กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ไปแล้ว กรณีความขัดแย้งระหว่าง น้องก้อย รุ่งระวี ขุระสะ นักกีฬาเทควันโดออกมาเปิดเผยว่าถูกทำร้าย กับ โค้ชเช ยองซอก โค้ชเทควันโดทีมชาติไทย ที่กองเชียร์โค้ชเชหลายฝ่ายก็รุมถล่มมากมาย ลุกลามไปกลายเป็นกระแสความเกลียดชังของคนทั้ง 2 ฝ่าย ในขณะที่ดราม่าเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างมากมาย...
คำถามก็คือสังคมไทยต้องการให้ใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายไปข้างหนึ่งจริงๆ หรือ? หรือแท้ที่จริงแล้วนอกจากการด่าทอฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เรามามองเรื่องแบบนี้ร่วมกันหาทางแก้ไข?
เรื่องนี้ พิศณุ นิลกลัด นักพากย์กีฬา ผู้อาวุโสที่คร่ำหวอดในวงการกีฬาหลายสิบปีออกมาวิเคราะห์ประเด็นนี้ผ่านไทยรัฐออนไลน์ว่าความขัดแย้งครั้งนี้เกิดจากคนละวัฒนธรรม คนละยุค มันก็เลยเข้าใจยาก จริงๆ ที่ประเทศเกาหลี เรื่องลงโทษแบบนี้จิ๊บๆ คนพูดตลกๆ ว่า'นักกีฬาเกาหลีส่วนใหญ่หูตึงกันหมด เพราะว่าโดนบ้องหูประจำ'
"ตอนสมัยที่ผมเป็นนักข่าวพวกเราเห็นชัดๆ ในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในสระว่ายน้ำโค้ชเขาตบนักกีฬาแรงมาก ที่สำ คัญพ่อ แม่นักกีฬาก็อยู่บริเวณนั้น ยังยืนมองเฉย เพราะพวกเขายอมรับว่าความสำเร็จของลูกๆ มันอยู่ที่วินัย อยู่ที่ความเข้มแข็งของโค้ช แต่พอมายุคใหม่ กรณีนี้ยุคใหม่ เป็นยุคที่เราห่วงเรื่องสิทธิเสรีภาพสิทธิในความเหมาะความควร อยู่ที่ว่าเราจะมองแบบไหน จากสิทธิแบบที่ว่า หรือแบบโค้ชเชที่ใช้วัฒนธรรมแบบเกาหลี กรณีนี้ผมว่าคนเกาหลีเขาอ่านข่าวอาจจะหัวเราะด้วยซ้ำไป แต่เรื่องวัฒนธรรมต่างกันมันพูดยาก"
ผู้คร่ำหวอดในวงการกีฬาหลายสิบปี ย้ำว่า ในทุกการแข่งขันสิ่งที่สำคัญก็คือเรื่องสมาธิเพราะมันคือทุกอย่าง อย่างที่รู้จักผลงานของโค้ชมันอยู่ที่ผลการแข่งขัน ผลการแข่งขันมันอยู่ที่การฝึกซ้อม ดังนั้น การมีสมาธิ และการมีวินัยมันสำคัญกับนักกีฬามืออาชีพมากๆ
...
"ก่อนการแข่งขันผมว่ากรณีนี้ 2 ชั่วโมงคุณต้องมีสมาธิจะมาแบบฉุกละหุกไม่ได้ กอล์ฟก็เหมือนกันมาถึงสนามเหลือเวลาแค่ 3-5 นาทีแล้วให้ขึ้นตีทีออฟมันไม่ได้หรอก มันแย่ไป แล้วถ้าไม่มีสมาธิฉุกละหุกกัน พอถูกนำไป 2-3 แต้มเกมมันเปลี่ยนไปอย่างส้ินเชิง เปรียบเป็นฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล แมตช์ชิง 'อาร์เจนตินา' กับ 'เยอรมัน' ถ้า 2 ลูกนั้นได้ไป ที่อาร์เจนฯ ยิงเข้าไป หรือถ้าลูกนั้นไม่ล้ำหน้า ผลการแข่งขันแมตช์นี้มันอาจจะกลายเป็นคนละเพลงกันก็ได้ นี่ก็เหมือนถ้าถูกเตะนำแล้ว เราไม่มีสมาธิยังไงก็ไล่ไม่ทัน เพราะสมาธิในการออกสตาร์ตเราไม่ดี ถ้าพูดกรณีนี้ต้องมองด้วยความเป็นธรรมกับโค้ชด้วย หากเราจะกล่าวหาโค้ช ต้องดูผลงาน ดูสิ่งที่เขาปฏิบัติมา ผลงานไม่ใช่เหรียญทอง เงิน หรือเหรียญทองแดงโอลิมปิก ไม่ใช่ ผลงานที่ผมพูดก็คืองานที่เขาทำกับเด็กมาที่ผ่านมามีความมุ่งมั่นมีความจริงใจ ตั้งใจแค่ไหน อย่าไปมองเรื่องเหรียญรางวัล แต่ให้มองสิ่งที่เขาทำมา แน่นอนว่าการที่โค้ช ได้รับการเว้าวอนกับสมาคมฯ ครั้งแล้วครั้งเล่า ให้อยู่ให้ช่วย แสดงว่าเขาต้องมีราคา"
