เปิดใจ "แสงเดือน ชัยเลิศ" ปธ.มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม เจ้าของเสียงเพลงกล่อมช้างจนหลับ และเคยได้รับรางวัล "ฮีโร่ ออฟ เอเชีย" จากนิตยสารไทม์ เผยมีแรงบันดาลใจ เพราะอยากเห็นมนุษย์ปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมโลกดีกว่านี้
วันที่ 17 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากคลิปวิดีโอผู้หญิงไทยร้องเพลงกล่อมช้างหลับได้กระหึ่มไปทั่วโลกในเวลานี้ จนมีผู้เข้าชมคลิปดังกล่าวกว่าล้านคนแล้ว ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้ประสานงานไปยัง นางแสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม อยู่ที่ศูนย์บริบาลช้างแม่แตง ต.กึดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เจ้าของเสียงเพลงกล่อมช้าง ซึ่งเคยได้รับรางวัล "ฮีโร่ ออฟ เอเชีย" จากนิตยสารไทม์ และรางวัลนักอนุรักษ์สัตว์จากต่างประเทศจำนวนมาก เพื่อสอบถามแรงบันดาลใจในการร้องเพลงกล่อมช้าง จนฮือฮาไปทั่วโลก
นางแสงเดือน เล่าว่า แรงบันดาลใจในการร้องเพลงกล่อมช้างของตน เริ่มต้นมาจากการได้ช่วยเหลือช้าง มาดูแลรักษา บริบาลในศูนย์และเมื่อรับช้างเข้ามาจะเฝ้าติดตาม พฤติกรรมของช้าง และได้พบว่าช้างเกือบ 80% ที่ช่วยเข้ามามีปัญหาเกี่ยวกับสภาพทางจิตใจ หลายเชือกไม่ได้บาดเจ็บเฉพาะร่างกายจากการถูกทารุณกรรม แต่บาดแผลลึกมันอยู่ในจิตใจ บางเชือกมีชีวิตเหมือนซากช้าง คือมีแต่ร่างกายแต่หัวใจและดวงตาที่ดูว่างเปล่า วันหนึ่งได้มีโอกาสช่วยเหลือช้างวัยรุ่นมาจากละครเร่ ช้างเชือกนี้นิสัยดุร้ายเกเร ใครเข้าใกล้ไม่ได้ สวิงงวงใส่ จับก้อนหินขว้าง ตนจึงพยายามเข้าไปคลุกคลีโดยการเข้าไปนั่งร่วมอยู่ในโขลง ร้องเพลงให้ฟัง ช่วงแรกๆ ก็โดนก้อนหินขว้างหลายครั้ง แต่ตนไม่ท้อ และพยายาม เปลี่ยนเพลงร้องหลายเพลง ทั้งเพลงไทย เพลงต่างประเทศที่เป็นเพลงกล่อมเด็ก แต่ในที่สุด พอร้องเพลง "ใต้ร่มมลุลี" รู้สึกว่าน้องช้างหยุดฟังและเริ่มเดินเข้ามาหา ครั้งแรกก็หวั่นๆ เหมือนกัน เพราะรู้กิตติศัพท์จากควาญช้างที่เคยเป็นเจ้าของคนก่อนเล่าให้ฟัง แต่พอน้องช้างได้ฟังเพลง เขาเริ่มอ่อนโยนลงและเดินเข้ามายืนร่วมกับโขลงและหลับตา ไม่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว
...
"ทุกๆ เย็นเมื่อช้างมารวมเชือกกันในโขลง ก็จะใช้เวลานั้นร้องเพลงให้ช้างฟัง ตอนแรกๆ คนที่เห็นอาจจะคิดว่าบ้า ประหลาด เสียงค่อนแคะมากมาย แต่ไม่มีเสียงไหนมาทำลายในสิ่งที่เชื่อมั่นได้ เพราะสิ่งหนึ่งที่เห็น คือความเปลี่ยนแปลงในระหว่างที่นั่งร้องเพลงให้ช้างฟัง สิ่งที่คนอื่นไม่ได้มาสัมผัสคงไม่รู้ จึงมุ่งมั่นร้องเพลงให้ฟัง จากช้างดุ กลายเป็นช้างที่มีแต่ความอ่อนโยน เชื่อว่าการพูดจาอ่อนโยน และการร้องเพลงให้ฟังไม่เฉพาะคนเท่านั้นที่ชอบ ช้างหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็ชอบเหมือนกัน" นางแสงเดือน กล่าวและว่า ตนเคยได้ติดตามผู้ชายคนหนึ่งที่อิตาลีร้องเพลงให้ต้นไม้ที่บ้านฟัง และดูความแตกต่างจากต้นไม้ต้นอื่น ครั้งแรกตนไม่เชื่อแต่พอเห็นความแตกต่างแล้วตนทึ่งมาก อยากให้ทุกคนได้รับรู้ว่า ความรักและการเอื้ออาทรต่อผู้อื่นมันเป็นการแสดงออกที่แสนถูก แต่มันเป็นมูลค่ามหาศาลจากคนที่ได้รับความรักจากเรา
