ระหว่างหยุดพักรอการแข่งขันรอบรองชนะเลิศ ผมไปเดินเล่นที่ชายหาดอิปา เนมา ในริโอ เด จาเนโร เวลาไปสนามมาราคานา ผมต้องผ่านเส้นทางเลียบทะเลทุกครั้ง วันอาทิตย์ที่ผ่านมาเห็นผู้คนมาพักผ่อนทำกิจกรรมชายหาดแล้วตกใจ มากันล้นหลามเต็มพื้นที่ในวันหยุด
กิจกรรมมีหลากหลาย นอกจากเล่นน้ำทะเล อาบแดดแล้ว ยังมีการเล่นกีฬาชนิดต่างๆตามที่ผมเคยเล่าไป เช่น เซิร์ฟบอร์ด, วอลเลย์บอลชายหาด, ฟุตวอลเลย์, ฟุตบอลชายหาด, และเฟรสโกบอล (ใช้ไม้ตีลูกยาง คล้ายไม้ปิงปองแต่ใหญ่กว่า)
ถัดจากชายหาดขึ้นมาบนถนน มีเลนพิเศษสำหรับคนปั่นจักรยาน เล่นสเกต และสเกตบอร์ด ใครชอบวิ่งก็ไปตามเลนนี้ได้ เป็นการจัดพื้นที่ออกกำลังกายที่สวยงาม สะดวกสบาย พื้นราดยางราบเรียบ เป็นสวรรค์ของนักปั่น และพวกเล่นสเกตอย่างแท้จริง เห็นแล้วก็อยากให้ผู้ที่ดูแลชายหาดบ้านเราทำถนนเลนเล็กๆแบบนี้
เพื่อนักเล่นกีฬาล้อหมุนทุกประเภทบ้าง ที่ริโอเดจาเนโร คุณสามารถแล่นไปตามล้อตามเส้นทางยาวเหยียดหลายกิโลเมตรเลียบชายหาดอันสวยงามไปได้ต่อเนื่องแทบทุกหาด นักท่องเที่ยวสามารถเช่าจักรยานสาธารณะขี่เล่นได้
ทางการจัดเจ้าหน้าที่การ์ดดูแลความปลอดภัย และพนักงานเก็บขยะไว้พร้อม ชายหาดจึงขาวสะอาดอยู่ตลอดเวลา สุดยอดทุกอย่าง เสียอย่างเดียว ค่าครองชีพแพงระดับน้องๆยุโรป นักท่องเที่ยวต่างชาติถ้าอยากเที่ยวแบบประหยัด มาเมืองไทยดีกว่า มีทะเลสวยงามมากมายเช่นกัน แต่ค่าใช้จ่ายถูกกว่ากันหลายเท่า
บ้านเราร้านขายของกินมีให้เลือกเยอะ บริการก็รวดเร็วกว่า งานบริการที่บราซิลพนักงานเชื่องช้า ไม่กระฉับกระเฉง ต้องรอคิวชนิดที่ผมคิดว่า ถ้าเป็นร้านในเมืองไทย อยู่ยาก หากปล่อยให้ลูกค้ารอนานขนาดนี้ กระทั่งร้านเบอร์เกอร์ฟาสต์ฟู้ด ร้านกาแฟระดับโลก ความรวดเร็วในการออกอาหาร เครื่องดื่ม สู้บ้านเราไม่ได้เลย
...
