะวันตก คือ กินี ไลบีเรียและเซียร์รา ลีโอน

รายงานข่าวล่าสุดระบุด้วยว่า นายแพทย์ อูมาร์ คาน หัวหน้าแพทย์ที่ดูแลศูนย์รักษาผู้ป่วยอีโบลาในเมืองคีนีมา นอกกรุงฟรีทาวน์ของเซียร์รา ลีโอน ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษที่สามารถช่วยผู้คนรอดชีวิตจากไวรัสมรณะได้หลายคน ได้เสียชีวิตแล้วเมื่อคืนวันเดียวกัน ดร.อูมาร์ คาน ถูกนำส่งศูนย์พยาบาลผู้ป่วยติดเชื้ออีโบลาขององค์กรการแพทย์ไร้พรมแดน (เอ็มเอสเอฟ) ในเซียร์ราฯเมื่อสัปดาห์ก่อน หลังติดไวรัสอีโบลาซึ่งยังมีพยาบาล 3 คน ที่ศูนย์ฯของ ดร.คาน เสียชีวิตด้วย

ส่วนชาวอเมริกันที่เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในไนจีเรียเมื่อสัปดาห์ก่อนจากเชื้อไวรัสอีโบลานั้น ฝ่ายภรรยาได้ออกมาเปิดเผยว่า สามีที่เสียชีวิตชื่อว่าแพตทริค ซอว์เยอร์ ทำงานให้กับรัฐบาลไลบีเรียมาตั้งแต่ปี 2551 ได้ล้มป่วยเมื่อ 20 ก.ค.ที่ประเทศ ไนจีเรีย หลังเดินทางจากไลบีเรียและเป็นเหยื่อเซ่น อีโบลาคนแรกในไนจีเรีย ขณะที่ชาวอเมริกันอีก 2 คน ที่ติดไวรัสอีโบลา

ขณะช่วยต่อสู้ไวรัสอีโบลาในไลบีเรีย คือ ดร.เคนท์ แบรนต์ลี และแนนซี ไรต์บอล ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเช่นเดียวกับอาซาเรีย มาร์ธีแมน แพทย์ชาวแคนาดาที่ทำงานร่วมกับ ดร.แบรนต์ลี แม้ไม่ติดไวรัสอีโบลาแต่สมัครใจยอมถูกกักกันเพื่อเฝ้าติดตามอาการ

...

ขณะที่สายการบิน ASKY ที่ให้บริการบินทั่วแอฟริกา ได้ระงับทุกเที่ยวบินทั้งขาเข้าและออกจากเมืองหลวงของไลบีเรียและเซียร์รา ลีโอน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลา หลังสายการบินอาริคของไนจีเรียได้หยุดเที่ยวบินตรงสู่ไลบีเรียและเซียร์ราฯมาแล้วเมื่อ 27 ก.ค. สอดคล้องกับสมาคมฟุตบอลของไลบีเรียที่ได้ระงับทุกกิจกรรมของสมาคมฯสืบเนื่องจากการระบาดของไวรัสอีโบลาด้วย

ด้านองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) แถลงว่าจนถึง ณ ตอนนี้ อีโบลายังไม่ได้กระทบถึงภาคการบินพลเรือน แต่พวกเราต้องหามาตรการป้องกันโดยเร็วและจะหารือองค์การอนามัยโลก (ฮู) หาแนวทางรับมือต่อไป ส่วนนายฟิลิป แฮมมอนด์ รมว.ต่างประเทศอังกฤษ ระบุว่า อีโบลาเป็นภัยคุกคามอังกฤษ แม้ยังไม่พบมีการระบาดก็ตาม

สำหรับผู้ติดไวรัสอีโบลาจะมีอาการต่างๆ รวมทั้งไข้สูง มีเลือดออกและทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือวิธีการรักษา แม้ผู้ป่วยเสี่ยงเสียชีวิตสูงถึง 90% แต่ถ้าตรวจพบเนิ่นๆสามารถรักษารอดชีวิตได้.