เผยคนไทยป่วยเป็น "โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรควิถีชีวิต" ประมาณ 14 ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวปีละเกือบ 300,000 คน สาเหตุของโรคส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม กรมควบคุมโรคจัดกิจกรรมรณรงค์เน้นลดปัจจัยเสี่ยง 4 ตัว คือ อ้วน บุหรี่ เหล้า และไม่ออกกำลังกาย...
นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า คนไทยป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรควิถีชีวิต ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง ประมาณ 14 ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวปีละเกือบ 300,000 คน สถานการณ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐต้องเสียงบประมาณในการรักษาผู้ป่วย 5 โรคดังกล่าว ถึงปีละ 335,359 ล้านบาท ถือเป็นปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะด้านคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ ทำให้ประชากรเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เกิดการสูญเสียศักยภาพในการประกอบอาชีพ และผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยและโรคแทรกซ้อน นอกจากจะเพิ่มภาระของคนในครอบครัวแล้ว ยังสร้างภาระแก่สังคมโดยรวม
สาเหตุของโรคส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น การรับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม รับประทานผักและผลไม้น้อย ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จากพฤติกรรมดังกล่าว ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แม้ว่าประชาชนส่วนมากทราบถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค แต่ขาดความตระหนักและตื่นตัวที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จากการสำรวจคนไทยทั่วประเทศ พบว่า ประเทศไทยมีผู้ที่มีรูปร่างท้วมจนถึงระดับอ้วน มากกว่า 17 ล้านคน เด็กและผู้ใหญ่อ้วนเพิ่มขึ้นปีละ 4 ล้านคน ซึ่งในทวีปเอเชียแปซิฟิก ทั้งหมด 42 ประเทศ ประเทศไทยมีผู้ที่มีรูปร่างท้วมจนถึงระดับอ้วน เป็นอันดับที่ 5 ขณะเดียวกันมีคนไทยเสียชีวิต จากโรคอ้วน ปีละประมาณ 20,000 คน ขณะที่เมื่อสำรวจปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง พบว่า คนไทยมีพฤติกรรม การสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ. 2554 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ผู้สูบบุหรี่ 11.5 ล้านคน ผู้ชายสูบมากกว่าผู้หญิง 20 เท่า สำหรับการดื่มสุรา พบว่า คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับที่ 40 ของโลก โดยเฉพาะเหล้ากลั่นดื่มมากเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยมีปริมาณ 13.59 ลิตร/คน/ปี ผู้ชายมีอัตราการดื่มสูงกว่าผู้หญิงประมาณ 5 เท่า และจากการสำรวจกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกาย พ.ศ.2553 โดยการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างอายุตั้งแต่ 15 ถึง 74 ปี จำนวน 47.7 ล้านคน พบว่าร้อยละ 65.7 ออกกำลังกายไม่เพียงพอ โดยชายออกกำลังกาย ไม่เพียงพอร้อยละ 60.7 และหญิงออกกำลังกายไม่เพียงพอ ร้อยละ 70.4 และ 10.3 ล้านคน (ร้อยละ 17.6) เป็นต้น
...
ด้าน นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค มอบหมายให้สำนักโรคไม่ติดต่อ จัดกิจกรรม โครงการรณรงค์ "เข้าพรรษา ลดเสี่ยง (อ้วน สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ไม่ออกกำลังกาย) สร้างบุญ" ปี 2557 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อรณรงค์และประชาสัมพันธ์ กระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุนให้หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ได้แก่ หน่วยงานราชการ สถานประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรค เห็นความสำคัญของการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเน้นให้บุคลากรในองค์กรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้ถูกต้องเหมาะสมเป็นต้นแบบที่ดีด้านสุขภาพ ผู้ร่วมกิจกรรมวันนี้มีจำนวน 200 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารกรมควบคุมโรค ผู้อำนวยการสำนักในส่วนกลาง และบุคลากรจากหน่วยงานในสังกัดของกรมควบคุมโรค
รูปแบบการจัดงาน ประกอบด้วย วิชาการบนเวที เช่น การถอดบทเรียนบุคคลต้นแบบลดโรค NCDs ชวนคนควบคุมโรค ออกกำลังกาย...ห่างไกลโรค NCDs และธรรมะเข้าพรรษา ลดเสี่ยง สร้างบุญ เป็นต้น รวมทั้งมีการจัดบูธนิทรรศการ 6 บูธ ประกอบด้วย 1. บูธคัดกรองโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด 2. บูธเกี่ยวกับบุหรี่ 3. บูธเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ 4. บูธประเมินความเครียด 5. บูธอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และ 6. บูธตรวจวัดระดับไขมันในร่างกาย เป็นต้น ซึ่งโครงการรณรงค์ “เข้าพรรษา ลดเสี่ยง สร้างบุญ” ปี 2557 นี้ จะทำให้บุคลากรในหน่วยงานของกรมควบคุมโรค เกิดความตระหนัก ตื่นตัว หันมาใส่ใจสุขภาพ โดยเน้นลดปัจจัยเสี่ยง 4 ตัว คือ อ้วน บุหรี่ เหล้า และ ไม่ออกกำลังกาย เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีด้านสุขภาพให้กับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามข้อมูลได้ที่ สำนักโรคไม่ติดต่อ โทรศัพท์ 02-590-3987 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422" นายแพทย์นพพร กล่าว