นางแสงเดือน กล่าวต่อว่า ตนร้องเพลงให้ช้างฟังมากว่าสิบปีแล้ว อาสาสมัคร พนักงานที่ศูนย์บริบาลต่างทราบดี บางครั้งก็ร้องเพลงให้ช้างฟังกลางทุ่งหญ้า พอเริ่มร้องพวกเขาจะเดินเข้ามาหา บางเชือกมายืนคร่อมหัวตน เอาตนอยู่ใต้ท้องโดยมีช้างเชือกอื่นๆยืนล้อมรอบฟังเพลง และนอนหลับไปด้วยกัน หลายเชือกนอนหลับ หลายเชือกยืนหลับ กรนลั่นสนั่นทุ่งทั้งที่เป็นเวลากลางวัน มันเป็นช่วงที่สงบสุขทั้งคนทั้งช้าง มีสื่อนำไปออกในสารคดี และหนังสือต่างประเทศมากมาย มีสื่อหลายคนเคยถามเหมือนกันว่า ไม่กลัวหรือที่มานั่งอยู่ในท่ามกลางโขลงช้าง ตนจึงตอบไปว่า นั่งอยู่ท่ามกลางโขลงช้างที่เรารักเขาและพวกเขาก็รู้ว่าเรารักเขา มันรู้สึกปลอดภัยมากกว่านั่งอยู่ท่ามกลางคนที่บอกว่าเป็นเพื่อนเรา แต่ไม่ใช่เพื่อนแท้
"มีหลายสื่อถามว่าทำไมเลือกใช้เพลงใต้ร่มมลุลีร้องให้ช้างฟัง ที่จริงเนื้อร้องของเพลงไม่ได้เกี่ยวอะไรเลย ที่เลือกเพลงใต้ร่มมลุลี แต่เพราะแม่ชอบเพลงนี้มาก ได้ยินแม่ร้องประจำตอนเด็ก และมักจะร้องเพลงนี้เมื่อคิดถึงแม่ วันนี้แม่ไม่ได้อยู่บนโลกนี้แล้วทุกครั้งที่ร้องเพลงนี้แล้วรู้สึกมีแม่อยู่ใกล้ๆ และทำนองเพลงมันฟังสบายดี น้องช้างโปรดเพลงนี้มากกว่าเพลงอื่นๆ ฉันคงร้องเพลงให้ช้างฟังอย่างนี้ตลอดไป ถึงแม้จะมีคนค่อนแคะว่าบ้าบ้าง ประสาทบ้าง แต่ฉันรู้ดีว่าความมุ่งมั่นตั้งใจทำเพื่อช้าง ช้างเองมีความรู้สึก สุข ทุกข์ เศร้า อยากเห็นมนุษย์ปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมโลกให้ดีกว่านี้ อย่ามองเพียงเพราะเขาเป็นสัตว์แล้วคิดว่าเขาต่ำต้อยกว่า อยากให้มนุษย์พังกำแพงของอคติในการคิดว่าตนเองดีกว่าผู้อื่นออกไป แล้ววันหนึ่งพวกเราจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทุกวันนี้ที่มีปัญหาเรื่องการแตกแยกและไร้ความสุขในสังคม เป็นเพราะการแบ่งชั้นทางสังคม การแบ่งศักดิ์ศรีทางชนชั้น ซึ่งมันไม่สมควรเกิดขึ้นกับมนุษย์ในการอยู่ร่วมกัน ในทศวรรษนี้" ปธ.มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์บริบาลช้างแม่แตงของ นางแสงเดือน ชัยเลิศ ได้นำช้างที่พิการ ตาบอด ช้างติดยาบ้า ช้างชราใกล้ตาย ทั้งมีผู้นำมาบริจาคและไปนำมาจากหมู่บ้านต่างๆ นำมาเลี้ยงไว้ โดยสถานที่แห่งนี้ห้ามมีการใช้โซ่และตะขออย่างเด็ดขาดให้ช้างอยู่ตามธรรมชาติในบั้นปลายชีวิต จนมีการขยายพันธุ์ขึ้นจำนวนมาก และเป็นช้างแสนรู้ที่อยู่กับมนุษย์ด้วยความรัก จนเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาชมสถานเลี้ยงช้างแห่งนี้ จนชื่อเสียงความเมตตาต่อช้างและสัตว์หลายชนิดของนางแสงเดือน ชัยเลิศ เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก มีดาราดังจากฮอลลีวูดเดินทางมาเยี่ยมชมและอาสาเลี้ยงช้างจำนวนหลายคน และประทับใจที่เห็นนางแสงเดือนอยู่กับช้างทั้งวันและคืนด้วยความรักและเอื้ออาทรต่อกัน.