ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แจง ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็น ปมควบคุมตัว ยันไม่มีการละเมิดสิทธิฯ โดยประชาธิปไตยไทย มีพัฒนาดีขึ้นเป็นลำดับ คาดยูเอ็นจะส่งหนังสือรับรู้ ถึงหัวหน้า คสช.
วันที่ 14 มิ.ย. ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังเข้าพบหารือกับ นางนาวาเนเธ็ม พิลเล ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในค่ำของวันที่ 13 มิ.ย. 57 ที่นครเจนีวา ว่า ได้ชี้แจงเกี่ยวกับข้อกังวลของทางสหประชาชาติ เกี่ยวกับการควบคุมตัวบุคคลและเสรีภาพของประชาชน ว่า ได้พัฒนาไปในทางทีดีขึ้น โดยได้แจ้งกับข้าหลวงใหญ่ว่า ผู้ที่ถูกควบคุมตัวส่วนใหญ่ไม่ได้มีใครถูกควบคุมนานเกิน 7 วัน และปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่จะได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว อีกทั้งการควบคุมตัวก็ไม่ได้เป็นไปในลักษณะของการคุมขังอย่างที่เข้าใจกัน โดยทั่วไป แต่เป็นการเชิญตัวมาพบ เพื่อพูดคุยขอให้ทุกฝ่ายได้สงบลง
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยอีกว่า ได้ชี้แจงกับ นางพิลเล่ ถึงสถานการณ์ล่าสุด ที่ได้มีการยกเลิกเคอร์ฟิวไปแล้ว ทำให้เสรีภาพของประชาชนได้รับการปรับปรุงมากขึ้น ส่วนเสรีภาพด้านอื่นๆ เช่น ของสื่อมวลชนนั้น ปรากฏชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้วว่า สื่อมวลชนไม่ได้ถูกจำกัดเสรีภาพมากนัก และภายหลังจากที่ได้มีการอนุญาตให้เปิดสถานีโทรทัศน์จำนวนหนึ่งแล้ว เสรีภาพสื่อมวลชนโดยทั่วไปก็ดีขึ้น สามารถรายงานข่าวได้อย่างเสรี โดยเฉพาะสื่อมวลชนต่างประเทศนั้น สามารถเดินทางทำข่าวได้ทั่วราชอาณาจักร โดยไม่มีข้อจำกัด
นอกจากนี้ ยังได้ขอให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ติดตามพัฒนาการของสถานการณ์และการดำเนินงานของฝ่ายไทย จะทำให้ได้เห็นพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ
...
นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากที่ตนได้เข้าพบ ชี้แจงทำความเข้าใจในครั้งนี้แล้ว คาดว่า ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนจะได้มีหนังสือ ไปยังประธาน คสช.อีกครั้งหนึ่ง เพื่อแสดงถึงความรับรู้ต่อพัฒนาการของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย โดยการเข้าชี้แจงครั้งนี้ เป็นไปโดยความเข้าใจอันดีระหว่างกัน โดยข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ ยินดีรับฟังข้อมูลจากฝ่ายไทย และการแสดงความกังวลนั้น ก็อยู่ในขอบเขตในเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้มีหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งขาติ (คสช.) แสดงความกังวลต่อสถานการณ์และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และได้มีแถลงการณ์แสดงความกังวล เกี่ยวกับการคุมขังบุคคล ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ และนักกิจกรรมต่างๆ จำนวนถึง 440 คน อีกทั้งยังเรียกร้องให้ทางการไทย เร่งยกเลิกมาตรการใดๆ ที่เป็นการละเมิด หรือจำกัดสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน.