ปลัด ศธ.เผยนโยบาย ศธ.กับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ยังพบเด็กไทยอ่านหนังสือไม่ออก โดยเฉพาะเด็ก ป.3 อ่านไม่ออกกว่า 6 หมื่นคน เร่งปฏิรูปการศึกษาพัฒนาคนยั่งยืน...

ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการแทน รมว.ศธ. บรรยายพิเศษเรื่อง"นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา" โดย 

ดร.สุทธศรี กล่าวว่า ผลการจัดอันดับทางการศึกษาของสถาบันต่างๆ เช่น IMD ในปี 2556 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 51 ส่วนผลการจัดอันดับการศึกษาไทย โดย WEF ในปี 2013-2014 ซึ่งมีประเทศที่เข้าร่วม 148 ประเทศ เช่น การเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา อยู่อันดับที่ 55 คุณภาพของระบบการศึกษา อยู่อันดับที่ 78 คุณภาพการจัดการประถมศึกษา อยู่อันดับที่ 86 การเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา อยู่อันดับที่ 94 และการเข้าเรียนสุทธิระดับประถมศึกษา อยู่อันดับที่ 101 เป็นต้น



ผลการทดสอบการอ่านออกเขียนได้ สพฐ. ของชั้น ป.3 และ ป.6 (ก.ย.2556) จากเขตพื้นที่การศึกษา 80 เขต จากทั้งหมด 183 เขต พบว่า อ่านไม่ได้ ป.3 ร้อยละ 8 (64,000 จาก 800,000 คน) ป.6 ร้อยละ 4 (32,000 จาก 800,000 คน) ระดับดี ป.3 ร้อยละ 56 ป.6 ร้อยละ 60 
งบประมาณการศึกษาต่อนักเรียนในสังกัด ศธ.และมท.1คน (รวมพื้นฐาน-อุดม และนอก ศธ.) เฉลี่ย 35142 บาทต่อคนต่อปี แบ่งสัดส่วนออกเป็น เงินเดือน ค่าจ้างครู 58.78% เครื่องแบบ ตำรา อาหาร นม 10.03% บริหารจัดการ 9.04% พัฒนาการสอน 6.22% อาคาร ครุภัณฑ์ 5.82% กู้ยืม 4.93% อื่นๆ 2.83% และกิจกรรมพัฒนาการเรียนรู้ 2.39%


ดร.สุทธศรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เราจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนอย่างยั่งยืน มีเป้าหมายให้คนไทยเป็นคนดี มีความรู้ สมานฉันท์ มีศักยภาพในการแข่งขัน โดยสามารถสื่อสาร คิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาอย่างมีเหตุมีผล มีคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสาธารณะ มีระเบียบวินัย เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ยึดมั่นในระบอบการปกครอง รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และมีค่านิยม ภูมิใจในความเป็นไทย และสามารถก้าวทันโลก

...

ส่วนกรอบแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ คือปรับแผนงาน/โครงการเร่งด่วนปี 2557 ในระยะ 4 เดือน ได้แก่ ปรับแผนงาน/โครงการปีงบประมาณ 2588 จัดทำแผนปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนอย่างยั่งยืน และจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ 9 แผนงาน/โครงการที่จะเร่งดำเนินการ ปี 2557 ประกอบด้วย โครงการ/กิจกรรมสร้างความเข้าใจ ความรักสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ภูมิใจในความเป็นไทย ผ่านกิจกรรมลูกเสือ ยุวกาชาด กิจกรรมรักษาดินแดน กิจกรรม นักเรียน กศน. ตำบล อาชีวศึกษาเพื่อพัฒนา และปรับปรุงหลักสูตร การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ วิชาหน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และปรับการเรียนการสอนภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ (รวมถึงภาษาอาเซียน) ให้สามารถสื่อสารได้ และยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทุกระดับ/ประเภท ยกระดับโรงเรียนให้มีมาตรฐานสากล อีกทั้งเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษา สร้างภาพลักษณ์ที่ดี การเรียนคู่กับการทำงาน รวมถึงการเร่งผลิตครูสาขาขาดแคลน และครูอาชีวศึกษา และการเยียวยาและช่วยเหลือนักเรียน ครู และผู้บริหาร ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และโครงการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและการพัฒนา มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ


นอกจากนี้ยังมี 6 เรื่องปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนอย่างยั่งยืน ได้แก่ ด้านการปฏิรูปครู : การผลิตและพัฒนา การผลิตครูช่าง เปิดโอกาสให้คนเก่ง คนดี นักเรียนทุนมาเป็นครู ด้านการเพิ่มและกระจายโอกาสอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม : การพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เร่งรัด พ.ร.บ.วิทยาลัยชุมชน ปฏิรูปการบริหารจัดการ : ระบบทรัพยากรเพื่อการศึกษา บริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเอกชน การผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน : การอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาที่ตอบสนองความต้องการพัฒนาประเทศ ปฏิรูปการเรียนรู้ : ปรับหลักสูตรเน้นความเป็นพลเมือง ปรับการเรียนการสอน เร่งรัด พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้ และวางระบบการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา : การจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ.