ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกเทคโนโลยีที่เข้ามาอำนวยความสะดวกทุกชีวิตในขณะนี้ กลายเป็นช่องทางอำนวยความสะดวกชีวิตวัยเรียนของใครหลายคนไปด้วย กับการใช้ "โซเซียลมีเดีย" และ "ทุนทรัพย์บุพการี" เอื้ออำนวยให้การทำการบ้าน รายงานในรั้วมหาวิทยาลัยและการศึกษาระดับอุดมศึกษาง่ายดายและสะดวกทันใจมากยิ่งขึ้น
โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดจากวัยรุ่นวัยเรียนของไทย ที่ "ไทยรัฐออนไลน์" ได้ลองไปศึกษาและทำเข้าใจพบว่า การใช้ "ตัวช่วย" ทำการบ้าน ทำรายงานที่อาจารย์สั่งนั้น สามารถสร้างรายได้ และเงินหมุนเวียนเชิงธุรกิจจำนวนมาก
ซึ่งพบรายละเอียด "การจ้างทำรายงาน" หรือทำวิจัย งานที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยสั่งในแต่ละรายวิชา มีรายละเอียดแจกแจงเบื้องต้น ซึ่งจากการสังเกตและเก็บข้อมูลพบว่า การรับจ้างและว่าจ้างรูปแบบนี้ มีเงื่อนไขสำคัญคือ "ระยะเวลา" หากเป็นงานด่วนมาก จะยิ่งต้องเพิ่มอัตราค่าจ้างเพิ่มตามกันไป ไปจนถึงบางหน้าเพจของเฟซบุ๊ก (facebook fanpage) มีการโฆษณาว่า เสร็จทันภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากที่สั่งงาน
โดยอัตราค่าบริการขึ้นอยู่กับความยากง่ายและชนิดของงาน ขั้นต้นหากเป็นงานพิมพ์รายงานปกติ อัตราอยู่ที่หน้าละ 10-20 บาท หรือเพิ่มระดับความยากมากขึ้น เป็นการบ้าน "เขียนด้วยลายมือ" คิดหน้าละ 30 บาท
ระดับการศึกษามีผลต่ออัตราค่าจ้าง...
หากเป็นระดับประถมศึกษา ราคาจะอยู่ในอัตราทำรายงานปกติที่กล่าวไปแล้ว แต่เมื่อขยับความยากขององค์ความรู้ประกอบรายงานมากขึ้นแล้วนนั้น อัตราค่าบริการจ้างทำรายงานก็จะสูงขึ้นเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ค่าบริการวิจัยระดับปริญญาตรี สงวนราคาเล่มละ 12,000-15,000 บาท นอกจากนี้ อาจมีการตกลงราคาความยากง่ายตามบทอีกด้วย โดยคิดราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 3,000 ต่อบท
...
นอกจากนี้ "ไทยรัฐออนไลน์" ได้ลองติดต่อเพื่อขอว่าจ้างทำรายงานที่ต้องใช้ทักษะโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพิ่มเติมพบว่า งานที่ต้องใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เฉพาะกลุ่ม อาทิ งานที่ต้องใช้โปรแกรมเกี่ยวกับกราฟิก Adobe Photoshop , Adobe Illiustrator ฯลฯ ราคาเริ่มต้นที่ 100 บาท เมื่อลองส่งตัวอย่างและคำสั่งงานให้แล้วนั้น พบว่า มีการตอบกลับละคิดราคากลับมาถึง 400 บาท สำหรับชิ้นงานที่ไทยรัฐออนไลน์ทดลองส่งไป
ทั้งหมดที่กล่าวมา ถือเป็นตัวอย่างการบริการ และหาประโยชน์เชิงธุรกิจในวงการการเรียน การสั่งงานส่งงานการบ้าน เพื่อเอาคะแนน ที่ได้ผลลัพธ์ท้ายที่สุดเป็นเกรดประดับกระดาษผลการเรียนในท้ายที่สุด
สิ่งที่เกิดขึ้นสามารถสะท้อนทิศทาง ของการเรียนการสอนในวงการการเรียนการสอนของไทย...
