ปัจจุบันการศึกษาไทยค่อนข้างมีความหลากหลาย
ทั้งในระบบ นอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาสายอาชีพ หรือแม้แต่การศึกษาทางเลือกที่ครอบครัวและผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ด้วยตัวเอง เป็นต้น
ขณะที่ภาครัฐเองก็ทุ่มเม็ดเงินในแต่ละปีจำนวนมหาศาลเพื่อสนับสนุนการศึกษามากกว่าประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย หรือแม้แต่ประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
แต่น่าแปลกที่คุณภาพการศึกษาไทยกลับย่ำแย่ไม่คุ้มกับงบประมาณที่ลงทุนไปแม้แต่น้อย
เพราะสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้น ยิ่งนับวันยิ่งเหมือนจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทั้งปัญหาเด็กอ่านหนังสือไม่ออก เด็กไทยขาดวุฒิภาวะในการตัดสินใจ ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมเรื่อยไปจนถึงเด็กจบระดับอุดมศึกษาทำงานไม่เป็น ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังพบ ปัญหาเด็กออกกลางคัน และผู้ขาดโอกาสเรียนในระบบอีกเป็นจำนวนมาก
“แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีการจัดการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลาย แต่ในความเป็นจริงแล้วประชากรไทยอายุระหว่าง 13–80 ปี ยังขาดโอกาสทางการเรียนรู้มากถึงร้อยละ 35 ของประชากรประเทศ ในขณะที่ประชากรวัยแรงงาน อายุ 15–59 ปี ส่วนใหญ่ยังมีการศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา หรือต่ำกว่า คุณภาพคนโดยรวมยังไม่สอดคล้องกับทิศทางและความต้องการของประเทศ การนำองค์ความรู้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์และผลิตภาพของแรงงานจึงอยู่ในระดับต่ำ ที่สำคัญระบบการศึกษาขาดการเชื่อมโยงกับชีวิตจริงยิ่งทำให้ประชากรในกลุ่มนี้ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงการเรียน” นายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. สะท้อนภาพความเป็นจริงของผลผลิตจากการจัดการศึกษาไทยในปัจจุบัน
...
จากเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ โครงการเทียบระดับการศึกษาในระดับสูงสุดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากสำนักงาน กศน.ต้องเร่งยกระดับการศึกษาประชาชนให้จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่พลาดโอกาสทางการศึกษาได้มีโอกาสเรียนอีกครั้งอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันผ่านระบบการศึกษารูปแบบใหม่ โดยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่บูรณาการระหว่างสมรรถนะด้านอาชีพที่ผู้เรียนสร้างสมประสบการณ์ในการประกอบอาชีพที่ทำอยู่ในชีวิตประจำวันกับสาระการเรียนรู้และองค์ความรู้ใหม่ตามแนวคิดของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
ทั้งจะมีการเทียบโอนความรู้ และกระบวนการเรียนรู้ซึ่งผ่านการประเมินที่มีมาตรฐานทางวิชาการจาก สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ซึ่งผู้เรียนและสังคมมั่นใจได้ว่าเมื่อเรียนครบตามหลักสูตรแล้ว ผู้เรียนจะได้รับวุฒิ ม.ปลายที่มีศักดิ์และสิทธิ์เท่าเทียมกับผู้ที่สำเร็จการศึกษา ม.ปลายทั้งในและนอกระบบโรงเรียน
ซึ่งสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพมาตรฐานของผู้ที่เข้ามาเรียนในโครงการเทียบระดับการศึกษาฯ ได้อย่างชัดเจนก็คือ จากข้อมูลมีผู้สมัครเข้าเรียนในปีงบประมาณ 2556 เฉียดแสนคน แต่มีผู้ที่สำเร็จการศึกษาออกไปเพียง 7,301 คน หรือคิดเป็นตัวเลขไม่ถึงร้อยละ 10
