กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าขึ้นมาทันที เมื่อการออกมาแซงชั่นไทย ของกลุ่มสหภาพยุโรป (EU.) ไม่ทันหาย รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ออกมากดดัน ต่อคณะ คสช. แบบไม่เห็นเยื่อใย หรือสัมพันธภาพที่มีกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะกรณี การตัดงบความช่วยเหลือทางทหาร และการระงับการฝึกร่วมผสมภายใต้รหัส "คอบร้าโกลด์" ที่มีกันมาอย่างยาวนาน พร้อมเรียกร้องให้กองทัพไทยรีบคืนอำนาจ นำไปสู่การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย...
หลังเข้าควบคุมอำนาจและบริหารประเทศ ได้เพียงแค่เดือนเดียว ดูเหมือนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะได้เสียงตอบรับจากคนในประเทศท่วมท้น ทุกโพลยังหนุนให้ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. นั่งเก้าอี้ "นายกรัฐมนตรี" คนที่ 28 อีกด้วย เพราะด้วยผลงานการจัดระเบียบ และคืนความสุขให้ประชาชนอย่างทั่วถึง แบบประชานิยม จน คสช.ไร้เสียงตำหนิ ติติง แถมการเข้ามายังสลายสีเสื้อ ไร้กลุ่มการเมืองใดออกมาต่อต้าน หรือชุมนุม เพราะการบังคับเอาจริงด้วยกฎอัยการศึก ที่ลากเอา "ศาลทหาร" มาเล่นงาน
ขณะที่เดียวกัน คสช.ก็ต้องประสบกับแรงกดดันจากกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ออกแถลงการณ์ประณามการรัฐประหารและเรียกร้องให้กองทัพไทยคืนอำนาจการปกครองจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด และการต่อต้านกดดันอย่างหนักจากสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งออสเตรเลีย ก็แอนตี้การเข้าคุมอำนาจประเทศของทหาร ในนามคณะ คสช. ที่มองมีแววว่า คสช.จะลากเกมยาว ในการจัดระเบียบ ปฏิรูป ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง คืนประชาธิปไตย
ล่าสุด นายสกอต มาร์เซล เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาขู่ถึงเรื่องความสัมพันธ์ อันดีของทั้งสองประเทศ จะต้องลดระดับลง โดยขู่ว่าสหรัฐฯพร้อมที่จะตัดความช่วยเหลือด้านความมั่นคงแก่ไทยเพิ่มอีก 4.7 ล้านดอลลาร์ (ราว 152 ล้านบาท) หรือเกือบเท่ากับครึ่งหนึ่งของเงินช่วยเหลือประจำปี ปีละ 10.5 ล้านดอลลาร์ (ราว 340 ล้านบาท) ทั้งนี้ ความช่วยเหลือที่ถูกตัดนี้ เป็นส่วนที่เพิ่มเติมจากจำนวน 3.5 ล้านดอลลาร์ (ราว 113 ล้านบาท) ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯประกาศระงับอย่างรวดเร็วภายใน 1 วันภายหลังเกิดการก่อรัฐประหาร 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา
...
โดยยื่นข้อเสนอให้ คสช.เร่งคืนประชาธิปไตยให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว โดยเฉพาะการฝึกร่วมทางทหารภายใต้รหัส "คอบร้าโกลด์" ที่ได้ดำเนินการฝึกร่วมกันมาอย่างยาวนานถึง 33 ปี และหากทางคณะทหารไทย ในนาม คสช.ไม่ยอมปฏิบัติตามก็อาจจะย้ายการฝึกคอบร้าโกลด์ ไปประเทศอื่น โดยมีจุดหมายที่เมืองดาร์วิน ของออสเตรเลีย พร้อมการระงับเพิ่มเติม รวมถึงโครงการฝึกอาวุธปืนของตำรวจไทยและการศึกษาดูงานในสหรัฐฯ สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงของไทยด้วย
สำหรับการฝึกคอบร้าโกลด์ เดิมพัฒนามาจากการฝึกร่วมระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ พ.ศ.2499 โดยเริ่มจากการฝึกผสมยกพลขึ้นบกระหว่างกองทัพเรือไทย กับกองทัพเรือและหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา ต่อมาในปี 2525 ได้เริ่มการฝึกร่วมและฝึกผสมภายใต้รหัส "คอบร้าโกลด์" (Cobra Gold - CG) เป็นครั้งแรก มีการเพิ่มการฝึกทั้งทางเรือ ทางอากาศ และยกพลขึ้นบก โดยกำหนดรหัสว่า "คอบร้าโกลด์ 82" และฝึกต่อเนื่องมาทุกปี
โดยตั้งแต่ภายหลังสงครามเย็น นอกจากการฝึกปฏิบัติการทางทหารแล้ว ยังมีการเพิ่มรูปแบบการฝึกภายใต้กรอบของสหประชาชาติเข้าไว้ด้วย เช่น การรักษาสันติภาพ การต่อต้านการก่อการร้าย การบรรเทาภัยพิบัติ มีการขยายขอบเขตการฝึกจากการฝึกแบบทวิภาคีเป็นการฝึกเป็นพหุภาคี ให้ประเทศอื่นๆ เข้าร่วม นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ประเทศที่สนใจจัดผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกได้ โดยปัจจุบันการฝึกคอบร้าโกลด์ถือได้ว่าเป็นการฝึกร่วมและผสมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ถือเป็นการฝึกยุทธวิธีทางทหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ด้วยความร่วมมือจาก "กองทัพไทย" และ กองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นแปซิฟิก ที่จับมือร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี ผ่านการฝึกมาแล้ว 33 ครั้ง
"คอบร้าโกลด์" มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคง การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร รวมทั้งเตรียมความพร้อมของกองทัพไทย ในการจัดกำลังไปปฏิบัติภารกิจภายใต้กรอบของสหประชาชาติ โดยแต่เดิมมีการฝึกเพียง 2 ชาติ แต่ได้พัฒนาการมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีประเทศที่เข้ารับการฝึกร่วมถึง 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี และมาเลเซีย
โดยมีสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ได้จัดกำลังร่วมฝึก "คอบร้าโกลด์ 14" เป็นครั้งแรก ที่ได้จบไปหมาดๆ เมื่อกุมภาพันธ์ 57 ที่ผ่านมา มีประเทศที่ส่งนายทหารเข้าสังเกตการณ์ (Combined Observer Liaison Team : COLT) รวม 11 ประเทศ ประกอบด้วย เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม จีน แอฟริกาใต้ นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ยูเครน รัสเซีย ปากีสถาน และสหราชอาณาจักร
รวมทั้งนายทหารฝ่ายเสนาธิการผสมนานาชาติ (Multi National Augmentation Team : MPAT) จำนวน 10 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี บรูไน บังกลาเทศ อินเดีย เนปาล มองโกเลีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น
