เงื่อนปัญหาระบบบริการสุขภาพคนไทยระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูจะบานปลายกลายเป็นประเด็นร้อน
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดมุมมองกับ “สกู๊ปหน้า 1” ว่า ถ้าไม่มี สปสช. การที่คนไข้จะได้รับบริการโดยไม่ต้องจ่ายเงินในสถานที่รับบริการก็หมดสิ้นเลย มันไม่มีที่พึ่งสำหรับคนยากคนจนอีกเลย นั่นคือผลที่จะเกิดขึ้น
“ประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ ที่ใช้บริการอยู่จะไปรับบริการที่ไหน? ผู้ซื้อบริการ...ผู้ให้บริการ...ระบบประเทศที่ทำเตรียม เอาไว้แล้ว ตอนแรกเริ่ม...เอาเงินไปวางไว้ให้ที่หนึ่ง แล้วที่นั้นจะเอาเงินไปใช้ทำอะไรก็ได้ แต่หมายความว่าส่วนหนึ่งเอาไปซื้อยาให้คนไข้ ให้บริการคนไข้ แต่ตรงนั้นไม่สามารถที่จะตรวจเช็กกันได้ว่า การให้บริการเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือเปล่า”
อาจจะเอาไปซื้อรถก็ได้?...ไปทำอย่างอื่น ที่ไม่ใช่เพื่อคนไข้โดยตรงก็ได้ เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องแยกเงินที่ใช้สำหรับการให้บริการผู้ป่วยกับเงินที่ใช้สำหรับการซื้อรถ สร้างตึก ซื้อเครื่องมือ ต้องแยกกันให้ชัด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับผลประโยชน์ของประชาชนผู้รับบริการ
ย้อนอดีตนับตั้งแต่ราวๆปี 2504 อาจารย์รุ่นเก่าๆของเราเตรียมวางระบบกันมานาน...กระจายสถานีอนามัยลงไปเต็มพื้นที่ โรงพยาบาลชุมชนก็กระจายเต็มทุกอำเภอ เพื่อเตรียมการให้บริการสุขภาพดีถ้วนหน้า ซึ่งไม่ใช่คนในกระทรวงฯ สมัยนี้ที่ทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา
“เพียงแต่ว่าตอนที่เงินไปลงที่กระทรวงฯ ได้งบประมาณไม่พอ คนไข้ก็ต้องเสียเงิน แล้วต่อมารัฐบาลหม่อมคึกฤทธิ์เห็นความทุกข์ของคนยากจนก็ทำบัตรผู้มีรายได้น้อยให้ ใช้บริการฟรีแต่ก็ถูกเหยียดหยามในความรู้สึก อาจไม่ได้ดูถูกออกมาชัดเจน แต่ในความรู้สึกลองนึกดูว่าเรายื่นบัตรผู้มีรายได้น้อยไป ความเป็นมนุษย์ลดค่าลงไป แล้วบางครั้งบางคราวถ้าเจ้าหน้าที่ไม่มีมารยาท ไม่มีจิตที่เป็นอาสาก็จะพูดจาดูถูกเหยียดหยาม”
...
หรือไม่อย่างนั้น “คนไม่จนไม่มีบัตร” แต่เป็น “คนที่ใกล้จะจน” หรือ “คนชั้นกลาง” อย่างเราๆถ้าเป็นโรคไตวาย...ตับอักเสบ โรคมะเร็ง โรคสมอง โรคหัวใจ ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมารักษา เคยมีคนเห็นไหมปีๆหนึ่งสมัยที่ยังไม่มี สปสช. ไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบครัวล้มละลายด้วยโรคร้ายๆเหล่านี้ไปเท่าไหร่
“ลูกหลานต้องออกจากโรงเรียน บางที...ลูกสาวต้องไปขายตัวเพื่อรักษาพ่อแม่ก็ยังมี แต่ตรงนั้นคนรุ่นนี้อาจจะมองไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านั้น เพราะมาทำงานในยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างสบายแล้ว แล้วคุณค่าในสิ่งที่คนรุ่นเก่าช่วยกันสร้างมาก็ไม่ได้รับการยกย่อง เชิดชูที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น…”
สิ่งที่ทำมาแล้วทุกอย่างยอมรับว่าไม่มีอะไรที่จะอยู่กับที่ ไม่มีอะไรที่ต้องเหมือนเดิมทุกอย่างจะต้องปรับต้องเปลี่ยนตามเวลาที่เปลี่ยนไปให้เหมาะสม แต่ต้องช่วยกัน ไม่ว่ากระทรวงสาธารณสุข สปสช.
