ปัจจุบันนานาอารยประเทศต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาการขนส่งด้วยระบบราง เพราะเป็นการขนส่งที่ปลอดภัย เข้าถึงเป้าหมาย และช่วยพัฒนาเมืองได้มากที่สุด แต่ระบบรางของไทย โดยเฉพาะการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ดำเนินการกิจการมากว่า 100 ปี ยังล้าหลังมาก

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้จัดเสวนาเสนอแนวคิด “ยกเครื่องเรื่องระบบราง กับประเทศไทยสู่ยุคปฏิรูป” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรางของไทยมาสะท้อนปัญหา แนวคิด เพื่อหาทางออกมุ่งสู่การปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรมหลากหลายแง่มุม

----------------------------

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายก วสท. กล่าวว่า รถไฟไทยถูกละเลยมานาน ปัจจุบันรถไฟจากกรุงเทพฯไปอยุธยา ใช้เวลาเดินทางถึง 2 ชม. เพราะวิ่งด้วยความเร็วแค่ 70 กม./ชม. ทั้งๆที่ควรจะวิ่งได้เร็วกว่านี้ โดยพัฒนาจากระบบรถไฟรางเดี่ยว เป็นรางคู่ เป็นรถไฟฟ้า และเป็นรถไฟความเร็วสูง ซึ่งรถไฟความเร็วสูงศึกษาเตรียมการไว้ก่อนยังไม่จำเป็นต้องทำตอนนี้ก็ได้ ถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องยกเครื่องระบบราง

...

จุดเริ่มต้นการพัฒนาโครงการ ไม่อยากให้คิดเรื่องเงิน ดูจากโครงการรถไฟรางคู่ 4,000 กม. อนุมัติงบเรียบร้อยแต่ยังไม่ได้เริ่ม มันมีปัจจัยอื่นที่ต้องดูควบคู่ ได้แก่ 1.คน ขณะนี้หน่วยงานเริ่มขาดแคลนและขาดการเรียนรู้เพิ่มเติม 2.โครงสร้างการบริหารงาน ต้องปรับปรุงใหม่โดยเน้นบริหารจัดการแบบภาคเอกชน และ 3.เงิน ไทยไม่ได้ขาดเงิน ภาคเอกชนพร้อมลงทุน ทั้ง 3 สิ่งคือปัจจัยสำคัญ ถ้าขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดโครงการไม่เกิดแน่นอน

นายนคร จันทศร ที่ปรึกษาผู้อำนวยการโครงการพัฒนาขนส่งระบบราง สวทช. ระบุว่า นโยบายการขนส่งบ้านเราเน้นเรื่องการทำกำไร แต่ระบบเดียวทำกำไรไม่ได้ ทุกระบบจะต้องมีการเชื่อมต่อจึงจะทำได้ ขณะนี้ไทยมีปัญหาระบบขนส่ง พิจารณาจากต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ พบว่า 15.2% ของ GDP เป็นค่าบริการ 8% ค่าขนส่ง 7.2% มีผู้เสียชีวิตอันดับ 5 ของโลก การขนส่งใช้พลังงาน 37% ใช้ทรัพยากรที่ดินสูง การจราจรติดขัด ด้วยเหตุนี้รัฐจึงมีแนวคิดย้ายการขนส่งมาอยู่บนรางมากขึ้น ขณะที่ รฟท. มีระบบรางทั้งหมดประมาณ 4,000 กม.เท่านั้น รางเดี่ยวประมาณ 93% รางคู่ประมาณ 6%

“ตั้งแต่ปี 2494 ไทยกู้เวิลด์แบงก์เพื่อขยายเส้นทางรถไฟ แต่เน้นเรื่องความคุ้มค่าการลงทุนมากจนเกินไป ทำให้จากวันนั้นจนถึงปัจจุบัน กว่า 60 ปี จึงสร้างทางรถไฟเพิ่มไม่กี่สาย ไม่สมบูรณ์และขาดการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยยกปัญหาขนาดของรางมาเป็นเงื่อนไข แต่ความจริงแล้วเส้นทางรถไฟในอาเซียนต่างกันก็จริง แต่ส่วนใหญ่จะขนาดเดียวกัน เช่น ไทย มาเลเซีย ลาว กัมพูชา พม่า ขนาด 1 เมตร ยกเว้นเวียดนาม 1.435 เมตร อินโดนีเซีย 1.067 เมตร”

นายรัฐภูมิ ปริชาติปรีชา ผอ.สถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมถนนแบบระบบราง มหาวิทยาลัยนเรศวร บอกว่า ไทยมีปัญหาด้านการใช้พลังงาน จากข้อมูลมีประชากรน้อยกว่าอินโดนีเซีย 4 เท่า แต่ใช้พลังงานใกล้เคียงกัน ปี 2013 ได้รับโหวตมีปัญหารถติดอันดับ 1 ของโลก มีรถจดทะเบียน 14 ล้านคัน มีทางหลวงทั่วประเทศเพียง 100,000 กม. แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตกว่า 13,000 ราย อุบัติเหตุทางถนนเกิดสูญเสียกว่า 200,000 ล้านบาท 90% เป็นการขนส่งทางถนน การเสื่อมสภาพของถนนและสะพานเกิดจากการบรรทุกน้ำหนักเกิน ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง 3-4 หมื่นล้านบาท/ปี

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบรางจะต้องแก้กฎหมายเวนคืนที่ดินเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี และการพัฒนาจะไม่ทำเฉพาะการขนส่งเท่านั้น จะต้องจัดสรรพื้นที่เพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อให้การเชื่อมต่อทุกโหมด เช่น การเดินทางจักรยาน รถเมล์ จอดแล้วจร และที่จอดรถดำเนินการควบคู่กันไป โดยยึดถือประโยชน์ของชุมชนเป็นหลัก โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ปี 2557-2558 เร่งปฏิรูปกฎหมายเวนคืน กฎหมายร่วมทุน ปี 2558-2563 เร่งรัดโครงการก่อสร้างเส้นทางตามแผนแม่บท ตั้งกรมระบบรางกำกับดูแลโดยตรง ปี 2563-2575 ดำเนินการโครงการส่วนต่อขยายตามแผนแม่บท.