สำหรับไฮไลต์ "คอบร้าโกลด์" คือการฝึกบังคับบัญชากำลังผสมนานาชาติมาเข้าปฏิบัติการเพื่อให้เกิดสันติภาพในประเทศ ที่เกิดความขัดแย้ง ภายใต้กรอบสหประชาชาติ การฝึกปฏิบัติการทางยุทธวิธี ภาคสนาม แบบพหุภาคี อาทิ การฝึกโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก (Amphibious Assault Demonstration) ทำการฝึกยกพลขึ้นบก ณ หาดยาว อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี, การฝึกอพยพพลเรือนออกนอกพื้นที่ขัดแย้ง, การฝึก ใช้กำลังทางอากาศขนาดใหญ่ การฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง การฝึกกำลังทางอากาศ โดยมียอดกำลังพลในการฝึกรวมทั้งสิ้นประมาณ 8,239 นาย
แม้ล่าสุด นอกจากจะมีการยกเลิกความตกลงระดับสูง การฝึกทางทหาร และการฝึกอบรมกับทหารและตำรวจของไทย อย่างเช่นในความร่วมมือกับกระทรวงกลาโหม มีการยกเลิกการฝึกกองทัพเรือรหัส "กะรัต" (Cooperation Afloat Readiness and Training - CARAT) ซึ่งมีกำหนดการฝึกในช่วงเดียวกับที่เกิดการรัฐประหาร โดยได้ย้ายไปฝึกที่ประเทศมาเลเซีย แต่ในส่วนกองทัพไทยยังคงเข้าร่วมการฝึก นอกจากนี้มีบังกลาเทศ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ติมอร์
นอกจากนี้มี จะการยกเลิกแผนการฝึก "หนุมานการ์เดี้ยน" (Hanuman Guardian) ด้วย ทำให้เวลานี้ดูเหมือน กองทัพสหรัฐฯ จะมีแผนที่จะตัดความสัมพันธ์กับกองทัพไทยในทุกด้าน เพราะนอกจากเรื่องการฝึก ทุนการศึกษาทางทหาร หรือแม้แต่ทุนความช่วยเหลือการดูงาน ความช่วยเหลือกองทัพ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นต้นทุนมหาศาลที่เราได้รับความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงงบประมาณนอกระบบก็จะต้องถูกตัดทอนลงไป ตามวิถีทางของประเทศที่มีเสรีประชาธิปไตย ไม่ต้องการเห็นคณะรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ หรือรัฐประหาร ที่จะรังเกียจนั่นเอง
หมากนี้อาจมองได้หลายมุม หรือการประกาศเสียงดังของสหรัฐฯ อาจจะเป็นกลเกมการเมืองภายในสภาครองเกส ของสหรัฐฯ ด้วยกัน ที่จะต้องแสดงบทละครให้ชาวโลก ในฐานะประเทศต้นแบบประชาธิปไตยให้สังคมโลกได้เห็น ตามฉากหน้า แต่ถึงกระนั้น ผู้นำทางทหารหลายคน ก็เชื่อว่า ยังไงสหรัฐฯ ยังต้องพึ่งกองทัพไทย ประเทศไทย ในภูมิภาคนี้อยู่อีกหลายด้าน หลายเรื่อง ไม่มีทางที่จะตัดทอนสัมพันธ์ทางทหารกับกองทัพไทยลงได้ เพราะต่างรู้ดีกันอยู่ เฉกเช่น "ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่"
เพราะหากตัดงบประมาณจำนวนมหาศาลลงไป กองทัพสหรัฐฯ ก็เหมือนไม่มีประตูออก ที่บางครั้งการเจียดจ่ายงบของส่วนนี้ ส่วนหนึ่งถูกโยงลงไปในภารกิจลับ ที่ยังต้องดำเนินต่อไป โดยเฉพาะด้านการข่าว ภารกิจลับสุดยอด ที่ทางกองทัพสหรัฐฯ เองก็รู้ดี และเข้าใจบทบาทประเทศไทยว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะย้ายการฝึกไปสู่ภายใต้รหัสคอบร้าโกลด์ไปประเทศออสเตรเลีย ที่จะต้องนำมาซึ่งความยุ่งยากหลายประการ
เพราะยังไง "กองทัพไทย" ก็คือ กองทัพหลักในเป้าหมายที่พร้อมจะให้สหรัฐฯ เดินนำหน้า และกองทัพสหรัฐฯ เองก็ไม่ต้องการจะเฉลยปริศนาที่คำรอคอยอยู่ออกมาให้ชาวโลกได้รับทราบ ดังนั้น กองทัพไทย ดินแดนสนามซ้อมของประเทศไทย ยังเอื้ออำนวย และตรงตามความต้องการที่จะมาใช้เป็นฐานระยะยาวในอาเซียนของสหรัฐฯ ที่ต้องดำเนินต่อไป
เพื่อนรักอย่างประเทศไทย ถือเป็นมิตรในภูมิภาค ที่จะร่วมซ้อมรบเป็นหลักกับสหรัฐฯ ในเวลานี้เท่านั้น และขอบเขตของประเทศแถบอาเซียน ประเทศไทยถือเป็นเบอร์ 1 ของโลกที่ทุกกองทัพปรารถนาจะมาเยือน แต่กระนั้นก็มีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีถนนไปสู่ประชาธิปไตย ที่ถูกต้องตามหลักสากลนั่นเอง.