“คน สปสช.ก็คือคนที่ออกไปจากกระทรวงสาธารณสุขนั่นแหละ
ไม่ได้เป็นมนุษย์มาจากต่างด้าวที่ไหนหรอก” นายแพทย์มงคล ว่า “แล้ว สปสช.คนที่ทำให้เกิดก็คือคนกระทรวงสาธารณสุข แล้วการที่จะมาเอาตัวเงินมาเป็นกำแพงขวางกั้นในการพูดจา พวกนี้จิตใจไม่ดีพอ ถ้ายังยึดอยู่อย่างนี้ ยึดมั่นในกิเลส ในตัณหาอยู่อย่างนี้ ไม่สมควรที่จะเรียกว่าเจ้าหน้าที่ สาธารณสุข...ไม่มีโอกาสเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สมบูรณ์แบบเลย”
นี่คือสิ่งที่รู้สึกเจ็บปวดในหัวใจเมื่อได้เห็นการส่งข้อมูลปลุกปั่นผ่านโซเชียลมีเดียในช่องทางต่างๆ แล้วก็มีการไปประชุมต่างจังหวัดเพื่อที่จะไม่ให้ความร่วมมือกับ สปสช. หรืออะไรต่างๆ
“ปัญหามีอยู่ก็แก้กันไป เอาประชาชนเป็นตัวตั้งไว้ก่อน แล้วจะมาเถียงกันทะเลาะกันก็ทำกันไปถ้าประชาชนไม่เดือดร้อน...ปัญหาไม่ยากที่จะแก้คนที่มีปัญญาถ้าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ใจที่เป็นกุศลอะไรต่างๆก็แก้ได้...สมัยก่อนปัญหาเกิดไม่ร้ายแรงอย่างนี้หรือร้ายแรงกว่านี้ก็เหมือนๆกันกับสมัยนี้นั่นแหละ แต่คนสมัยก่อนใจไม่เป็นอกุศลอย่างที่คนสมัยนี้เป็นอยู่ พูดภาษามนุษย์กันรู้เรื่อง แล้วก็แก้ปัญหากันได้ ปัญหาถึงไม่เรื้อรัง”
ประเด็นจี้หัวใจ...คน สปสช. ก็กว่า 90 เปอร์เซ็นต์มาจากกระทรวงสาธารณสุข แล้วทำไมถึงพูดภาษาเดียวกันไม่ได้ มีะไร...ยศ...ตำแหน่ง...หน้าที่ผลประโยชน์ ที่ได้รับเป็นสิ่งที่ยั่งยืนตลอดไปหรือ อีกหน่อยต่างคนต่างก็ตายกันแล้วจะเอาอะไรกันมากมาย ทำไมถึงไม่ทำสิ่งที่ดีงามให้ปรากฏอยู่กับแผ่นดินให้กับลูกกับหลาน
“รุ่นเก่าทำเอาไว้แล้ว ทำไปแล้วตายไปแล้วเยอะแยะ สร้างประโยชน์ให้ลูกหลานสมัยนี้ใช่ไหม ถ้าวันนี้เราไม่ได้มีสถานบริการสุขภาพทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะมีเงินเท่าไหร่จะบอกว่าจะให้การประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีสถานบริการ ไม่มีเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าหมอ พยาบาล...”
ประเทศไทยผลักดันมาตลอด ตั้งแต่ไปคัดเลือกลูกสาวชาวบ้านมา ให้มาเรียนผดุงครรภ์แล้วต่อมาก็ให้ทุนเรียนหมอ พยาบาล...สมัยนายแพทย์มงคลเป็นรัฐมนตรีฯ เจ้ากระทรวง ในปี 2549 พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีพยาบาลเพียงพอ ก็มีนโยบายผลิตพยาบาลเพิ่มในปีเดียว 3,000 คน
“สิ่งที่ทำ...ทำให้กับใคร ไม่ได้ทำให้กับกระทรวงสาธารณสุข หรือทำให้กับ สปสช. แต่ทำสิ่งเหล่านี้ให้กับประชาชน แต่คนเหล่านั้นมาอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข แล้วบอกว่าอย่าไปร่วมมือกับ สปสช.”
แสดงว่า บุคลากรที่สร้างเอาไว้เพื่อที่จะทำงานให้กับประชาชน กระทรวงฯ บอกว่าอย่าไปร่วมมือในการให้บริการใช่ไหม? จะด้วยเหตุผล อะไรก็ตาม...ผลที่ออกมาเป็นอย่างนั้น
“ความโง่ที่ทำลงไปนึกว่าเป็นการทะเลาะกันระหว่าง 2 หน่วยงาน... ที่จริงแล้วในทั้งหมดนี้ เอาประชาชน...ผู้เดือดร้อนเป็นประกัน สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องปกติ...เป็นกิเลสที่หนามาก”
คำถามมีว่าหาก สปสช.สั่นคลอน ใครจะได้ประโยชน์? นายแพทย์มงคล ตอบสั้นๆทิ้งท้ายว่า “ผมไม่คิดว่าใครจะได้ประโยชน์ ไม่มีใครได้...มีแต่คนเสียประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนเสียประโยชน์”
สมพร ใช้บางยาง อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย หนึ่งในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ ชุดที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน เสริมว่า ระบบหลักประกันสุขภาพกระจายการรักษาไปสู่คนฐานล่างจริงๆ เรื่องพื้นฐานหลักประกันสุขภาพก็เป็นหน้าที่ของท้องถิ่นที่ต้องทำอยู่แล้ว
“ตามกฎหมายกระจายอำนาจก็ให้มีการถ่ายโอนสถานีอนามัย เป็นวัตถุประสงค์ของการกระจายอำนาจเพื่อให้ประชาชนดูแลกันเองอยู่แล้ว เพราะภาครัฐเองก็ดูแลไม่ทั่วถึง โดยหลักทั่วไปถ้าเราเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง เอาประชาชนเป็นเป้าหมาย คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี”
“การปฏิรูปประเทศไทย”...จำเป็นต้องปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไปพร้อมๆกัน เรื่องอะไรเป็นเรื่องของท้องถิ่นก็ควรให้ท้องถิ่นดูแล ชาวบ้านเขาก็ดูแลกันเองได้ เพียงแต่รัฐก็ไปสนับสนุน ส่งเสริม...ไม่ใช่เอามารวมศูนย์ ไม่ใช่รวมอำนาจบริหาร...ไม่สามารถจะกระจายไปทั่วถึงพี่น้องประชาชนที่อยู่ทั่วทุกแห่งได้
ถึงวันนี้ความร่วมมือระหว่าง สปสช.กับ อปท. ผ่านมาเกือบ 10 ปีแล้ว สมพร บอกว่า พัฒนาไปเยอะมาก...ไม่ใช่แค่การรักษาอย่างเดียว ท้องถิ่นเข้าใจให้ความสำคัญ หลายแห่งก็ทำได้เป็นอย่างดี อยู่ที่รัฐจะต้องสนับสนุนส่งเสริม ไม่ใช่ดึงกลับมา...แล้วก็กลับเป็นเหมือนเดิมเหมือนเก่าอีก คงไม่ใช่
“การปฏิรูป” ต้องกระจายอำนาจจะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐ เพียงแต่อยู่ที่วิธีการบริหารจัดการ การกำหนดบทบาทหน้าที่ให้ชัด แล้วรัฐต้องทำหน้าที่ในการสนับสนุนส่งเสริมอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นผู้ใช้อำนาจอยู่เช่นทุกวันนี้...ปล่อยให้เป็นภาระประชาชนอย่างเดียว แล้วก็บอกว่าเขาทำไม่ได้.