พิศณุแนะนำว่า ดังนั้น กรณีนี้จะตัดสินอะไรกันลงไป ต้องคุยกันก่อน ถ้าคุยกันด้วยความเข้าใจ ถ้าเด็กเข้าใจโค้ช แล้วก็โค้ชอาจจะหย่อนลงมา หย่อนให้เข้าใจวัฒนธรรมไทย เข้าใจเด็กรุ่นใหม่ ในยุคใหม่ซะหน่อย มันจะดีกว่าไม่เจอกัน แล้วขาดกันไปเลย
"ผมว่าเรื่องนี้ พูดกันตามความจริงทั้งพ่อ แม่ ทั้งเด็ก ถ้าคุยกันอย่างอารมณ์เย็นซะหน่อย มาชี้แจงมีนายกสมาคมฯ มีสมาคม มีพ่อแม่ คุยเปิดใจปัญหาทีละฝ่ายโดยมีสมาคมเป็นตัวกลางประสาน อย่าเพิ่งคุยกันทั้ง 3 ฝ่ายก่อน แยกคุยกันก่อนมันจะเย็นกว่านี้ หลังจากนั้นค่อยมาคุยกัน 3 ฝ่ายมันจะจบง่ายกว่าจะได้คุยด้วยความเข้าใจ เพราะว่าถ้าหากมานั่งพร้อมกัน โดยไม่ได้คุยทำความเข้าใจกันละกันและมีคนกลางมันจะไม่จบ และจบจะไม่สวย สิ่งที่เกิดขึ้นผมมองว่าเด็กรุ่นใหม่เขาเติบโตมาแบบยุคสิทธิเสรีภาพเต็มที่ อาจจะไม่ได้ข่าว ไม่เคยเห็นการที่โค้ชทุบตีเอาบ้าง เจอแล้วอาจจะตกใจ แต่ไม่ได้ดูวัตถุประสงค์ ดูพฤติกรรม ดูความมุ่งมั่นมุ่งหมายของโค้ช ซึ่งหากกรณีนี้เปิดใจดูการทำงานของโค้ชเชก็จะเข้าใจ ซึ่งถ้าไปสัมภาษณ์นักกีฬาเก่าๆ อย่างวิว เยาวภา บุรพลชัย ที่เคยทำงานกับโค้ชมาแล้ว หรือถามนักกีฬาเก่าๆ เป็นอย่างไร บางทีเราต้องชั่งน้ำหนักกัน ดูในสิ่งที่เขาทำมา ไม่ได้ดูแค่ ณ ปัจจุบัน"
เมื่อถามว่าในต่างประเทศมีการลงโทษนักกีฬากันหนักๆ กันบ้างไหม นักพากย์กีฬาคนสำคัญของเมืองไทยบอกว่า ถ้าเป็นเกาหลีเรื่องการลงโทษแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าหากเป็นอเมริกา อังกฤษ หรือยุโรปก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่ามันโตมาคนละอย่าง วัฒนธรรมคนละอย่าง เวลาตัดสินเราต้องเข้าใจวัฒนธรรมของทุกฝ่ายด้วย
"มันอยู่ที่ว่าข่าวมันออกมาข้างนอกไหม อย่างกรณี เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน (อดีตผู้จัดการทีมแมนยูฯ) เตะสตั๊ดใส่ เดวิด เบคแคม (อดีตกองกลางซูเปอร์สตาร์ทีมแมนยูฯ) ข่าวมันออกมาข้างนอกเยอะ ซึ่งก็เหมือนกับเรื่องภายในครอบครัว ซึ่งสิ่งที่ท่านเซอร์ทำให้กับนักฟุตบอลมา หรือทำให้สโมสร ถามไปถามนักเตะอย่าง ไรอัน กิกส์ หรือ พอล สโคลส์ ท่านเซอร์ก็เหมือนพ่อเขาอีกคนหนึ่ง เซอร์ก็บอกแบคแคมว่า เฮ้ย...อยู่ในทีมมันต้องมีวินัย คุณจะเป็นดาราไม่ได้ ถ้าผมปล่อยให้ทีมมีดาราหนัง ดาราแฟชั่น ในทีมฟุตบอลผมจะปกป้องอย่างไร อยู่ในทีมมันต้องเหมือนกันหมด ไม่ใช่พอคุณมีแฟนคุณก็เปลี่ยนไป แล้วจะให้ผมมาตามคุณแล้วยกขึ้นเป็นกรณีพิเศษ มันไม่ได้ โค้ชที่เป็นยอดมนุษย์เขาไม่ยอมนักเตะ หรือนักกีฬาหรอก เขายึดระเบียบวินัย ยึดทีมเป็นหลัก"
ผู้อาวุโสที่คร่ำหวอดในวงการกีฬาฝากไปยัง 2 ฝ่ายว่า ในฐานะคนที่มีประสบการณ์ตนอยากให้น้องก้อยคุยกับครอบครัว คุยกับสมาคม คิดให้ได้เชื่อว่าต้องคุยกับโค้ชในที่สุด
"สำหรับโค้ชเช ตอนนี้ผมเชื่อว่ายังอยู่ในช่วงตกใจอยู่ คงคิดว่าทำในดีกรีที่อ่อน ลงโทษเบาแล้ว ในมาตรฐานประเทศที่ตัวเองเกิดมาเห็นโค้ชที่เป็นเกาหลีก็ทำแบบนี้ พอมาอยู่เมืองไทยลงโทษไปเบาเมื่อนักกีฬาไม่พร้อมก็โดนดีแล้ว ในแง่การแข่งขัน ในแง่ของนักกีฬาในแง่ของวินัยผมว่า ไม่มีสมาธิ ไม่พร้อม ไม่เตรียมตัวแบบนี้มันเสียหายมากนะ อย่างที่ผมบอกเด็กสมัยนี้กล้าแสดงออก กล้าพูด และเราอยู่ในยุคที่ทุกคนก็เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ อยากมีความเป็นคิดอิสระ ซึ่งในความเป็นจริง บางอย่างก็คิดเอาแต่ได้ ฉันทำได้ คิดอิสระได้เต็มที่นะ ไม่มีใครห้าม แต่คุณต้องมีวินัยด้วย ไม่ใช่ว่าวินัยหย่อนยาน จะมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพมันไม่ถูก ต้องมีวินัยด้วย ไม่ใช่ว่าจะถึงเวลาจะแข่งขันแล้วไม่พร้อมผมว่าอันนี้ไม่แฟร์กับโค้ช ไม่แฟร์สมาคม พูดให้แรงๆ ผมว่ามันไม่แฟร์กับประเทศไทยด้วย เพราะคุณไปในนามประเทศไทย เขาก็จะพูดได้ว่าโอ้โห...นักกีฬาไทยอะไรวะ ถึงเวลาเรียกแข่งขันแล้วก็ยังไม่มา ภาพลักษณ์คนไทยเลย"
...
เมื่อถามว่ามองอย่างไร กรณีที่มีผู้ใหญ่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า กรณีนี้น้องก้อยจะเป็นนักกีฬาจากประเทศไทยคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่คนไทยไม่เชียร์ แรงไปไหม?
"ผมมองว่า ภาษาเหมือนแรง แต่เขาคงเห็นงานของโค้ชเช เห็นความมุ่งมั่นของโค้ชเชมา ผมว่าเขากล้าที่จะยืนยันว่า สิ่งที่โค้ชทำกับสิ่งที่เด็กเราปฏิบัติน้ำหนักมันสู้กันไม่ได้เพราะเขาคงได้ดูโค้ชมานานแล้ว เราก็ต้องถือว่าสิ่งที่โค้ชทำมา ไม่ว่าเป็น ซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ โอลิมปิกเกมส์ มันเห็นหน้าเห็นหลัง นอกจากมวยสากกสมัครเล่นไปทีไรก็เป็นความหวังทุกครั้ง ไม่กลัวแม้กระทั่งต้นตำรับ อย่างที่ผมบอกเรื่องนี้มันไม่ได้ร้ายแรง เพราะเชื่อว่าถ้าหากวันเวลาผ่านไป วันนี้พรุ่งนี้ทุกอย่างมันก็จะเย็นลงๆ อยากให้ครอบครัวและน้องก้อย คิดให้รอบด้านมากขึ้น คิดอย่างเข้าใจมากขึ้น แล้วหันหน้ามาคุยกัน ถามว่ามันมีข้อดีไหมในกรณีนี้ ผมมองไม่เห็นข้อดี เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิด 'หากว่าผลเกิดจากเหตุ' ถ้านักกีฬาของเราไม่มาสาย โค้ชก็คงไม่โมโห ถ้าจะมีข้อดีก็เป็นการเตือนโค้ชเกาหลีว่าระเบียบวินัยไทยๆ เป็นอย่างไร" นักพากย์ชื่อดังกล่าวในที่สุด