จากการที่ ทีมข่าวการศึกษา ได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปยังจังหวัดต่างๆ ร่วมกับคณะเพื่อติดตามการดำเนินโครงการนี้ รวมถึงการได้พูดคุยกับนักศึกษา กศน.ทำให้พบว่าผู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษาในบ้านเรายังมีอีกมาก และโครงการเทียบระดับการศึกษาฯก็สามารถสนองตอบต่อความต้องการของผู้ที่พลาดโอกาสในการเรียนในระบบได้เป็นอย่างดี
นายสักการะ บุญเกิด อายุ 42 ปี นักศึกษา กศน.อำเภอตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งสำเร็จการศึกษาชั้น ม.ปลาย โครงการเทียบระดับการศึกษาฯ บอกว่า “เคยเรียนชั้น ม.3 ในระบบแต่เรียนไม่จบ เพราะฐานะทางบ้านค่อนข้างขัดสน จึงไปเรียนหลักสูตรระยะสั้นวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเรียนจบจึงมาเปิดร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ แต่ก็รู้สึกคาใจว่าทำไมตัวเองเรียนไม่จบ ม.3 เมื่อเห็น กศน.ตะกั่วป่าเปิดสอนโครงการดังกล่าว ผมจึงไม่รอช้าที่จะไปสมัครเรียนในรุ่นแรกทันที ดีใจมากที่เรียนจบทั้ง ม.3 และ ม.6 วิชาที่เรียนก็หลากหลายเป็นประโยชน์นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ถ้าถามว่าเรียนยากหรือไม่ผมก็ต้องบอกว่ายาก เพื่อนๆหลายคนคิดว่าเข้ามาเรียนกับ กศน.แล้วคงจบง่ายๆ แต่พอเอาเข้าจริงๆเรียนเข้มและยาก ทำให้รุ่นผมที่สมัครเรียนหลายร้อยคนจบไม่ถึง 10 คน แต่ก็ถือว่าเป็นจุดแข็งของโครงการฯ เพราะหากให้จบกันง่ายๆ เหมือนการเอามาแจก ไม่มีคุณภาพก็ไม่รู้จะมาเรียนไปทำไม”
ขณะที่นักศึกษาขาพิการแต่หัวใจไม่พิการที่จะใฝ่เรียนรู้ นางจิรพันธ์ แข็งแรง อายุ 43 ปี นักศึกษา กศน. อำเภอเมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร เล่าว่า “ถึงขาจะพิการแต่ก็ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แม้จะมีภาระหน้าที่ค่อนข้างหนัก อีกทั้ง ดิฉันได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกชมรมคนห่วงใยคนพิการจังหวัดมุกดาหาร ให้เป็นประธานชมรมฯ จึงคิดว่าการจบแค่ชั้น ม.3 จะไปดูแลสมาชิกได้อย่างไร จึงคิดไปเรียนหาความรู้เพิ่มเติม หลังจากที่ทราบว่า กศน.เมืองมุกดาหารเปิดโครงการเทียบระดับการศึกษาฯ จึงตัดสินใจไปสมัครเรียน ปัจจุบันดิฉันมีความรู้จนสามารถเขียนโครงการเพื่อขอทุน ของบประมาณมาสนับสนุนชมรมฯได้แล้ว แม้จะพิการแต่ก็ไม่เคยท้อถอยและไม่คิดว่าความพิการจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียน หลังจากนี้ตั้งใจจะไปเรียนต่อที่วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร ขอขอบคุณ กศน.ที่จัดให้มีโครงการนี้ ไม่เช่นนั้นคนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาอย่างดิฉันก็คงไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนต่อจนจบชั้น ม.ปลาย”
...
แต่แน่นอนในโลกแห่งความเป็นจริงของการทำงานย่อมไม่มีโครงการใดสมบูรณ์แบบเต็มร้อย โดยเฉพาะช่วงระยะการเริ่มต้น เช่นเดียวกับโครงการเทียบระดับการศึกษาฯ ที่เพิ่งเริ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2556 หากเทียบเป็นอายุคนก็เพิ่งแค่ 1 ขวบ ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ย่อมมีหกล้มบ้างเพื่อเรียนรู้ถึงการทรงตัว และพร้อมที่จะก้าวเดิน
ซึ่งเปรียบได้กับจุดบกพร่องของโครงการเทียบระดับการศึกษาฯ ที่ยังคงมีอยู่บ้างทั้งเรื่องอาจารย์ที่ปรึกษา สื่อการเรียนการสอน ข้อสอบที่ใช้ในการประเมินซึ่งถูกมองว่าออกเกินเนื้อหาที่เรียน ซึ่งทาง กศน.เตรียมปรับแก้ในรุ่นต่อไปแล้ว
ทีมการศึกษา มองว่า ในภาพรวมแล้วโครงการนี้ คือการให้โอกาสในการเรียนรู้กับผู้ที่เคยพลาดโอกาส เพื่อให้เขาเหล่านี้สามารถต่อยอดคุณวุฒิการศึกษา และสำเร็จการศึกษาอย่างเต็มภาคภูมิทั้งศักดิ์และสิทธิ์ที่เท่าเทียมกัน
เป็นการติดอาวุธทางปัญญา เพื่อเติมเต็มคุณภาพคนในสังคมอย่างแท้จริง.
ทีมการศึกษา