ภาพเปรียบเทียบ (A) ข้าวเหนียว กข 6 ขัดสีให้เล็กเรียวคล้าย ข้าวเหนียวเขี้ยวงู กับ (B) ข้าวเหนียวเขี้ยวงูของแท้

“ข้าวเหนียวเขี้ยวงู” ชื่อนี้คนไทยคุ้นกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะแม่ค้าขนมไทย แม่ค้าข้าวเหนียวมูน

เพราะเป็นข้าวเหนียวที่มีรูปร่างแหลมเล็กยาวสวย นำมาหุงนึ่งมูน หน้าตาก็ยังดูสวยงามน่ารับประทาน...เอาไปแช่ตู้เย็นนำออกมาอุ่นใหม่ รูปทรงองค์เอวก็ยังคงเดิม ไม่เหมือนข้าวเหนียวพันธุ์อื่น รูปทรงจะเปลี่ยนไปเป็นบวมอืดแอนด์แฉะ

แต่ไม่น่าเชื่อ ข้าวเหนียวมูนที่แม่ค้าเข้าใจว่าทำมาจากข้าวเหนียวเขี้ยวงู...จริงๆ แล้ว ไม่ใช่เลย

กรมการข้าว..กู้ชีพ ข้าวเหนียว"เขี้ยวงู"

ล้วนทำมาจากข้าวเหนียว กข 6 แต่ที่มีรูปร่าง หน้าตาเล็กแหลม เนื่องมาจากใช้เทคนิคการทำศัลยกรรมของโรงสีทำให้ดูเหมือนเขี้ยวงูเท่านั้นเอง... เพราะข้าวเหนียวเขี้ยวงูแท้ๆ เมืองไทยหาแทบไม่ได้

“ข้าวเหนียวเขี้ยวงูหายไปจากท้องนามานานหลายสิบปีแล้ว นับแต่มีการทำข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ กข 6 ออกมาในปี 2520 และรัฐบาลยุคนั้นมีนโยบาย ให้นำข้าวเหนียวพันธุ์เก่ามาแลกกับพันธุ์ กข 6 นับแต่นั้นมาข้าวเหนียวเขี้ยวงูก็ค่อยทยอยหายไป เพราะชาวนาหันไปปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตและรายได้สูงกว่า

...

แต่ที่ทุกวันนี้ยังมีข้าวเหนียวเขี้ยวงูขาย มาจากโรงสีนำข้าว กข 6 ไปสีหลายรอบ จากปกติสีแค่ครั้งเดียว เปลี่ยนมาขัดสี 3 รอบ ให้เมล็ดข้าวเล็กเรียวใกล้เคียงข้าวเหนียวเขี้ยวงูของแท้เท่านั้นเอง”

กรมการข้าว..กู้ชีพ ข้าวเหนียว"เขี้ยวงู"

นายปิยะพันธ์ ศรีคุ้ม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย กรมการข้าว บอกอีกว่า นับแต่นี้ต่อไป เมื่อฤดูข้าวนาปี 2558/59 ผ่านพ้น คนไทยจะมีข้าวเหนียวเขี้ยวงูพันธุ์แท้ออกสู่ตลาดให้ได้ชิมกันแล้ว...เพราะกรมการข้าวมีโครงการฟื้นชีพข้าวเหนียวเขี้ยวงูให้กลับคืนท้องนาไทยอีกครั้ง ที่ได้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2548

ถึงในท้องนาจะไม่มีพันธุ์ข้าวให้นำมาพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ก็ตาม แต่ในศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ มีเชื้อพันธุ์ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเก็บไว้...ศูนย์วิจัยข้าวเชียงรายจึงได้ขอเชื้อพันธุ์ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 28 สายพันธุ์ มาศึกษาและคัดเลือกเพื่อให้ได้พันธุ์บริสุทธิ์ 3 สายพันธุ์

แล้วนำไปให้เกษตรกรในเชียงรายได้ไปทดลองปลูก 5 แปลง เพื่อชาวนา จะได้มีส่วนประเมินความชอบและช่วยคัดเลือกพันธุ์...ตอนนี้ได้พันธุ์ดีที่สุดมาแล้ว พันธุ์ GS.No.8974

กรมการข้าว..กู้ชีพ ข้าวเหนียว"เขี้ยวงู"

และขณะนี้อยู่ในช่วงขยายพันธุ์ เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ชาวนาเฉพาะที่ เฉพาะถิ่นได้นำไปปลูกจำหน่าย เนื่องจากอธิบดีกรมการข้าว นายชาญพิทยา ฉิมพาลี ตั้งใจจะทำข้าวเหนียวเขี้ยวงูให้เป็นทั้งข้าว GI และข้าวตลาดเฉพาะ (Niche Market) ระดับเดียวกับข้าวลืมผัว ข้าวสังข์หยดพัทลุง

ไม่ใช่ส่งเสริมให้ปลูกกันแบบเหวี่ยงแหไปทั้งประเทศ แล้วชาวนาต้องมานั่งน้ำตาตกเพราะสินค้าล้นตลาด ราคาร่วง...ก็ตอนนี้ชาวนาที่ร่วมโครงการทดลองปลูก 5 แปลง สีเป็นข้าวสารขายได้ กก.ละ 120 บาท

หอมมะลิที่ว่าแน่...เทียบไม่ติดฝุ่น.

ชาติชาย ศิริพัฒน์