พร้อมกันนี้ "ไทยรัฐออนไลน์" ได้สอบถามทรรศนะเพิ่มเติมจาก รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา กล่าวว่า การรับจ้างทำธีซิสในปัจจุบัน ถือว่าทำได้ลำบากแล้ว เพราะว่ามีการพัฒนาโปรแกรมตรวจสอบ ตรวจจับ เรื่องของการจ้างทำธีซีส จะเป็นลักษณะของการไปคัดลอกบางบทของคนอื่นมา แล้วนำข้อมูลใหม่ใส่เข้าไปบ้างเป็นบางที่ ซึ่งวิธีการดังกล่าวในปัจจุบันจับได้แล้ว ไม่มีปัญหาดังกล่าว
เรื่องลอกรายงาน การบ้านในระดับมหาวิทยาลัยนั้น โดยส่วนใหญ่เด็กจะต้องทำเอง เพราะหากไม่ทำจะเป็นปัญหากับทักษะของตัวเด็กเอง ซึ่งปกติเราจะบอกให้เด็กทำด้วยตนเอง จะเป็นการทบทวนความรู้ และได้ประโยชน์กับตัวเด็กเองทั้งสิ้น
ด้านอาจารย์มหาวิทยาลัยย่านปทุมวัน ท่านหนึ่ง (ขอสงวนนาม) เปิดเผยกับไทยรัฐออนไลน์ถึงการลอกรายงาน จ้างทำรายงานมาส่ง ว่า ปัญหาจากการสั่งเปเปอร์ให้เด็กกลับไปทำ ปัจจุบันพบว่า นักเรียนนักศึกษาใช้วิธีคัดลอกข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น ทั้งรูปแบบที่ยกข้อความ เนื้อหามาทั้งหมด พบถึงประมาณร้อยละ 80 ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้เด็กขาดทักษะ ขาดการทบทวนองค์ความรู้เพิ่มเติม
"สั่งรายงาน 1 หัวข้อ เด็กเสิร์ชข้อมูลกูเกิลแล้วใช้วิธีคัดลอก เอามาวาง แล้วส่ง หรือบางคนก็เอาหลายๆ เว็บที่หาเจอมารวมกัน ตัดแต่งเล็กน้อย ซึ่งมันรู้ได้ว่าเด็กไม่ได้ใช้ความคิดหรือวิเคราะห์ประเด็นเนื้อหาเพิ่มเติมจากรายงานที่สั่งไปเลย"
วิธีแก้ปัญหาตรงนี้ จะสั่งทำในห้องมากขึ้น เน้นระดมสมอง พูดคุย แล้วเขียนวิเคราะห์ในห้อง เสร็จเป็นชิ้นๆ ไป หรืออาจต้องมีการทำโปรเจกต์งานใหญ่ส่งปลายภาค อันนั้นก็ขอชิ้นงาน และพรีเซนต์หน้าห้องเพิ่ม เพื่อให้เกิดการทบทวน และคัดกรองก่อนมาพรีเซนต์บ้าง
นางสาวณิชกานติ์ แววคล้ายหงษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขานิเทศศาสตร์ (วารสารศาสตร์) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ตัวแทนนักศึกษา วัยเรียนรุ่นปัจจุบัน ให้ความเห็นว่า ปกติรายงานที่อาจารย์สั่งจะทำเองทั้งหมด ไม่ได้หาจากอินเทอร์เน็ตอย่างเดียวแล้ว แต่จะไปค้นคว้าในห้องสมุดเพิ่ม โดยหาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่กำลังจะทำรายงาน รวบรวมหนังสือหลายๆ เล่มมารวมกัน แล้ววิเคราะห์ออกมาเขียนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนจ้างทำรายงานไม่มีค่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นแบ่งปันกันเองมากกว่า
ส่วนการจ้างทำรายงาน มองว่า ไม่ค่อยเหมาะ เพราะทำให้จบไปไม่ได้คุณภาพ ขาดทักษะ เราเรื่องเรียนอะไรก็ต้องรู้และเข้าใจเรื่องนั้นอย่างถ่องแท้ ทำงานตรงนี้จะช่วยให้ความรู้มากขึ้น
และล่าสุดกับอีกหนึ่งนวัตกรรมของคนไทย ที่เป็น "ตัวช่วย" ใหม่ที่จะมารับมือกับการคัดลอกผลงานวิจัยวิทยานิพนธ์ ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณทางวิชาการและเป็นความผิดร้ายแรงในแวดวงวิชาการนานาชาติเป็นอย่างมาก โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนา "โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์" (เยี่ยมชมและศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ http://www.akarawisut.com) มาตรวจสอบการลอกเลียนงานวรรณกรรม และการเขียนวิทยานิพนธ์ของบัณฑิตจุฬาฯ เมื่อปีการศึกษา 2556 โดยนำวิทยานิพนธ์ของบัณฑิตจุฬาฯ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2548-ถึงปัจจุบัน มาบรรจุเป็นฐานข้อมูลสำหรับตรวจสอบกว่า 1 หมื่นเล่ม และล่าสุดได้จับมือ ทำข้อตกลงร่วมกับ อธิการบดีมหาวิทยาลัย 17 แห่ง ที่จะใช้โปรแกรมและฐานข้อมูลร่วมกัน ในการตรวจสอบคัดกรอง การลอกงานวรรณกรรมในระดับอุดมศึกษาต่อไป โดยมาตรการนี้จะมีการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ของบัณฑิตทุกคนทุกมหาวิทยาลัย เพื่อตรวจสอบการนำข้อความหรือบทความเนื้อหาจากส่วนใดส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์เล่มอื่นมาใช้โดยไม่ได้อ้างอิง โดยโปรแกรมสามารถจะตรวจสอบและแสดงผลถึงส่วนของเนื้อหาที่ผ่านการอ้างอิงแล้ว หรือส่วนที่ผู้วิจัย เจ้าของผลงานคิดค้น ผลิตขึ้นจากการศึกษาด้วยตนเอง ออกมาอย่างชัดเจน
...
ลอกการบ้าน จ้างทำรายงาน เพราะคิดว่า "ไม่เห็นเป็นไร ใครๆ เขาก็ทำกัน" คงไม่ใช่สิ่งที่จะปล่อยปละละเลยอีก และมองข้ามอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องต้องตระหนักและร่วมมือกันแก้ไข เพราะคุณค่าของการทำงานไม่ได้อยู่ที่แค่ผลลัพธ์ที่ทำให้หายเหนื่อย ระยะการเดินทางในเนื้อหา การทุ่มเทแรงกายแรงใจ แรงสมอง เพื่อผลิตผลงานออกมานั่น คือบททดสอบและเป็นครูที่มีค่าแก่การเติบโตและเรียนรู้จำลองการทำงานในรั้วมหาวิทยาลัยของทุกคนได้เช่นกัน พร้อมเปิดใจ เตรียมสมอง สองมือ ลงมือทำงานทุกชิ้นด้วยตัวเอง และสร้างคุณค่าให้ตัวเองหรือยัง?.