ที่นี่คิดเงินไปคุยไป ร้านกาแฟชงกาแฟเนิบๆ ร้านเบอร์เกอร์ค่อยๆเดินไปหยิบเบอร์เกอร์ที่ทำเสร็จแล้วกองพะเนินมาเสิร์ฟลูกค้า งานที่ควรใช้คน 2 คนช่วยกัน ก็มีแค่คนเดียว แถมคนซื้อของไม่กี่บาท ใช้บัตรเครดิต ยิ่งทำให้เสียเวลามากขึ้นไปอีก ผมไปรอนานๆแล้วเสียอารมณ์ คิดในใจว่า ถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการจะส่งผู้จัดการร้านและพนักงานไปดูงานที่เมืองไทย
เดินตามท้องถนนในบราซิล เราจะพบเห็นคนบราซิลเชื้อสายเอเชียอยู่เป็นระยะ เป็นพวกอาตี๋ อาหมวย แต่พูดภาษาโปรตุกีสปร๋อ ส่วนใหญ่มีบรรพบุรุษมาจากญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นอพยพมาอยู่ในอเมริกาใต้กันมาก ที่เปรูยังเคยมีประธานาธิบดีเชื้อสายญี่ปุ่นชื่ออัลแบร์โต ฟูจิโมริ ในบราซิลก็เช่นกัน
ก่อนปี ค.ศ.1500 มีคนท้องถิ่นบราซิลอาศัยอยู่ในประเทศราว 2.4 ล้านคน ก่อนที่โปรตุเกสจะเข้ามา หลังจากนั้นก็มีการนำทาสจากแอฟริกาเข้ามาด้วย ผู้อพยพส่วนใหญ่จึงมาจากแอฟริกา รองลงมาคือ โปรตุเกส, อิตาลี, สเปน และญี่ปุ่นมีจำนวนมากเป็นอันดับ 5 ระหว่างปี 1908-68 มีชาวอาทิตย์อุทัยเข้ามาในบราซิลกว่า 300,000 คน มีลูกหลานจนกลายเป็นชาวแซมบ้าไปหมดแล้ว จากการสำรวจเมื่อปี 2000 มีประชากรเชื้อสายญี่ปุ่นในบราซิลราว 1.4-1.5 ล้านคน เป็นชุมชนคนญี่ปุ่นนอกประเทศที่ใหญ่ที่สุด ส่วนใหญ่ปักหลักในรัฐเซา เปาโล และปารันยา ทีมบอลญี่ปุ่นมาเตะบอลโลกครั้งนี้ไม่มีเหงา กองเชียร์เพียบ
ในอดีตบราซิลผลิตกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ใช้แรงงานทาสจากแอฟริกา แต่เกิดการขาดแคลนแรงงาน จึงมีนโยบายสนับสนุนให้คนจากยุโรปอพยพเข้ามา โดยเฉพาะชาวอิตาเลียน แต่มาแล้วก็ผิดหวังเพราะสภาพการทำงาน และรายได้ ไม่ต่างจากแรงงานแอฟริกัน จึงย้ายมาน้อยลง คนกลุ่มต่อมาที่อพยพหนีความอดอยากในประเทศมาตายดาบหน้าก็คือ ญี่ปุ่น ถึงขนาดมีโปสเตอร์โฆษณาชักชวนกันมาหาอนาคตใหม่ในบราซิลเลยทีเดียว
ผมไปเจออาสาสมัครบอลโลกคนหนึ่งในมีเดีย เซ็นเตอร์ ที่สนามอารีนา เดอ เซา เปาโล เธอชื่อ ซาบรินา คาร์ลา เต็งกวน (Sabrina Carla Tenguan) ผมเห็นชื่อท้ายของเธอ นึกว่าเป็นคนเชื้อสายจีน แต่เธอบอกว่า บรรพบุรุษมาจากญี่ปุ่น ชื่อท้ายที่ดูเพี้ยนไปจากชื่อญี่ปุ่นก็เพราะเมื่อบรรพบุรุษเดินทางมาถึงบราซิล เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่คุ้นกับสำเนียงภาษา ก็เลยบันทึกชื่อออกมาเป็น “เต็งกวน”
กรณีแบบนี้ผมเจอกับครอบครัวตัวเอง พ่อแม่อพยพมาจากจีน เวลาบันทึกชื่อกับทางอำเภอในฐานะคนต่างด้าว เจ้าหน้าที่ไม่คุ้นกับภาษาก็เขียนชื่อไปแบบที่ได้ยินจากปาก อาจผิดเพี้ยนจากชื่อจีนดั้งเดิม
เวลาไปต่างประเทศ เรามักเจอชุมชนชาวจีนอยู่ทั่วโลก ที่บราซิลมีความหลากหลายทางเชื้อชาติอยู่พอสมควร แต่กลับไม่ค่อยพบเห็นคนจีน หรือมีไชน่า ทาวน์ แบบที่อื่น ผู้อพยพจากเอเชียในบราซิล ญี่ปุ่นครองแชมป์ครับ.
โต้ บ้านแหลม